ชีวิตคือความรื่นรมย์
จากวรรณศิลป์สู่คีตศิลป์
ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ พหูสูตผู้มีคุณูปการต่อวงวิชาการต่างๆ หลายสาขา จนอาจจะเอ่ยถึงเกียรติคุณของท่านไม่ครบถ้วน ผู้เขียนจึงยกเกียรติยศ 2 ประการ องค์กรที่เชื่อถือได้ ได้ประกาศยกย่องไม่นานมานี้ คือ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรมกับนักวิจารณ์เกียรติยศ (จากมูลนิธิหม่อมหลวงบุญเหลือเทพยสุวรรณ) ได้กล่าวเป็นประโยคที่น่าจับใจยิ่งว่า ศิลปะส่องทางให้แก่กันข้าพเจ้านึกถึงประโยคสำคัญของปราชญ์ของชาติผู้นี้เมื่อมาคำนึงว่า เพลงจำนวนไม่น้อยที่มีที่มาจากหนังสือ หรือที่ให้คำเท่ๆ ว่า จากวรรณศิลป์สู่คีตศิลป์ อย่างชุดที่โด่งดังเป็นอมตะ คือเพลงชุดจุฬาตรีคูณ อันมีต้นกำเนิดจากจินตนิยายเรื่องแรกนาม เดียวกันของ พนมเทียน อันเป็นามปากกาที่โด่งดังแทบบดบังตัวจริงของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ปี 2540 นาม ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (ซึ่งปีนี้อยู่ในวัยทอง 80 กะรัต แต่ทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิดอ่านและความทรงจำยังสดใสงดงาม พิสูจน์ได้จากงานเขียนรำลึกอดีตชุด "ก่อนสายพิมพ์จะสูญพันธุ์-อินไซด์ "เพชรพระอุมา-ในนิตยสารขวัญเรือนรายปักษ์ ซึ่งเดินทางไกลมาถึงตอนที่ 66 แล้วในฉบับที่ 979 ปักษ์แรกกันยายน 2555 ซึ่งในฉบับเดียวนี้ มีบทสัมภาษณ์ที่แสดงถึงความเฉียบคมไม่รู้คลายของผู้เขียนนวนิยายขนาดยาว 48 เล่มจบ นามโด่งดังว่า เพชรพระอุมา ด้วย) เพลงชุดจุฬาตรีคูณนี้ นัยว่ามาจากการนำไปจัดทำเป็นละครเพลงของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ (ซึ่งในตอนโน้น น่าจะยังใช้ กรมโฆษณาการ และเมื่อรับงานนอกเวลาราชการใช้ชื่อคณะสุนทราภรณ์) ในความอำนวยการของครูเอื้อ สุนทรสนาน และผู้นิมิตคำร้องอันแสนไพเราะแทบทุกบรรยากาศจากจินตนิยาย ก็คือ คีตกวีคู่บุญของครูเอื้อ สุนทรสนาน คือ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ทั้งเพลง จุฬาตรีคูณ (อันมีวรรคทอง เพราะชนนีข้าวิไล จึงถูกสังเวยเสียในสายชล ด้วยรักเอย...ดารารายเลิศโสภา ข้าไม่นำพา เพราะเกรงว่าจะถูกสังเวย โปรดสาปสรรค์ ขอให้โฉมอันน่าเชย สิ้นสวยเลยไร้ค่า.. ) เพลง เจ้าไม่มีศาล ที่มีว่า โอ้เกิดมา ไอศูรย์ราชาของข้าก็มี แคว้นใดข้าไปทั่วในปฐพี...เที่ยวเร่สัญจรหาดวงสมรนงคราญ ...เจ้าไม่มีศาลขอทานเขากินสิ้นคน ยังมีเพลง ปองใจรัก (พี่คอยน้องคอย ต่างคนต่างคอย แต่บุญเราน้อยหนักหนา) เพลง ใต้ร่มมลุลี และเพลง อ้อมกอดพี่ ซึ่งทุกเพลงยังเป็นที่นิยมถึงวันนี้ เพราะทั้งทำนองไพเราะและเนื้อร้องที่งดงามด้วยภาษากวีที่ลึกซึ้งกินใจ เพลงชุดที่มาจากนิยาย และยังเป็นที่นิยมจนทุกวันนี้ แต่ไม่ได้ดัดแปลง หรือแต่งเนื้อร้องใหม่ หากมาจากบทประพันธ์โดยตรงก็มีมาก เช่น จากพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า รัขกาลที่ 6 มีเพลงที่อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ที่ลึกซึ้งกินใจมาโดยตรง คือ เพลง ดวงใจ ที่ว่า โอ้ว่าดวงใจอยู่ไกลลิบ เหลือจะหยิบมาชมภิรมย์สันต์ เหมือนดวงดาววาววาวอยู่ไกลกัน ชิดสวรรค์สุดเอื้อมมาเชยชม เสียแรงชื่ออุษานารี ไยไม่มีเทวามาอุ้มสม (อันชวนให้หันไปอ่านเรื่องพระอุณรุทของพระสุนทรโวหารหรือสุนทรภู่) และอีกเพลงหนึ่ง ชื่อ สาส์นรัก ที่มีวรรคทองว่า เห็นแก้วแวววับที่จับจิต ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้เต็มที่ เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี อันมณีหรือจะโลดไปถึงมือ อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ หรือแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม จึงได้ออมอบกลิ่นสุมาลี ทำนองอันแสนไพเราะโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ทั้งสองเพลง ยังจะตรึงใจนักร้องนักฟังเพลงไทยเป็นอมตะไปอีกนานแสนนาน จากพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ 6 ที่ครูเอื้อไปอัญเชิญมาจากเรื่องพระร่วง ยังมีเพลง ไทยรวมกำลัง (ไทยรวมกำลังตั้งมั่น จะสามารถป้องกันขันแข็ง ถึงแม้ว่าศัตรูผู้มีแรง มายุทธ์แย่งก็จะประลาตไป ขอแต่เพียงไทยเราอย่าผลาญญาติ ร่วมชาติร่วมจิตเป็นข้อใหญ่ ไทยอย่ามุ่งร้ายทำลายไทย จงพร้อมใจพร้อมกำลังระวังเมือง ตรงนี้น่าจะเอามาเปิดให้คนไทยยุคนี้ฟังเพื่อสำเหนียกและสำนึกถึงญาติพี่น้องร่วมชาติบ้านเมือง นอกจากนั้นยังมีพระราชนิพนธ์โคลงชุด สยามานุสติ ที่ประทับใจยิ่ง ว่า หากสยามยังอยู่ ยั้งยืนยง เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ เราก็เหมือนมอดม้วย หมด สิ้นสกุลไทย แสดงให้เห็นว่า คำว่า สยามและไทยนั้นมีความหมายเกี่ยวพันกัน มาก่อนที่ประเทศจะเปลี่ยนชื่อประเทศโดยรัฐนิยมฉบับที่ 1 พศ. 2482 *ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเสียอีก (* ข้อมูลนี้จากอาจารย์อำพล สุวรรณธาดา ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 2555 ส่วนข้อมูลเพลงทั้งหลายได้จากคุณบูรพา อารัมภีร อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผู้เขียนขอขอบคุณยิ่งเสมอมา แต่ถ้าอ้างผิดพลาดไปบ้าง ก็เป็นความ ก่งก๊งของผู้เขียนเอง) นอกจากนั้น ครูเพลงหลายท่าน เช่น ครูสง่า อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงเพลงไทยสากล ปี 2531 ก็อัญเชิญพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง เวนิสวาณิช มาบรรจุทำนอง เช่นเพลงชุด ฟังคนตรีเถิดชื่นใจ ที่ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล-ขับร้อง) สองคนคือ สวลี ผกาพันธุ์ ปี 2532 กับสุเทพ วงศ์กำแหง ปี 2533 ขับร้องหลายเพลง เช่น เพลง ความรัก (ที่มีว่า ความเอ๋ยความรัก เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ หรือเริ่มในสมองตรองจงดี...ตอบเอยตอบถ้อย เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย "ซึ่งท่านผู้อ่านคงยังนึกร้องตามไปด้วยได้ ) หรือเพลง อันความกรุณาปรานี ที่มีวรรคทองว่า อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น เป็นต้น จากวรรณคดีที่โด่งดังเรื่องกากีของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ราชกวี (ผู้อำนวยการแปลสามก๊ก ราชาธิราช ฯลฯ) ที่ตัดตอนมาขับร้องเป็นเพลงไทยเดิมหลากหลายเพลงเช่น ลมพัดชายเขาตอนนาฎกุเวร คนธรรพ์หนุ่ม(ที่พระเจ้าพรหมทัต ใช้ให้ไปติดตามหาพระมเหสีกากีว่าจะถูกพญาครุฑที่แปลงกายเป็นหนุ่มรูปงามนามเวนไตยลักลอบพานางหนีจริงหรือไม่)แสร้งบรรเลงและร้องบทเพลงจี้ใจว่า รื่นรื่นชื่นจิตพี่จำได้ เหมือนเมื่อไปร่วมภิรมย์สมศรี ในสถานวิมานฉิมพลี กลิ่นซาบทรวงพี่ไม่เว้นวาย นิจจาเอ๋ยจากเชยมาเจ็ดวัน กลิ่นสุคันธรสรื่นก็เหือดหาย หรือว่าใครแนบน้องประคองกาย กลิ่นสายสวาทซาบอุรามา ซึ่ง นริศ อารีย์ นักร้องรุ่นใกล้เคียงท่านที่กล่าวนามมาข้าต้นเคยขับร้องไว้ให้ชื่นใจยิ่ง ฟังเนื้อเพลงเป็นนัยๆ ทำให้พญาครุฑใจร้อนผ่าว รีบขอเลิกเล่นสะกากับพระเจ้าพรหมทัต บินกลับวิมานฉิมพลี จากบทกลอนตอนนี้ ครูไสล ไกรเลิศนำมาทำเป็นเพลงได้งดงามส่งชื่อเสียงให้ชรินทร์ งามเมือง (นันทนาคร-นามสกุลพระราชทาน)โด่งดังมาได้กว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยเพลง คนธรรพ์รำพึง ที่ว่า ชื่นใดหาใครจะสู้ ชื่นยอดชู้กากี กลิ่นเจ้านี้พี่ยังอาวรณ์ ดวงใจจากพี่ไป หัวใจพี่แทบขาดรอน อาวรณ์เจ้าไม่วาย ตรอมตรมอยู่เดียวดาย ยามพระพายโชยกลิ่นเจ้ามา กลิ่นสุดาหอมระรื่น... ความบันดาลใจจากนิยายนี้ ครูไสล ยังได้เพลงชื่อ กากีเหมือนดอกไม้ ที่หนุ่มสาวยุคปลายทศวรรษ 2490 ยังจำได้ดีว่า โอ้มาลีนี้ใครชมเล่น กลีบเจ้าเป็นรอยช้ำ ใครทำให้เจ้าเฉา หรือภุมราแกล้งมาภิรมย์ชมเจ้า มองแล้วพายิ่งเศร้า เจ้าเคยพริ้มเพรา กลับมาอับเฉาเพราะมือคนชม ใครอยากจะรัก ใครอยากจะชม ใครอยากจะดม นิยมว่าเด่นดี นอกจากนั้นถ้อยคำสำนวนของครูยังบาดใจเป็นเลิศ เปรียบกานดาโสภางามผ่อง โอ้รูปทองใจทราม มีนามว่ากากี สวยอรชร กลิ่นขจรหอมดังมาลี กรรมของนางเทวี เจ้างามโสภี แต่ใจบัดสีเพราะมีอารมณ์ ใจอยากจะรัก ใจอยากจะชม ใจกลับระทม เพราะลมสวาทเอย ช่างยอกย้อนท่อนบนตรงที่ว่า ใครอยากจะรัก ใครอยากจะชม ใครอยากจะดม นิยมว่าเด่นดี ได้งดงามนัก อัจฉริยภาพของครูไสล ไกรเลิศที่แสดงไว้ ยังมีอีกเพลงที่ชื่อ ฝันรักาหนุ่มสาวยุคพศ. 2500เป็นต้นมา ยังรำลึกได้อย่างดีว่า รำพึงรำพันฝันรัก รักเอยใฝ่หา ยังจำติดตราชวนปลื้ม ฉันลืมไม่ลง เป็นรอยพิศวาส บาดใจมั่นคง คิดครวญพะวงหลงรอคอย และ อาวรณ์ใจครวญหวนคิด คิดจนคลั่งเพ้อ พาใจละเมอ หมองหม่น คิดจนเลื่อนลอย ยามนอนถอนสะอื้น ตื่นตาแลคอย คิดจนเดือนลอย คล้อยเมฆา ยิ่งในท่อนที่สามยิ่งชวนสะท้อนใจว่า ฝันกอดเชยชม ภิรมย์รื่น ฉ่ำชื่นตื่นผวา จนใจไม่มีใครเมตตา เพียงนิทรานิจจานึกว่าสุขเอ๋ย และท่อนสุดท้ายยิ่งชวนสะอื้น บางคืนหรรษา นิจจาอกฉัน บางคืนขาดจันทร์ เยือนหล้า น้ำตาหลั่งเลย ลมเอยพลิ้วยังแผ่ว ไม่มีแววเลย หนาวใจจริงเอย หลงเชยแต่เงา ฟังเพลงนี้ดึกๆ อารมณ์เปล่าเปลี่ยวอยู่คนเดียว ยิ่ง หนาวใจ อย่างบอกไม่ถูก !!!@
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2555
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์