ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า คาดหวังว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า รถไฟฟ้าจะทำยอดขายได้มากขึ้น โดยบริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาแล้ว และพบว่าบริษัทผู้ผลิตต้องเปลี่ยนเป้าหมายจากกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีไปยังกลุ่มลูกค้าหลัก
จากการวิจัยกลุ่มผู้ซื้อรถเครื่องยนต์สันดาปภายในจำนวน 6,000 คนในสหรัฐฯ, ประเทศจีน, อิตาลี, เยอรมัน, ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ได้ข้อสรุปว่า อีก 10 ปีข้างหน้า จะมี 57 % ของเจ้าของรถที่เปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า, ส่วนอีก 43 % ของเจ้าของรถ ได้ตัดสินใจแล้วว่ารถคันต่อไปจะเป็นรถไฟฟ้า
ตลอดเวลาที่ผ่านมายอดขายรถไฟฟ้าไม่ได้เพิ่มขึ้นตามแผน โดยการเก็บตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า พบว่าในปี 2566 ยอดขายรถไฟฟ้าเพิ่ม 35 %, ลดลงจากปี 2565 ที่ทำยอดขายเพิ่มถึง 55 % และ 121 % ในปี 2564 จากการวิจัยเชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าต้อง “ปรับแผนกลยุทธ์ใหม่” หากต้องการเพิ่มยอดขายรถ
แทนที่จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทผู้ผลิตใช้เป็นจุดขายให้แก่ลูกค้าในช่วงแรก “บริษัทวิจัย” มองว่าบริษัทผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญแก่กลุ่มลูกค้าหลัก ซึ่งต้องการรถที่ใช้งานได้จริง โดยลูกค้ากลุ่มใหญ่ถึง 80 % ให้ความสำคัญกับรถที่ไม่มีปัญหาจุกจิก, มีความปลอดภัย และมีระดับราคาที่เอื้อมถึง จึงแนะนำให้บริษัทผู้ผลิตปรับลำดับความสำคัญใหม่
บริษัทวิจัยได้แยกกลุ่มลูกค้าตามหลักจิตวิทยา พบว่ากลุ่มคนมองการณ์ไกล และกลุ่มชอบความแตกต่าง ต้องการรถที่ดูดีมีราคา เช่น รถที่หรูหรา, สะดวกสบาย, เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยี และเป็นที่ยอมรับในสังคม ส่วนกลุ่มผู้ใช้รถจริงๆ มองว่ารถเป็นเพียงอุปกรณ์ใช้งาน, กลุ่มอนุรักษนิยม เน้นรถที่ไม่จุกจิก และเป็นกลุ่มที่ต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะยอมรับรถไฟฟ้า, กลุ่มมัธยัสถ์ จะเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเมื่อราคาลดลงมาอยู่ในระดับที่พอใจเท่านั้น
เหตุผลที่ทำให้ยอดขายรถไฟฟ้าลดลง คือ รถไฟฟ้าขาดความน่าตื่นเต้น คนอเมริกันต้องการเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าน้อยลง และสุดท้าย คือ ความแตกต่างของสวัสดิการของแต่ละรัฐฯ ทั้งเงินชดเชย และปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสถานีชาร์จ
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าเจ้าของรถบางคนยอมจ่ายเงินซื้อรถไฟฟ้าเกือบ 40,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) เพื่อซื้อ Nissan Leaf หรือรถไฟฟ้ายุคแรกที่มีระยะเดินทางไม่ถึง 100 ไมล์ (160 กม.) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มเจ้าของรถไฟฟ้ายุคแรกต่างจากกลุ่มผู้ใช้รถไฟฟ้าหลักในปัจจุบันในหลายๆ ด้าน ขณะที่ผู้ใช้รถไฟฟ้ากระแสหลักต้องการรถไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริง และคำนึงถึงราคาค่าตัวรถที่จะต้องจ่าย หากบริษัทผู้ผลิตต้องการเพิ่มยอดขายอย่างจริงจัง ต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญเหล่านี้