อันที่จริงค่อนข้างเป็นระบบที่บ้านเราไม่ค่อยต้องการใช้ หรือไม่ค่อยได้ประสบกับปัญหาเหล่านี้มากสักเท่าไร แต่ในบางพื้นที่ อย่างใกล้บ้านเราหน่อย ก็เป็นทวีปออสเตรเลีย ที่ต้องเดินทางระยะทางไกลๆ ผ่านทะเลทราย หรือทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งหากเดินทางด้วยรถแวน ก็เท่ากับว่าตัวรถเป็นสิ่งกีดขวางกระแสลม หากลมพัดค่อย ก็ไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่หากเป็นกระแสลมพายุ ระบบป้องกันลมปะทะด้านข้างนี้ จะช่วยให้สามารถเดินทางได้ด้วยความสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับผู้ผลิตรถแวน ที่จำหน่ายในพื้นที่อย่างที่ว่ามานี้ จะนำเสนอระบบช่วยการทรงตัวของรถขณะถูกกระแสลมพัดขวางรถ ที่ออกแบบพิเศษ เพื่อให้ลดแรงต้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับรถแวนขนาดใหญ่ สำหรับค่าย Ford มีระบบปรับการทรงตัวรถเมื่อถูกกระแสลมพัดด้านข้าง Side Wind Stabilisation System ติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถแวนขนาดใหญ่รุ่น Transit รุ่นปี 2560 ซึ่งแนะนำพร้อมกับเครื่องยนต์ดีเซล EcoBlue 2.0 ลิตร ในรุ่น Transit และ Transit Customs Ford พัฒนาระบบนี้ด้วยตัวเอง ทำงานด้วยการพิจารณาเพิ่มแรงเบรคในอีกด้านหนึ่งของตัวรถ ช่วยให้ตัวรถเดินทางภายในช่องทางของตนเอง ไม่เซออกไปช่องทางอื่น ทำงานอัตโนมัติที่ความเร็วมากกว่า 50 ไมล์/กม. ราว 80 กม./ชม. ภายในระยะเวลาไม่เกิน 200 มิลลิวินาที ระบบนี้พัฒนาโดยใช้สนามทดลองที่มีพัดลมขนาดใหญ่มาก สามารถก่อกระแสลมความเร็วถึง 50 ไมล์/กม. ราว 80 กม./ชม. รวมทั้งนำรถออกไปทดสอบบนถนนจริง ขณะที่มีกระแสลมรุนแรง โดยเซนเซอร์ที่ตรวจจับกระแสลมด้านข้างนี้ จะทำการตรวจสอบทุก 100 ครั้งต่อนาที ขณะที่รถแวนขนาดใหญ่ของ Mercedes-Benz Sprinter ก็ติดตั้งระบบป้องกันกระแสลมด้านข้าง ในชื่อ Crosswind Assist โดยแนะนำเมื่อปี 2556 และเพิ่มไปยังรถแวนอีกหลายรุ่น ในปี 2557 จนปัจจุบันกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับ Sprinter ขนาด 3.5 ตัน ทุกรุ่น ระบบการทำงานก็คล้ายคลึงกับของ Ford โดยการใช้เบรคในด้านตรงข้ามกับการพัดของกระแสลม รวมทั้งจะช่วยป้องกันแม้ในขณะที่วิ่งผ่านรถพ่วงขนาดใหญ่ ที่มีกระแสลมแปรปรวน รถแวนของค่าย Volkswagen รุ่น Crafter ที่จะแนะนำในอังกฤษ ในเดือนเมษายน 2560 ก็ติดตั้งระบบต้านกระแสลมด้านข้าง เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ระบบทำงานแตกต่างกับสองยี่ห้อข้างบนเล็กน้อย โดยใช้วิธีช่วยเหลือการควบคุมพวงมาลัยกึ่งกลไก ทำงานด้วยไฟฟ้า ปรับแต่งพวงมาลัยให้อัตโนมัติ เพื่อแก้ไขทิศทางให้ถูกต้องในขณะกระแสลมแรง ระบบของทุกเจ้านับเป็นวิธีการช่วยเหลือการขับขี่ ที่ต้องถือว่าดีกว่าการปล่อยให้ผู้ขับขี่ต้องคอยเหยียบเบรค และขืนพวงมาลัยขณะกระแสลมแรง ซึ่งทำให้ Crafter มีพวงมาลัยที่ค่อนข้างเบากว่ารถยี่ห้ออื่นๆ