กระทรวงการคลัง เดินเครื่องดันมาตรการเก็บ “ภาษีคาร์บอน” เร็วๆ นี้ คาดมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567
กระทรวงการคลัง เผยว่าไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยเตรียมผลักดันด้านภาษี และมาตรการทางการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ สำหรับราคาของคาร์บอน (Carbon Price)
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอนที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมัน และผู้บริโภค เพราะจะใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต (ภาษีคาร์บอนจะครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงทั้งหมด)
ภาษีคาร์บอน Carbon Tax เป็นค่าธรรมเนียม หรือภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากการผลิต การจำหน่าย หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน แกสธรรมชาติ หรือถ่านหิน เมื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงพวกนี้แล้วจะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ และถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก การเรียกเก็บภาษี หรือค่าธรรมเนียมนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของแกสคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาในแต่ละครั้งของการดำเนินกิจกรรมของโรงงาน โรงไฟฟ้า และยานยนต์ต่างๆ
สำหรับการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในบ้านเราระยะแรกนั้น จะครอบคลุมน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าในพิกัดสรรพสามิต ได้แก่ เบนซิน, แกสโซฮอล E10, แกสโซฮอล E20, แกสโซฮอล E85, น้ำมันก๊าด, น้ำมัน JET, ดีเซล B5, ดีเซล B10, แกส LPG และน้ำมันเตา ยังไม่ครอบคลุมเชื้อเพลิงถ่านหิน และแกสธรรมชาติ โดยแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนของไทยจะเป็นไปตามแนวทางสากล คือ การนำปริมาณการปล่อยแกสเรือนกระจกของสินค้าน้ำมันแต่ละประเภทนำมาคูณกับราคาคาร์บอน ซึ่งกำหนดโดยรัฐบาล ไทยตั้งเป้าไว้ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอน
เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้ว จะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ดังนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม ซึ่งสมการคิดของภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน
ต่อจากนี้ประเทศไทยจะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน มาตรการทางภาษีนี้จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะจะทำให้เสียภาษีคาร์บอนที่ต่ำลง ส่งผลให้เกิดการหาน้ำมันที่สะอาดขึ้น ถือเป็นการใช้มาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่างๆ ซึ่งหากไม่สนใจ หรือละเลยสิ่งแวดล้อม ราคาที่ต้องจ่ายก็จะสูงขึ้น
กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบทเตอรี ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบทเตอรีอัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบทเตอรีชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบทเตอรีแต่ละชนิด สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตแบทเตอรีสะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ที่ผ่านมากรมสรรพสมิต ใช้มาตรการสนับสนุนในมิติของรถ EV ไม่ว่าจะเป็น EV 3.3 และ EV 3.5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และผลิตรถ EV ชดเชยในประเทศไทย ซึ่งจะต้องมีรถผลิตชดเชยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ไทยสนับสนุนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถ EV และยังได้สิทธิประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม