ในปัจจุบันนี้ ทราบกันหรือเปล่าว่า ชิ้นส่วนประกอบที่ติดตั้งภายในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีการเลือกใช้พลาสติคกันเกือบ 30 % ของชิ้นส่วนทั้งหมด และพลาสติคทุกชิ้น ก็มาจากโครงสร้างของการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่นำมาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้มีความแข็ง, ทนทานต่อความร้อนได้เป็นเวลานาน ในขณะเดียวกันต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้วย แต่ปัญหา คือ การนำพลาสติคพวกนี้กลับไปรีไซเคิล หลังจากหมดอายุการใช้งาน จะค่อนข้างยากทีเดียวค่าย Audi จับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Karlsruhe Institute of Technology (KIT) ในเยอรมนี หาวิธีการใหม่ๆ เพื่อการรีไซเคิลพลาสติค ที่หมดอายุการใช้งานจากเศษซากของรถยนต์เก่า การศึกษาครั้งนี้ เพื่อศึกษาวิธีการทางเคมี ในการรีไซเคิลพลาสติค หลายๆ ส่วนพัฒนาขึ้นมาด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน จะสามารถทำการรีไซเคิล ได้ด้วยวิธีการทางเคมีแบบไหน เพื่อให้สะดวกต่อการทำงานมากที่สุด Audi ประเมินว่า จะสามารถหาวิธีการ หรือทฤษฎีในการทำงานแบบใหม่ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติคจากชิ้นส่วนของรถยนต์ เพื่อให้สามารถนำพลาสติคเหล่านั้น กลับมาใช้งานในกระบวนการผลิตได้อีกครั้ง โดยพนักงานจากโรงงานประกอบ Ingolstadt จะเป็นผู้จัดหาพลาสติคชนิดต่างๆ โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการใช้จากสายการผลิตแล้ว ให้แก่มหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่กระจังหน้า, ถังน้ำมัน และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ มหาวิทยาลัยฯ จะเป็นผู้นำไปใช้ในกระบวนการทางความร้อน เพื่อให้กลับเป็น Pyrolysis Oil ซึ่งจะมีคุณภาพเทียบเท่ากับน้ำมันที่ได้จากฟอสซิล เพื่อนำกลับไปผลิตเป็นชิ้นส่วนพลาสติคอีกครั้งหนึ่ง เป้าหมายการทดลองก็คือ สามารถนำพลาสติคที่ได้จากการรีไซเคิลใหม่นี้ นำไปผลิตเป็นพลาสติคชิ้นใหม่ เพื่อนำกลับมาใช้ในกระบวนการประกอบรถยนต์อีกครั้งหนึ่ง สำหรับ Audi กระบวนการรีไซเคิลพลาสติคใช้แล้วนี้ ถือเป็นโครงการนำร่อง ที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการรีไซเคิลวัสดุจากพลาสติค ซึ่งขยายวงกว้างมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ เป็นการประหยัดพลังงาน ค่าใช้จ่าย และที่สำคัญ คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม