ข่าวจากประเทศอังกฤษ GMA T.50 ผลงานการออกแบบสุดล้ำของ Gordon Murray พ่อมดด้านอากาศพลศาสตร์แห่งวงการรถแข่ง และซูเพอร์คาร์ ไม่ได้ออกแบบ T.50 ให้ใช้พัดลมดูดอากาศจากใต้ท้องอย่างที่ถูกเข้าใจผิด
Gordon Murray เคยออกแบบรถแข่งสูตร 1 Brabham BT46B ซึ่งสร้างผลการแข่งขันโดดเด่น แต่ต้องถอนตัวจากการแข่งขันในที่สุด หลังการแข่งขันในสนามแรก ซึ่งตัวรถสร้างแรงกดมหาศาลด้วยพัดลมติดตั้งท้ายรถ เพื่อดูดอากาศจากใต้ท้องรถ โดยขอบล่างของตัวรถถูกซีล ด้วยหลักการเหมือนแปรงของเครื่องดูดฝุ่น
แต่กติกาการแข่งขันกำหนด “ห้ามมีชิ้นส่วนด้านอากาศพลศาสตร์ที่เคลื่อนไหวได้” Gordon Murray อ้างว่าเป็นพัดลมระบายความร้อน ซึ่งบังเอิญดูดลมขึ้นมาจากใต้ท้องรถ โดยเขามักใช้แนวคิดการลดน้ำหนักในรถแข่ง เช่น อุปกรณ์ 1 อย่าง ทำงานได้ 2 หน้าที่
สำหรับการทำงานของพัดลมใน GMA T.50 ต่างออกไป แม้สร้างแรงกดจริง แต่ไม่ใช้การดูดอากาศขึ้นมา โดยต้องปรับรูปทรงของดิฟฟิวเซอร์ และปีกดักลมท้ายรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ปกติในซูเพอร์คาร์จะมีดิฟฟิวเซอร์บริเวณใต้ท้ายรถ ทำหน้าที่ลดความเร็วของกระแสลมที่ไหลออกมาจากใต้ท้อง เพื่อให้บรรจบกับกระแสลมที่ไหลข้ามด้านบนตัวรถได้พอดี
เพื่อลดความเร็วของกระแสลมใต้ท้อง จึงต้องออกแบบดิฟฟิวเซอร์ที่มีมุมชันมาก จะได้มีช่องว่างขนาดใหญ่ ช่วยให้กระแสลมช้าลง แต่การออกแบบให้มีมุมชันมากเกินไปทำให้กระแสลมแตกตัวที่มุมบน จนกลายเป็นกระแสลมหมุนวน (Turbulent)
พัดลมดูดอากาศทำหน้าที่ดูดกระแสลมหมุนวน ด้วยปากท่อดูดลมที่ผนังด้านบนของดิฟฟิวเซอร์ และกระแสลมส่วนอื่นสามารถไหลออกไปท้ายรถได้ตามปกติ ขณะเบรคปีกดักลมหลังจะปรับมุมยกขึ้น ทำให้เกิดแรงกด และแรงต้านลมอย่างรุนแรง จนทำให้การเบรคจากความเร็ว 240-0 กม./ชม. มีระยะเบรคลดลงถึง 10 ม. หากต้องการเพิ่มแรงกดขณะขับก็สามารถปรับมุมปีกขึ้นเพียงเล็กน้อย
ขณะใช้ความเร็วสูงปรับปีกดักลมหลังราบลง โดยมีช่องรับลมบนตัวรถก่อนถึงปีกดักลม ซึ่งพัดลมจะเป่าให้กระแสลมพุ่งออกไปอย่างแรงด้านท้ายรถ เป็นหลักการเดียวกับการออกแบบท้ายรถแข่งแบบหางยาว ซึ่งสามารถลดการเกิดกระแสลมหมุนวนลง เพิ่มเสถียรภาพให้แก่รถในความเร็วสูงมากขึ้น
ขณะช่วงความเร็วต่ำปรับปีกดักลมหลังราบลง และปิดช่องรับลมที่ดิฟฟิวเซอร์บางส่วน ทำให้เกิดกระแสลมหมุนวนในดิฟฟิวเซอร์เล็กน้อย มีแรงต้านลมน้อยลง แรงกดลดลง แรงกดกระทำต่อระบบรองรับน้อยลง จึงใช้พลังขับเคลื่อนน้อยลง
GMA T.50 จึงมีส่วนท้ายโดดเด่นจากพัดลมดูดอากาศเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 400 มม. ขึ้นรูปอย่างประณีตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ใช้มอเตอร์กระแสไฟ 48 โวลท์ มีรอบทำงานถึง 7,000 รตน.
สำหรับอีกผลงานของ Murray คือ McLaren F1 ที่มีพัดลมดูดอากาศขนาดเล็ก 2 ชุดซ่อนอยู่บริเวณท้ายรถ ทำหน้าที่ดูดอากาศจากด้านบนของดิฟฟิวเซอร์เหมือนกับ GMA T.50 ซึ่งทำหน้าที่ระบายความร้อนระบบอีเลคทรอนิคส์ โดยคงหลักการเดิม คือ ใช้อุปกรณ์ 1 อย่าง ทำงาน 2 หน้าที่ ทั้งด้านอากาศพลศาสตร์ และการระบายความร้อน