ยังคงเป็นข่าวกันมาเรื่อยๆ สำหรับการระบาดของ “COVID-19” ที่คาดกันว่า จะถึงจุดที่สามารถควบคุมโรคไว้ได้ โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือเมืองอู่ฮั่น ที่เป็นต้นตอของโรคระบาดครั้งนี้ แต่กระนั้น ความวุ่นวายของอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ยังคงมีอยู่ สืบเนื่องมาจากเมืองอู่ฮั่น เป็นเมืองที่แทบจะเรียกว่าเป็นศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนขนาดเล็ก ทำให้โรงงานประกอบรถยนต์ ในปัจจุบันต้องวุ่นวายจัดหาจากแหล่งอื่นมาดูกันว่า ใครเป็นใครในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่โดนผลกระทบกันบ้าง เริ่มจากโรงงาน Hyundai Motor ในเมือง Ulsan ประเทศเกาหลีใต้ ต้องหยุดสายการผลิตเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สืบเนื่องจากมีพนักงานมีผลการตรวจเป็นบวกจากเชื้อไวรัส ทำให้ต้องหยุดสายการผลิต แต่ยังไม่ระบุว่า จะสามารถกลับมาเริ่มดำเนินการผลิตได้อีกเมื่อไร งานมหกรรมยานยนต์เจนีวา 2020 จำเป็นต้องยกเลิก เนื่องจากรัฐบาลสวิทเซอร์แลนด์ ประกาศห้ามจัดการชุมนุมเกินกว่า 1,000 คน จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2563 ทำเอาปวดหัวไปตามๆ กัน เพราะทุกอย่างเตรียมการเอาไว้หมดแล้ว แถมบางส่วนยังเริ่มเข้าจัดสถานที่อีกต่างหาก ไล่เรียงกันไปทีละค่าย กลุ่ม PSA และ Renault หยุดสายการผลิตในจีน โดยระบุว่า ต้องคอยให้รัฐบาลจีน ตัดสินใจว่า จะประกาศให้สามารถทำการผลิตใหม่ได้เมื่อใด โดยโรงงานของกลุ่ม PSA ที่เป็นพันธมิตรกับ Dongfeng Motor ในเมืองอู่ฮั่น เดิมมีกำหนดเริ่มงานใหม่ในวันที่ 12 มีนาคม ขณะที่โรงงาน Renault ในเมือง อู่ฮั่น ก็เช่นกัน กำหนดเริ่มงานในวันที่ 10 มีนาคม แต่ยังไม่มีข่าวว่าจะสามารถเริ่มสายการผลิตได้ตามกำหนดเดิมหรือไม่ ค่าย General Motors ก็ออกแถลงการณ์ว่า ยังไม่มีกำหนดการเริ่มสายการผลิตอีกครั้งในจีน ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ แต่ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบไปถึงโรงงานในสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน เพราะสามารถจัดหาชิ้นส่วนจากแหล่งอื่น ที่ไม่ใช่จีน โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน Denso ในประเทศสเปน ก็ประกาศว่า อาจต้องหยุดการผลิตชิ้นส่วนอีเลคทรอนิคส์บางอย่าง ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตชิ้นส่วนในจีน ไม่สามารถจัดส่งชิ้นส่วนให้ได้ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกราย Aptiv ก็รายงานตลาดหลักทรัพย์ว่า ผลจาก “COVID-19” จะกระเทือนผลกำไร ราว 150-200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,500-6,000 ล้านบาท และรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 60-80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,800-2,400 ล้านบาท Adient ผู้ผลิตเบาะนั่งในรถยนต์ ก็รายงานตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน เตรียมปรับประมาณการรายได้ก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่าย ที่จะขาดหายไปราว 870-910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 26,100-27,300 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะสามารถกลับมาเริ่มสายการผลิตได้เต็มกำลังเมื่อใด รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดผลกระทบแก่พนักงาน ผู้ร่วมค้า และผู้จัดหาชิ้นส่วน ที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับบริษัท ที่ยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกราย Tenneco ก็ออกมาเตือนว่า ผลจาก “COVID-19” มีผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทราว 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท ในไตรมาสแรก ซึ่งทำให้ต้องปรับปริมาณการผลกำไรในช่วงปลายปี เช่นเดียวกับผู้ผลิตชิ้นส่วน Visteon ก็แจ้งมายังนักลงทุนว่า จะสูญเสียรายได้จากการขายราว 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,800 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่งานมหกรรมยานยนต์ปักกิ่ง 2020 ที่กำหนด วันที่ 21-30 เมษายน 2563 ก็ประกาศเลื่อนการจัดแสดงไปอย่างไม่มีกำหนด เช่นเดียวกับ กลุ่ม FCA ก็ประกาศห้ามผู้ที่เคยเดินทางไปจีน หรือประเทศในอาเซียน ภายใน 15 วันก่อนหน้านี้ เข้าไปในพื้นที่ของโรงงาน สำนักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ LMC ระบุว่า ผลกระทบจาก “COVID-19” จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ยอดการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ลดลงราว 3-4 ล้านคัน จากที่เคยขายได้ราว 90 ล้านคัน ทั่วโลก ในปี 2562