รายงานผลงานของเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีท่ามกลางข่าวสารโรคระบาด เมื่อบ้านเราสามารถผลิตรถยนต์สำเร็จรูปได้ทั้งสิ้น 162,515 คัน เพิ่มขึ้น 10.70 % จากการผลิตรถกระบะเพื่อส่งออก การผลิตรถยนต์นั่ง รถ พีพีวี และรถบรรทุกเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้น 14.78 %, 130.17 % และ 37.06 % มกราคม-มีนาคม 2564 ผลิตทั้งสิ้น 465,833 คัน เพิ่มขึ้น 2.68 %ทั้งนี้ ทั้งนั้น ต้องยอมรับรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ณ เดือนมีนาคม ที่ประเมินว่า ปริมาณการค้าโลก (World Merchandise Trade) ในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 8.0 % เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 7.2 % อันจะเป็นผลดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าการประเมินครั้งก่อนด้วยเช่นกัน นี่ว่ากันเฉพาะเดือนมีนาคม เท่านั้น ส่วนเดือนต่อมา ที่เกือบจะต้องลอคดาวน์ ก็ต้องค่อยว่ากันใหม่อีกที แต่ก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน อย่าลืมดูแลตัวเองกันให้ดี ให้ปราศจากโรคาพยาธิ รักษาสุขภาพกันให้แข็งแรงสืบต่อไป และเพื่อให้ทันกับยุคกับสมัย หนนี้ก็จะว่ากันด้วยเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานจากแบทเตอรี ที่ท่านรองนายกฯ และรมต. พลังงาน จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เป็นครั้งแรกของปี เมื่อปลายเดือนมีนาคม เพื่อกำหนดเป้าหมายใหม่ในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งต้องเป็นรถยนต์ ZEV หรือรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษให้ได้ในปี 2578 หรือ อีก 14 ปีข้างหน้า ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมในปี 2583 หรือเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 ปี ขณะที่ในปี 2573 จะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ถึง 50 % ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิด ผลการประชุม มีการแต่งตั้งอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้า, พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน, ประเมินผลกระทบด้านเชื้อเพลิง และส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ภาครัฐเริ่มตื่นตัวที่จะก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก แต่ขอกราบเรียนท่านเอาไว้ตรงนี้ ว่าท่านได้คุยกับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย บ้างหรือเปล่า โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่จะนำมาประกอบกันเป็นรถยนต์ 1 คัน ปัจจุบัน ถ้าเป็นรถที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะใช้ชิ้นส่วนอยู่ราว 30,000 ชิ้น ถ้านับเป็นบริษัท ก็น่าจะไม่เกิน 5,000 บริษัท ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อันนี้ว่ากันคร่าวๆ รวมผู้ที่มีหน้าที่จัดหาชิ้นส่วนย่อย จัดส่งชิ้นส่วน และโลจิสติคส์ ที่เกี่ยวข้อง ก็เยอะอยู่พอสมควรทีเดียว ถ้าจะนับกันเป็นพนักงานที่ทำงานเกี่ยวข้อง ก็นับหมื่นคนทีเดียว ทีนี้ ถ้าจะให้เปลี่ยนแปลงการผลิต จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน มาเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จากชุดแบทเตอรี ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบ จะลดน้อยลงไปเยอะทีเดียว เฉพาะชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ ก็เกือบหมื่นชิ้นแล้ว จะให้บริษัทเหล่านี้ ปรับเปลี่ยนไปทำอะไรดีครับ ท่านว่าต้องเป็นหน้าที่ของใคร จะต้องลงมาทำตรงนี้ หรือจะปล่อยเป็นไปตามยถากรรม ปล่อยให้ขาดทุน จากการที่สั่งเครื่องจักร เครื่องยนต์ นำมาใช้ในงานการผลิต แล้วยังไม่สามารถใช้เครื่องจักร หรือเครื่องยนต์ ให้คุ้มกับค่าของเงินที่สั่งซื้อมา อันนี้ท่านจะให้เอาไปขายเป็นเศษเหล็กหรืออย่างไรครับ ก็ไม่ได้จะมาติเรือทั้งโกลน ว่ายังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรกันเลย ก็มาติไปก่อนแล้ว แต่อยากให้ท่านมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ลองดูว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ที่ได้รับการส่งเสริมการผลิตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว เขาจะทำกันอย่างไร ต้องปรับตัว อย่างน้อยให้มีข่าวว่า ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทาง ก็ยังเป็นเรื่องดี ไม่ใช่จะมุ่งแต่ทำเรื่องรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แค่ผู้ประกอบการที่มีภาพการลงทุนในธุรกิจแบทเตอรีที่ชัดเจน ณ ปัจจุบัน ก็มีอยู่แค่ 4 ราย เท่านั้นเอง ส่วนผู้ประกอบการมอเตอร์ ก็มีผู้ประกาศแผนโครงการพัฒนามอเตอร์สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจคอนทโรลเลอร์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ภายในตัวรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ที่มีเพียงหนึ่งเดียว แล้วรถยนต์ไฟฟ้า จะมีผู้หาญกล้ามาลงทุนใหม่อีกสักกี่ราย ไม่ต้องพูดถึงค่ายที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้ว ว่าจะทำกันจริงตามที่ได้รับส่งเสริมหรือเปล่า อันนี้ใครจะรับรองนะครับ จะกรุณาจัดการประชุมเรื่องผลกระทบจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากับผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอีกสักรอบ จะเป็นพระคุณยิ่ง ขอแสดงความนับถืออย่างสูง