เมื่อเข้าสู่หน้าฝน เป็นฤดูที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด วันนี้เรามาเชคความพร้อม เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และความปลอดภัยยิ่งขึ้น
ใบปัดน้ำฝน : ตรวจสอบยางปัดน้ำฝน ว่าปัดแล้วไม่เกิดคราบน้ำบนกระจก เพราะหากเจอฝนตกหนัก คราบน้ำจะบดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ หรือเพื่อความมั่นใจ ให้เปลี่ยนยางใบปัดน้ำฝนใหม่เมื่อเข้าสู่หน้าฝน
เชคสภาพยาง : เพื่อรับมือหน้าฝนยางรถของเราต้องอยู่ในสภาพดี โดยตรวจสอบว่าเนื้อยางไม่แห้งแข็ง แก้มยางไม่ชำรุด และดอกยางยังหนา หากพบเนื้อแตกลายงา หรือดอกสึกจนเลยสะพานยาง ต้องเปลี่ยนใหม่ทันที และต้องเติมลมยางให้อยู่ในระดับที่ผู้ผลิตรถกำหนด
ระบบเบรค : เมื่อเจอถนนเปียกลื่น ระบบเบรคสำคัญที่สุด โดยต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา เราต้องหมั่นตรวจเชคความหนาของผ้าเบรค และตรวจสอบรอยรั่วของน้ำมันเบรคตามสาย หากพบความผิดปกติให้รีบเปลี่ยนทันที
ไฟส่องสว่าง : ตรวจเชคระบบไฟส่องสว่างทั้งคัน ตั้งแต่ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรค ไฟเลี้ยว ไฟฉุกเฉิน ไฟตัดหมอก รวมถึงไฟห้องโดยสาร ทำงานครบถ้วนเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าพบดวงใดชำรุด หรือไม่สว่างดังเดิม ต้องเปลี่ยนทันที
ดูแลเครื่องยนต์ : ตรวจเชคเครื่องยนต์ให้พร้อมก่อนลุยฝน โดยตรวจเชคจุดต่อสายไฟ และอุปกรณ์ที่อาจเกิดความเสียหายจากน้ำ และความชื้น เช่น คอยล์จุดระเบิด จานจ่าย สายหัวเทียน และกล่องอีเลคทรอนิคส์ ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้หรือไม่ มีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปทำความเสียหายได้หรือเปล่า
ขับช้า ยามฝนตกหนัก : ขณะฝนตก เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ให้ขับช้าๆ อย่ารีบร้อน ซึ่งการใช้ความเร็วต่ำจะทำให้ยางยึดเกาะกับพื้นถนนได้แนบสนิท และสมบูรณ์มากที่สุด ช่วยลดการลื่นไถล
เว้นระยะจากคันหน้า : สภาพถนนที่ลื่น ทำให้ต้องใช้ระยะเบรคเพิ่มขึ้นกว่าปกติ จึงต้องใช้ความเร็วให้เหมาะสม หรือลดระดับความเร็วลงมาจากที่ขับปกติ พร้อมกับเว้นระยะห่างคันหน้าประมาณ 10-15 เมตร หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถหยุดรถได้ทัน อีกทั้งการทิ้งระยะห่างจากคันหน้าจะสามารถทำให้เราเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เสมอ
ไม่ขับลุยแอ่งนํ้า : การขับรถผ่านแอ่งน้ำขังด้วยความเร็วสูง จะทำให้รถ “เหินน้ำ” อาจมีการทำให้ล้อหมุนลอยอยู่บนน้ำ และเกิดการลื่นไถล วิธีแก้ไข ถอนคันเร่งช้าๆ เพื่อลดความเร็ว จับพวงมาลัยให้มั่นคง จนกว่าการทรงตัวจะกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้น ต้องชะลอความเร็วก่อนที่จะผ่านแอ่งน้ำ และขณะข้ามแอ่งน้ำไม่ควรเหยียบคันเร่ง หรือเบรค เพราะอาจทำให้รถเสียการควบคุม
อย่าเหยียบเบรคกะทันหัน : ไม่เหยียบเบรคกะทันหัน เพราะอาจทำให้รถเสียการทรงตัวจากถนนที่ลื่น แต่ควรแตะเบรคทีละนิด เพื่อช่วยไล่น้ำออกจากผ้าเบรค ทำให้ระบบเบรคทำงานได้เป็นปกติ
เสี่ยงนักพักจอด : หากเจอฝนตกหนักมาก จนไม่สามารถมองเห็นทัศนวิสัยข้างหน้าได้ชัดเจน ให้หาที่จอดปลอดภัย เช่น ในปั๊มน้ำมัน หรือในจุดที่มีแสงสว่าง รอจนฝนเบาลงแล้วค่อยเดินทางต่อ
สิ่งที่ต้องย้ำกันทุกหน้าฝน คือ ห้ามเปิดไฟฉุกเฉินวิ่งขณะฝนตก หลายคนอาจคิดว่า การเปิดไฟฉุกเฉินจะช่วยให้คันอื่นเห็นรถตัวเองง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริง การเปิดไฟฉุกเฉินวิ่งท่ามกลางสายฝน จะทำให้รถคันอื่นไม่สามารถรู้ได้เลยว่า รถของคุณจะเปลี่ยนเลน หรือจะเลี้ยวตอนไหน อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
6 ข้อต้องรู้ ! รถ EV หน้าฝน รอดหรือร่วง ?
1. ช่วงฝนตก รถ EV ใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ ?
รถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้ตามปกติแม้โดนฝน เพราะมอเตอร์ แบทเตอรี และอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีด้วยฉนวนไฟฟ้า รวมถึงมีเซนเซอร์ตรวจจับไฟฟ้ารั่ว และระบบป้องกันการลัดวงจรลงดิน
2. ชาร์จรถ EV ขณะฝนตก ปลอดภัยหรือไม่ ?
แท่นชาร์จของทุกบริษัทออกแบบตามมาตรฐาน และมีระบบป้องกันเป็นอย่างดี โดยจะมีช่องที่สามารถระบายน้ำได้ แม้ในช่วงฝนตก ทำให้ไม่มีน้ำขังบริเวณหัวประจุ รวมถึงมีการติดตั้งระบบตัดไฟรั่ว ไฟเกิน (Circuit Braker) และลงสายดินเอาไว้ทุกตู้ ทั้งนี้ ตัวรถส่วนใหญ่ยังมีซีลป้องกันน้ำฝนกระเด็นเข้าไปยังขั้วชาร์จไฟฟ้า ซึ่งระบบเซนเซอร์จะตัดกำลังไฟฟ้าทันทีหากพบกระแสไฟรั่วในวงจร
3. ขับรถไฟฟ้าลุยน้ำท่วม ได้ไหม ?
รถยนต์ไฟฟ้ามีการทดสอบ IP RATING (Ingress Protection) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานในการป้องกันของแข็ง และของเหลวเข้าภายในตัวรถ โดยค่ามาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปอยู่ที่ IP67 ไปจนถึง IP68 การันตีได้ว่าสามารถป้องกันความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม (แต่อย่าลืมเชคสเปครถว่าสามารถจมน้ำได้ในระดับไหน)
4. อุปกรณ์ EV Charger กันน้ำได้หรือไม่ ?
อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charger เช่น ปลั๊กชาร์จในตัวรถ, พอร์ทชาร์จ หรือสายชาร์จ สามารถกันน้ำได้ 100 % เพราะถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ และน้ำ
แบทเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ด้านล่างตัวรถ ดังนั้น บริษัทรถยนต์จึงออกแบบระบบให้ป้องกันน้ำได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งระดับการป้องกันน้ำ บางบริษัทจะระบุเป็นโคด “IP” และค่า IP รถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้มาตรฐาน จะต้องไม่ต่ำกว่า IP67 และสูงจนถึงระดับ IP69 โดยมาตรฐาน IP มีตัวเลขแสดงระดับการป้องกันอยู่ 2 หลัก หลักแรกแสดงถึงระดับการป้องกันจากของแข็ง รวมไปถึงฝุ่น มีตั้งแต่ระดับ 0-6 หลักที่ 2 แสดงระดับการป้องกันของเหลว ตั้งแต่ 0-8 ซึ่งค่ามาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปอยู่ที่ IP67