ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนยางรถไฟฟ้า คุณจะใช้ยางรุ่นเดิมไหม หรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการยางที่มีคุณสมบัติอย่างไร และคุณมีวิธีการขับขี่อย่างไร
Tire Rack ผู้ขายยางออนไลน์ ได้ทดลองใช้ยางที่ต่างกันถึง 9 ชุด กับรถไฟฟ้า Tesla Model 3 เพื่อหาข้อสรุปว่า ยางรุ่นไหนตอบสนองความต้องการได้มากที่สุด โดยเลือกจากยางผลิตเฉพาะสำหรับใช้กับรถไฟฟ้า 5 รุ่น ยาง Grand Touring สำหรับทุกฤดูกาล 2 รุ่น และยางสมรรถนะสูง (Ultra High Performance) สำหรับทุกฤดูกาลจาก Michelin, Continental, Goodyear, Hankook, Yokohama และ Pirelli
ขั้นตอนการทดสอบ คือ บนถนนปกติ ด้วยเส้นทางแบบวนรอบใกล้กับสำนักงานใหญ่ที่ South Bend ซึ่งมีระยะทางถึง 6.0 ไมล์ (9.65 กม.) ประกอบไปด้วย ทางด่วน, ถนนข้ามรัฐ และถนนในชนบท ในเส้นทางทดสอบมีการจำกัดระดับความเร็วในเมือง และไฮเวย์ ทั้งมีสภาพผิวถนนคอนกรีทเรียบ และหยาบ รวมถึงแอสฟัลท์ใหม่ และถูกซ่อมแซม
การทดสอบหาค่าระยะทาง/ประสิทธิภาพ โดยวิ่งวนรอบระยะทาง 100 ไมล์ (160 กม.) และคำนวณความสิ้นเปลืองกระแสไฟเป็นหน่วยวัตต์ชั่วโมงต่อไมล์ โดยใช้จอแสดงผลการเดินทางของ Tesla ประกอบการคำนวณความสิ้นเปลือง โดยใช้ Tesla Model 3 ที่ชาร์จแบทเตอรีเต็ม
รวมถึงการทดสอบบนเส้นทางเปียก และแห้ง ในสนามทดสอบความยาว 1/3 ไมล์ (5.3 กม.) ที่มีมุมเลี้ยวแบบ 90 องศาเหมือนถนนจริง วิ่งสลาลอมโดยใช้กรวยยาง 5 ตำแหน่ง และสภาพจำลองทางลาดขึ้นทางด่วน โดยใช้สำหรับทดสอบการยึดเกาะ, การบังคับควบคุม, การทรงตัว, การเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน และการขับขี่ลักษณะแข่งขัน
ผลการทดสอบที่ได้ ยางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับรถไฟฟ้า คือ Hankook iON evo AS มีอัตราสิ้นเปลือง 263 วัตต์ชั่วโมง/ไมล์ (163 วัตต์ชั่วโมง/กม.) ส่วน Goodyear ecoReady ตามมาอันดับที่ 2 ด้วยความสิ้นเปลือง 269 วัตต์ชั่วโมง/ไมล์ (167 วัตต์ชั่วโมง/กม.) และ Continental ProContact RX (T1) อันดับที่ 3 ด้วยความสิ้นเปลือง 272 วัตต์ชั่วโมง/ไมล์ (169 วัตต์ชั่วโมง/กม.)
หากต้องการยางที่มีการควบคุมในโค้งดี สำหรับ Tesla Model 3 คือ Michelin PilotSport 4S แต่ต้องแลกกับความสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้ามากขึ้น และ Tire Rack แนะนำว่าเจ้าของรถไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ยางที่ผลิตสำหรับรถไฟฟ้าเท่านั้น
การเลือกใช้ยางที่เหมาะกับตัวรถ ต้องพิจารณาคุณสมบัติของยางที่สามารถรองรับน้ำหนัก, ระดับความเร็วที่ใช้ และขนาดยางที่เหมาะสมสำหรับการใช้กับรถ รวมถึงความต้องการใช้งานของผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับระยะทาง (ประสิทธิภาพ) หรือความสามารถในการยึดเกาะ (สมรรถนะ) ซึ่งสามารถพิจารณาได้ และเจ้าของรถไฟฟ้าต้องตระหนักว่าลักษณะการขับขี่มีผลโดยตรงต่อระยะทาง และความสึกหรอของยาง “ยิ่งขับขี่อย่างดุดันก็ยิ่งทำให้มีระยะเดินทางสั้นลง”