รายงานข่าวจาก โยโกฮามา ระบุว่า ค่าย Nissan เตรียมแผนงานที่จะปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อนำเสนอในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ตามที่ได้รับปากต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งทำรายงานเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ ในความพยายามที่จะทำให้ผลการดำเนินงาน สามารถกลับมาทำกำไรได้ เพื่อที่จะได้สามารถจ่ายเงินปันผลต่อผู้ถือหุ้น หลังประกาศงดการจ่ายเงินปันผล ในปีงบประมาณ 2562-2563 ที่ผ่านมา และได้รับการต่อว่าจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นขนานใหญ่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวระดับสูง ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนงาน เปิดเผยว่า แผนงานดังกล่าว จะเป็นการตัดค่าใช้จ่ายครั้งมโหฬารของบริษัทฯ โดยจะต้องปลดพนักงานประจำสำนักงานลงราว 4,300 คน และปิดสายการผลิตในโรงงานอย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงราว 480 พันล้านเยน ประมาณ 140 พันล้านบาท อันจะทำให้ไม่มีการขาดทุน ภายในปีงบประมาณ 2566 แผนงานดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งรวมทั้งการลดจำนวนรุ่นของรถยนต์ และลดการแยกย่อยรายละเอียดในแต่ละรุ่น ซึ่งรวมถึงการต้องลดจำนวนพนักงานในสหรัฐอเมริกา และยุโรป การลดค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาและการตลาด ด้วยเช่นกัน “สถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายมาก เราจำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นก็ต้องตาย” ผู้บริหารระดับสูงของ Nissan ยืนยัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการเสนอแผนงานการลดค่าใช้จ่าย และมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยให้บริษัทฯ ลดการขาดทุนในการประชุมคณะกรรมการหลายอย่าง และได้รับการตอบรับที่จะดำเนินการ ภายใต้การบริหารงานของ Carlos Ghosn ค่าย Nissan ขยับขยายการขายและการตลาดไปทั่วโลก เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อผลิตรถรุ่นใหม่ๆ รวมทั้งรุกเข้าไปในตลาดอย่าง ประเทศอินเดีย, รัสเซีย, แอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งใช้จ่ายเงินด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์จำนวนมาก แต่ผลการดำเนินงานส่วนใหญ่พลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ และผู้บริหารในสำนักงานใหญ่ พบว่า ราว 40 % ของกำลังการผลิต เกินความจำเป็น ไม่มีการใช้งาน หรือไม่มีความจำเป็น ขณะที่ผู้บริหารบางส่วนยอมรับว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 น่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ จนถึงปลายเดือนมีนาคม ก็น่าจะขาดทุนมากขึ้นเช่นกัน ในเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว Nissan ระบุว่า มีแผนงานที่จะลดจำนวนพนักงานลง 12,500 คน จากสายการผลิต 14 แห่งทั่วโลก ตั้งแต่ อังกฤษ, สเปน, เมกซิโก, ญี่ปุ่น, อินเดีย และอินโดนีเชีย รวมทั้งลดจำนวนรุ่นรถลง 10 % แหล่งข่าวระบุว่า การดำเนินงานในสำนักงานใหญ่ตลาดอเมริกาเหนือ ใน เทนเนสซี และสำนักงานใหญ่ ยุโรป ใน เจนีวา น่าจะเป็น 2 แห่ง ที่ต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านการขาย และพนักงานด้านการตลาด จำนวนมาก จากแผนงานการลดค่าใช้จ่าย ผู้บริหารได้พิจารณาที่จะลดรุ่นรถที่ไม่สามารถทำกำไร เร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ และลดอายุเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดจาก 5 ปี ให้เหลือเพียง 2 1/2 ปี นอกจากนั้น Nissan จะต้องลดค่าใช้จ่ายประจำลง 300 พันล้านเยน หรือราว 87 พันล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการแนะนำรถรุ่นใหม่ใน 3 ปีข้างหน้า ลงอย่างน้อย 180 พันล้านเยน ประมาณ 52.2 พันล้านบาท แต่นับจากเดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตามเป้าหมายตั้งเป้าให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 6 % ของรายได้ 14.5 ล้านล้านเยน ราว 4.205 ล้านล้านบาท ภายในเดือนมีนาคม 2566 เทียบกับเป้าหมายค่าใช้จ่าย 3 % ของประมาณการรายได้ 13.0 ล้านล้านเยน ราว 3.77 ล้านล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2563 แต่สภาพตลาดทั่วโลกตกต่ำ รถยนต์ทุกยี่ห้อ ยอดขายลดลง ทำให้ทีมบริหารชุดใหม่ ต้องหาวิธีที่จะประหยัดเงินให้เหนือกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่กระนั้น ค่าย Nissan ก็มีเงินสดถือครองในมือจำนวนมาก ที่จะรับมือกับสถานการณ์ความยุ่งยากช่วงนี้ โดยจากรายงานในรอบไตรมาสที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ เดือนกันยายน Nissan มีเงินสดถือครองทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านเยน แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เงินสดขนาดนี้ ก็ไม่น่าจะเพียงพอต่อการดำเนินงาน อันเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายตายตัวจำนวนมาก และยอดขายที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งแผนงานแนะนำรถยนต์ระดับหรูในเร็ววันนี้ จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก “แม้เราจะถือครองเงินสดในมือ 1 ล้านล้านเยน ก็อาจละลายไปในเวลาอันรวดเร็ว หากเราไม่ระมัดระวัง” ทีมงานใกล้ชิดกับผู้บริหาร กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ แหล่งข่าวระบุด้วยว่า จากยอดขาย Nissan ตกต่ำทั่วโลก เป็นแรงผลักดันครั้งใหญ่ ที่ทำให้บริษัทฯ ต้องหันกลับมาพิจารณาการปรับโครงสร้างโดยรวม ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่า ยอดการขายทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 5 ล้านคัน หรือน้อยกว่านั้น จากเป้าหมายเดิม 5.5 ล้านคัน ในปีงบประมาณนี้ แต่หากเหตุการณ์เลวร้ายลงไป อันอาจทำให้ต้องใช้จ่ายเงินประชาสัมพันธ์สินค้าจำนวนมาก นั่นจะทำให้ต้องมีมาตรการปัจจุบันทันด่วนออกมารองรับ อย่างเช่นในตลาดสหรัฐอเมริกา ที่ยอดขายลดลงในปี 2562 10 % รวมทั้งตลาดในประเทศจีน ที่ตกต่ำอย่างมาก ปัญหาสำคัญของ ค่าย Nissan คือ ความสามารถในการจำหน่าย โดยในปี 2561 Nissan มีรถทั้งสิ้น 69 รุ่น ยอดขาย 5.2 ล้านคัน หรือราว 75,000 คัน ต่อรถแต่ละรุ่น แต่ก็มีแผนงานที่จะเพิ่มรุ่นรถเป็น 73 รุ่น ภายในสิ้นปี 2565 ในเป้าหมายการดำเนินงานใหม่นี้ Nissan วางแผนจะลดจำนวนรุ่นลงเหลือ 62 รุ่น และพยายามที่จะขายให้ได้ราวรุ่นละ 87,000 คัน เทียบเท่าค่าเฉลี่ยของ ค่าย Toyota ในปีที่ผ่านมา “เราเคยวางแผนที่จะขายรถให้ได้ปีละ 6 ล้านคัน แต่ในความเป็นจริง ความสามารถเราทำได้เพียง 5 ล้านคันเท่านั้น” แหล่งข่าวระบุ ก็ต้องคอยดูฝีมือของ Makoto Uchida ซีอีโอ คนใหม่ ค่าย Nissan ที่มีมือสองอย่าง Ashwani Gupta ดำรงตำแหน่ง ซีโอโอ ที่ดูแลทั้ง Nissan, Mitsubishi, และ Renault ว่าจะสามารถนำเสนอแผนงานการปรับปรุงทั้งหมด ให้คณะกรรมการยอมรับ และลงมือทำได้เมื่อใด