ชีวิตคือความรื่นรมย์
สุดจิตต์นิจนิรันดร์
แม้เราพยายามทำใจเมื่อไปเยี่ยมครู ๒-๓ ครั้งหลังสุดว่าครูสุดจิตต์ อนันตกุล ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ แม้ครูจะหายป่วยกลับมา เราก็คงไม่ได้ครูผู้มีความรื่นเริง อ่อนโยนอ่อนหวานแต่เข้มแข็ง ยิ้มรับลถานการณ์ต่างๆอย่างอารมณ์ดีแสดงความเป็นผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารี เหมือนดั่งครูเพลงไทยส่วนใหญ่นับแต่โบราณกาลมา แต่ครูจะกลับมาร้องเพลง ใส่เพลงและควบคุมวงดนตรีดุริยประณีต ให้เพลงประกอบการแสดงสักวาของเราอย่างเดิมไม่ได้อีกแล้วกระมังแล้วความหวาดกลัวนั้นก็เป็นจริง หลังจากตรากตรำสังขารและสู้กับโรคร้ายมานาน ครูก็จากไปในวัย ๘๔ ปี ๔ เดือน ๘ วัน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการเพลงไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีส่วนเล็กน้อยในการผลิตสารคดีชุด สยามศิลปิน เราพยายามเร่งรัดให้ตอนที่ผลิตชีวิตและผลงานของครูสุดจิตต์ ดุริยประณีตให้ครูได้ทันเห็น แต่น่าเศร้าใจที่มักมีอุปสรรค นอกจากมหาอุทกภัยในปี๒๕๕๔แล้ว ความที่เรารู้จักใกล้ชิดครูบ้าง เราก็อยากให้สารคดีออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) เราต้องตัด-ต่อ-เติม-แก้ไข พยายามจะให้ออกมาอย่างดีที่สุด และที่น่าเศร้าใจที่สุด วันที่สารคดีออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทย(ไทยพีบีเอส) เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ เป็นวันที่ครูกลับเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย ซึ่งข้าพเจ้ารับฟังจากชยันตี อนันตกุล-ลูกสาวคนเดียวของครู ด้วยความไม่สบายใจ เมื่อเธอบอกว่า แม่ไม่สามารถได้ดูและรับรู้แล้ว เมื่อก่อนข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า ครูเป็นครูผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้าไม่กล้าแม้จะถามไถ่เรื่องเพลงที่ตนอยากรู้ จนกระทั่งได้ไปร่วมรายการทางโทรทัศน์และแสดงสักวาตามที่ต่างๆหลายกรรมหลายวาระ จึงได้รู้ว่าครูเป็นคนที่เราสามารถเข้าใกล้ชิดได้จนเรียกว่าพี่ได้สนิทใจ แม้กระทั่งติดขัดเรื่องเพลง โทรศัพท์ไปถามก็จะได้คำตอบทันทีทันใด เพราะว่าครูบันทึกความรู้เกี่ยวกับเพลงในสมองท่านเกินกว่าเราจะคาดได้ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปเล่นสักวาที่ไหน เรานึกถึงครูขึ้นมาก่อนใคร พอเราบอกว่าจะเล่นเรื่องอะไร ตอนไหน ครูจะบอกว่าจะเตรียมเพลงให้เข้าบรรยากาศจำนวนมากไว้ เป็นเรื่องอิเหนา (เพลงสำเนียงแขก) เรื่องขุนช้างขุนแผน(ทำนองพื้นบ้านภาคกลางและลาว) เรื่องราชาธิราช (สำเนียงพม่า-มอญ) เรื่องสามก๊ก (สำเนียงจีน) พระอภัยมณี ( สำเนียงออก ๑๒ ภาษา) ฯลฯ แม้ตออนที่ครูนอนอยู่บนเตียง ยังจดชื่อเพลงให้นักร้องและวงดนตรีเตรียมไปร้องให้วงสักวาเราเป็น ๓๐-๔๐ กว่าเพลง เมืออายุ ๕๘ ปี ครูเคยเขียนเล่าอัตชีวประวัติไว้(ข้อมูลใน กูเกิ้ล)มีบางตอนดังนี้ ข้าพเจ้าเกิดวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรงตรงกับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๗๑ เป็นลูกของคุณพ่อสุข คุณแม่แถม ดุริยประณีต มีพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินหรือนักดนตรีหรือผู้สนใจในวงการดนตรีเคยรู้จักกันทั้งนั้น เรียงลำดับได้ดังนี้ นางชุบ ชุ่มชูศาสตร์ (ดุริยประณีต) นายโชติ ดุริยประณีต นายชื้น ดุริยประณีต นายชั้น ดุริยประณีต นางสุดา เขียววิจิตร (ดุริยประณีต) นางแช่มช้อย ดุริยพันธ์ (ดุริยประณีต) นางชม รุ่งเรือง (ดุริยประณีต) นางทัศนีย์ พิณพาทย์ (ดุริยประณีต) นางสุดจิตต์ อนันตกุล (ดุริยประณีต) และนายสืบสุด ดุริยประณีต คุณพ่อของข้าพเจ้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรีไทย นักดนตรีนักร้องในสมัยนั้น ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจำนวนมาก นามสกุล ดุริยประณีต ก็เป็นนามสกุลหนึ่งที่ได้รับพระราชทานจากพระองค์ท่าน ส่วนคุณแม่นั้นเป็นละครเก่าอยู่ในวัง พี่โชติตอนมีชีวิตอยู่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกกองการสังตีต กรมศิลปากร พี่ชื้น เป็นข้าราชการกรมศิลปากร เป็นนักระนาดฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ตีระนาดส่งภาคคลื่นสั้นกรมประชาสัมพันธ์ตรงไปประเทศมาเลเซีย และได้ส่งหมวกสามารถมอบให้ผ่านมาทางกรมประชาสัมพันธ์อีกด้วย พี่ชื้นมีความสามารถหลายอย่าง เขียนเพลงไทยเป็นโน้ตสากล และสามารถบรรเลงฆ้องวงใหญ่จนได้รับรางวัลที่หนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีได้ทุกชิ้น และแต่งเพลงได้ด้วย พี่สุดา (เชื่อม)... เริ่มเป็นนักร้องตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี รับราชการในวังหลวงติดต่อมาจนถึงกรมศิลปากร(แม้เกษีญณแล้ว)กรมศิลปากรยังคงจ้างไว้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางร้อง และสอนเพลงละครต่าง ๆ ให้นักร้องกรมศิลป์ฯอีกด้วย ส่วนพี่แช่มช้อยนั้น ก็เป็นนักร้องกรมศิลปากรในสมัยนั้นพร้อมทั้งสามี (ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์) ก็ได้สร้างชื่อเสียงทางร้องให้กับกรมศิลป์ฯ สืบต่อมาจนถึงแก่กรรมทั้งสองท่าน น้องชายของข้าพเจ้า นายสืบสุด ดุริยประณีต (ไก่) เป็นผู้ที่ตีระนาดที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ซึ่งหาตัวจับยาก เป็นผู้ชอบแสวงหาความรู้มาก ครูอยู่ไหนก็จะตามไปต่อเพลง ถึงแม้จะลำบากในการเดินทางเพียงใดก็ตาม จนประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรมพร้อมบิดา เพียงอายุได้ ๒๘ ปีเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าจำความได้ก็ได้ยินเสียงดนตรีแล้ว พออายุได้ ๘ ปี ก็เริ่มหัดร้องเพลงกับพี่ ๆ ที่บ้านมีวงดนตรี ทำเครื่องดนตรีขายเป็นบ้านแรก มีลูกศิษย์ลูกหามาเรียนดนตรีกันมาก มาจากหลายจังหวัด.....ที่บ้านต้องหุงข้าวเลี้ยงกันทุกวันสนุกดี สมัยก่อนเรียนกันอย่างจริงจังแบบโรงเรียน เช้ากินข้าวแล้วเริ่มเรียนหรือต่อเพลง กลางวันท่องจำ ค่ำก็ซ้อมหรือต่อเพลงใหม่ต่อไป ครูที่ช่วยกันสอนก็คือ คุณพ่อ พี่โชติ พี่ชื้น พี่ชั้น มาระยะหลังน้องไก่โต ลูกศิษย์ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกมาก ที่บ้านเลยจัดวงประชันกันขึ้นทางสถานีวิทยุศาลาแดงสมัยนั้น.... ข้าพเจ้าเริ่มรักการดนตรีและร้องเพลงมาตั้งแต่นั้น (อยากยกมาทั้งหมดเพราะครูเล่าสนุก แต่เนื้อที่มีจำกัดจึงขอคัดมาเพียงเท่านี้) ครูได้ฝึกฝนการขับร้องมากขึ้น โดยมีพี่ๆ ช่วยกันสอน ถ้าขี้เกียจต่อเพลงวันไหน ก็จะถูกทำโทษโดยการถูกตีด้วยก้านกล้วยจนหลังแอ่นนอกจากขับร้องแล้ว ครูยังเรียนเล่นดนตรีได้หลายประเภท จากครูผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงและฝีไม้ลายมือเป็นเอก เช่น พระยาเสนาะดุริยางค์(แช่ม สุนทรวาทิน) หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ครูมนตรี ตราโมท เรียนรำไทยกับครูต้นแบบเช่นครูลมุล ยมะคุปต์และครูเฉลย ศุขะวณิช(ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง-นาฏศิลป์ ๒๕๓๐) กระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๒ ครูอายุ ๑๙ ปี กรมโฆษณาการ(กรมประชาสัมพันธ์)จัดประกวดขับร้องเพลงไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ครูถูกพี่ๆยุแกมบังคับให้เข้าประกวดด้วย ปรากฏว่าครูได้รับรางวัลรองที่ ๓ รองจาก(อาจารย์)เจริญใจ สุนทรวาทิน(ต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง-คีตศิลป์ ๒๕๓๐) ผู้ชนะลิศและครูทัศนีย์ ดุริยประณีตพี่สาวของครู เอง ผลจากการประกวดทำให้ครูได้ไปเป็นครูสอนร้องเพลงตามโรงเรียนหลายแห่ง จนกระทั่งพี่สาว(ครูทัศนีย์)ที่เป็นนักร้องกรมประชาสัมพันธ์สิ้นชีวิต อธิบดีกรมฯคือหม่อมหลวงขาบ กุญชร ขอให้ครูเข้ารับราชการ และเป็นนักร้องประจำแทน จนเกษียณและกรมฯขอให้ช่วยราชการต่อมาอีกนาน และแม้จะออกมาแล้ว ก็ยังไปช่วยงานของกรมมิได้ขาด ในช่วงนั้นนอกจากครูต้องทำหน้าที่เป็นนักร้อง เป็นนักดนตรี สอนขับร้องทั้งในกรมและตามโรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ตลอดจบองค์กร-บริษัทที่ขอให้ช่วย ยังมีสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม ช่อง ๙ บางลำพู(อสมท) และต่อมาถึงช่อง๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ ครูยังอุทิศเวลาจัดรายการสอนและเสนอการขับร้องและดนตรีไทยทางวิทยุเป็นประจำ ไปสอน ไปฝึกพนักงานและดูแลการดนตรีไทยประกอบละครคณะต่างๆให้ด้วย รวมทั้งที่ได้รับการบันทึกไว้ครูจึงมีผลงานมากมาย รวมทั้งเมื่ออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จัดให้มีการบันทึกโน้ตเพลงไทยและจัดทำเพลงไทยประยุกต์ร่วมกับดนตรีสากลที่เรียกว่า สังคีตสัมพันธ์ ครูก็เป็นกำลังหลักคนหนึ่งในการอันเป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อวงการเพลงไทย ต่อวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์มาจนบัดนี้ และที่สำคัญยิ่ง ครูได้รับพระกรุณาธิคุณให้เป็นพระอาจารย์ถวายการสอนและการขับร้อง ในบางโอกาส จึงเป็นความชื่นใจแก่ผู้รู้จัก ลูกศิษย์และวงการดนตรีไทยที่ครูได้รับยกย่องจากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ(ต่อมาหน้าที่นี้เป็นของกระทรวงวัฒนธรรม) เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง( คีตศิลป์) พ.ศ.๒๕๓๖ แม้ว่าครูได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว ครูยังเป็นครูเพลงสอนทั้งขับร้องและดนตรีที่กรำงานหนัก เพราะครูไม่ปฏิเสธงานใคร แม้จะค่าวงดนตรีน้อยหรือช่วยฟรีครูก็ไม่ปฏิเสธ แม้ต้องควักกระเป๋าตนเองให้ลูกวงครูก็ทำสม่ำเสมอ ข้าพเจ้าได้เขียนถึงครูไว้อย่างย่นย่อในสารคดีสยามศิลปินไว้ว่า คือครูผู้สืบสานคีตศิลป์ สืบสังคีตศิลปินเรื่อยรินไหล สืบพิณพาทย์นาฏดุริยางค์ทางเพลงไทย สืบมโหรีไว้ในตำนาน เป็นคนรองสุดท้องพี่น้องทั้งสิบ สืบเสียงทิพย์บทละบองพร้องขับขาน สืบเชื้อสายศิลปินในวิญญาณ ตราบชั่วกาลนาม สุดจิตต์ นิจนิรันดร์@
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2556
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์