ก็เป็นสิ่งที่เราพบเห็นกันเป็นประจำทุกวัน ว่าสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจบ้านเราเวลานี้ ขับเคลื่อนกันด้วยมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายจากภาครัฐ เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว บ้านอื่นเมืองอื่นยังไม่สามารถต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรง COVID-19 ได้ ในบ้านเราก็ถูกพม่าตีเมืองเข้ามาที่สมุทรสาคร จากตลาดกลางกุ้ง และอีกหลายที่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ 100 % ก็ต้องยอมรับ คนไทยเราควรมีการดำรงชีวิตอยู่อย่างระมัดระวังให้ทั่วถึงกัน ป้องกันด้วยสุขอนามัยในแบบ 100 % ให้ได้ส่วนตลาดรถยนต์ก็ต้องยอมรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวม ว่าค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ ด้วยยอดจำหน่ายในบ้านเราเอง ส่วนเรื่องส่งออก ก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกยาวนาน กว่าจะฟื้น ยอดการขายรถยนต์ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา ขายกันได้ทั้งตลาด 688,057 คัน ลดลง 25.1 % และจากงานแสดงรถยนต์ "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37" ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จ สามารถจำหน่ายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ได้ถึง 38,699 คัน ทำให้ประเมินกันว่า ยอดขายปี 2563 น่าจะทะลุขึ้นไปถึง 770,000 คัน หรือหดตัวราว 23.6 % ก็ย่อมเป็นไปได้ แต่กระนั้น ในปี 2564 ทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง ในกรณีเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายประเมิน และภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องดึงมาตรการลอคดาวน์มาใช้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อีก แม้ว่าจะมีมาตรการแบ่งโซนเป็นสีต่างๆ เพื่อการดูแลที่ทราบกันอยู่ คาดกันว่าทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะขยายตัวได้กว่า 7 % ถึง 11 % คิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นสู่ตัวเลข 825,000 ถึง 855,000 คัน และคาดว่ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์กลุ่ม xEV จะเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด ที่ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็เพราะหากมาตรการส่งเสริมใหม่ของบีโอไอ สามารถดึงการลงทุนเข้ามาปีหน้าได้มาก และภาครัฐมีการออกมาตรการส่งเสริมตลาดเข้ามาเพิ่มเติม ที่เน้นสนับสนุนรถยนต์กลุ่ม xEV ก็น่าจะช่วยให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2564 ยอดขายรถยนต์กลุ่ม HEV และ PHEV น่าจะมียอดขายประมาณ 48,000 ถึง 50,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 10 % ถึง 23 % ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 17 % คิดเป็นยอดขาย 31,000 คัน ขณะที่รถยนต์ BEV น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000-5,000 คัน ขยายตัวกว่า 176 % ถึง 245 % ขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 102 % คิดเป็นยอดขาย 1,450 คัน นอกเหนือจากนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.4 และเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.1 จากระดับ 91.9 ในเดือนตุลาคม 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภค และการลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งแสดงว่า ผู้ประกอบการมีความมั่นใจต่อการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอนู่ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และในประเทศ ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการลักลอบเข้าเมือง รวมถึงการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก และรายได้จากการส่งออกลดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า ทำให้มีภาระต้องจ่ายอัตราค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 และเร่งจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งค่าเงินบาท ที่อยากให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันได้ เราคนไทยก็ต้องรับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ด้วยภาวะสุขอนามัยที่สามารถป้องกันตัวเองจากโรคระบาดให้ได้ เพื่อจะได้ก้าวไปด้วยกันในปี 2564 อย่างมีความสุข