เพิ่งเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็มีแถลงการณ์ร่วมกันอย่างเป็นทางการออกมา โดย กลุ่ม Fiat Chrysler และ กลุ่ม PSA ตกลงที่จะร่วมมือกัน จัดตั้งบริษัทใหม่ ด้วยเงินลงทุนฝ่ายละ 50 % อันจะทำให้กลายเป็นค่ายรถยนต์ ที่มียอดขายโดยรวมเป็นอันดับ 4 ของโลกในแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทแห่งใหม่ มูลค่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปารีส, มิลาน และนิวยอร์ค พร้อมแต่งตั้งให้ Carlos Tavares ดำรงตำแหน่ง ซีอีโอ และ John Elkann จากกลุ่ม Fiat เป็นประธาน เมื่อ 5 เดือนก่อนหน้านี้ กลุ่ม Fiat ได้ยื่นขอเป็นหุ้นส่วนกับ กลุ่ม Renault ประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ตกต่ำกันถ้วนหน้า ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ยานยนต์ไร้คนขับ หรือรถที่ปลอดมลภาวะ ที่จะต้องเร่งพัฒนาให้ทันกับข้อกำหนดด้านมลภาวะของหลายประเทศ ก็เพิ่มสูงขึ้น ในแถลงการณ์ระบุว่า “คณะกรรมการบริหาร กลุ่ม PSA และกรรมการบริหารของ Fiat Chrysler Automobiles ตกลงในหลักการที่จะทำงานร่วมกัน ในการควบรวมกิจการของทั้ง 2 แห่ง ด้วยมูลค่าฝ่ายละ 50:50” ในสัปดาห์นี้ ผู้บริหารของทั้ง 2 กลุ่ม จะเจรจาเพื่อตกลงควบรวมทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งมียอดขายมูลค่ารวมกัน 8.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 3.7 พันล้านยูโร โดยไม่มีการปิดโรงงานใดๆ เลย รถยนต์ในเครือ ประกอบด้วย Fiat, Dodge, Ram, Chrysler, Alfa Romeo, Maserati, Peugeot, DS, Opel และ Vauxhall เพื่อผลิตรถยนต์นั่งที่หรูหรา รถบรรทุก และรถเพื่อการพาณิชย์อย่างเบา ในแถลงการณ์ กล่าวว่า “สถานการณ์รถยนต์ในปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ การเชื่อมต่อ, ยานยนต์ไฟฟ้า, การแบ่งปันกันใช้ และยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง จากการควบรวม จะสามารถค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างเข้มแข็ง ประหยัด และสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ในราคาที่สมเหตุสมผล” ในครั้งนี้ Bruno Le Maire รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ประเทศฝรั่งเศส แสดงความยินดีกับการตกลงควบรวม อันจะช่วยให้ทั้ง 2 บริษัท สามารถก้าวผ่านอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ โดยรัฐบาลฝรั่งเศส ถือหุ้นใหญ่อยู่ใน กลุ่ม PSA 12 % และ Renault 15 % บริษัทควบรวมแห่งใหม่นี้ จะประกอบด้วยกรรมการบริหาร 11 คน โดยมาจาก กลุ่ม PSA 6 คน และ กลุ่ม Fiat 5 คน ข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องใช้เงินในการพัฒนารถไฟฟ้า และรถไฮบริด เพราะผลบังคับให้ลดค่ามลภาวะจากไอเสีย 37.5 % ช่วงระหว่างปี 2564 และ 2573 หลังจากข้อบังคับช่วงระหว่างปี 2550 และ 2564 กำหนดให้ลดค่ามลภาวะไปแล้ว 40 % การควบรวมในครั้งนี้ นับว่าเป็นผลดีแก่ทั้ง 2 ค่าย โดย กลุ่ม Fiat จะได้เทคโนโลยีใหม่ๆ จาก กลุ่ม PSA รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน CMP รุ่นใหม่ ที่ใช้ใน Peugeot e-208 รุ่นล่าสุด รวมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยให้ Opel ได้รถรุ่นใหม่ Corsa-e ในอนาคต กลุ่ม Fiat อยู่ในช่วงที่ต้องพัฒนารถไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกปรับเรื่องมลภาวะจากค่าไอเสีย ราว 700 ล้านยูโร จากสหภาพยุโรป ทำให้ต้องเร่งรีบผลิตรถไฟฟ้า และรถไฮบริด ออกจำหน่าย ขณะเดียวกัน กลุ่ม PSA สามารถเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือได้โดยง่าย ซึ่งเป็นตลาดที่ กลุ่ม Fiat ทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ในครั้งนี้การควบรวมระหว่าง กลุ่ม Fiat และ กลุ่ม PSA จะไม่เกี่ยวข้องกับการที่ทั้ง 2 ค่าย เป็นพันธมิตรกับค่ายรถยนต์ในประเทศจีนอยู่เดิม