ใกล้จะผ่านพ้นปี 2563 ปีที่เกิดความผันผวนกันไปทั่วโลก แถมจนจะหมดปีแล้ว ก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิมได้สักที เป็นเพราะโรคระบาดร้ายแรง ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก ก็ต้องยอมรับความจริง ปฏิบัติตัวกันไปตามปกติ เพราะมันไม่ใช่เป็นเหตุเฉพาะบ้านเราเท่านั้น แต่ระบาดไปกันทั่วโลก จนป่านนี้ก็ยังมี รอบ 2 และรอบ 3 ไม่จบสิ้นกันไปสักทีก็ต้องทำใจ อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด แม้ว่า สภาพัฒน์ฯ จะออกมาบอกแล้วว่าเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว แถมยังฟื้นตัวดีกว่าที่คาดเอาไว้ โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ -6.4 % ปรับตัวดีขึ้นจาก -12.1 % ในไตรมาสที่ 2 เลยปรับเพิ่มตาม GDP ปีนี้เป็น -6.0 % จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะติดลบถึง -8.9 และ -9.1 % การหดตัวน้อยกว่าที่คิดไว้นี้ เป็นผลจากการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชนติดลบเพียง 0.6 % จากปัจจัยหนุนของมาตรการเยียวยา ผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง ได้แก่ (1) ภาคท่องเที่ยวที่ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวล่าช้า (2) การลงทุนภาคเอกชนที่มีการฟื้นตัวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออก ขณะที่กำลังการผลิตส่วนเกินยังกดดันการลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว (3) การบริโภคในระยะกลาง-ยาว ยังมีแรงกดดันจากความอ่อนแอของตลาดแรงงาน และหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และ (4) ความไม่แน่นอนทางการเมือง ด้านภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 86.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.2 ในเดือนกันยายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยว และการบริโภค สนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้าง แต่กระนั้น เมื่อมาดูการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 93.3 ในเดือนกันยายน 2563 จากปัจจัยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออกลดลง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งอาจทำให้กิจการประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs แต่เรื่องที่เป็นกังวลกันว่า เมื่อค่าย เจเนอรัล มอเตอร์ ถอนตัวออกจากประเทศไทยไปแล้ว จะเหมือนเป็น โดมิโน ให้ค่ายรถยนต์อื่น ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ที่อยู่ในสายการผลิต รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่างพากันกังวลใจว่าจะมีค่ายรถยนต์อื่น หนีไปจากตลาดประเทศไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะดูจากยอดขายแล้ว ตัวเลขไม่น่าจะประทับใจกับผู้บริหารต่างประเทศได้เลย มือบ๊วย ทดลองเลียบๆ เคียงๆ กับผู้บริหารค่ายรถยนต์หลายค่าย มีแต่คนที่มองว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ยังมีโอกาสก้าวหน้าไปได้อีกเยอะ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ยังมีโอกาสให้ได้ก้าวเดินกันอยู่ ค่ายรถยนต์ไม่หนีหายไปกันได้ง่ายๆ เพราะแต่ละค่ายก็ลงทุน ลงแรง กันมานานพอสมควร ยังพอมีเรี่ยวแรงที่จะสู้ต่อไป และไม่ถอดใจง่ายๆ หรอก ด้านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็บอกข่าวดีออกมาแล้ว ว่าสมาชิกอาเซียน ต่างลงนามในข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN MRA on Type Approval for Automotive Products: ASEAN APMRA) ผ่านช่องทางทางการทูต ซึ่งเป็นข้อตกลงยอมรับร่วมฯ ที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนปีที่ผ่านมาได้ผลักดัน จนสมาชิกอาเซียนสามารถสรุปผลการเจรจาได้ หลังจากเริ่มการเจรจามาตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้ ประเทศที่ร่วมลงนามแล้ว ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม สิงคโปร์ และไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเวียนให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่เหลือลงนาม ซึ่งคาดว่าจะลงนามครบทั้ง 10 ประเทศภายในปลายปีนี้ เจ้า APMRA กำหนดให้ประเทศสมาชิกยอมรับผลการทดสอบที่ออกโดยหน่วยให้บริการทางเทคนิคที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และรับรองว่าจะไม่กำหนดให้มีการทดสอบซ้ำ (Retesting) ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ ระบบยานยนต์ และส่วนที่ติดกับรถยนต์ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามสะดวกขึ้น หลังจากมีปัญหามาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แล้วใครว่าอุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเราย่ำเท้าอยู่กับที่ ในเมื่อภาครัฐก็ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่อย่างนี้