ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่าขณะที่ตลาดรถไฟฟ้ามีการผันผวนจนผู้ผลิตรถไฟฟ้าหลายรายต้องปรับแผนการผลิต แต่บริษัทผู้ผลิตด้านเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง ยังสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้แหล่งพลังงานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
Panasonic ผลิตเซลล์แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน แบทเตอรีแบบใหม่ที่ทำให้รถไฟฟ้าวิ่งไกลขึ้น มีพละกำลังมากขึ้น และชาร์จได้เร็วขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นกล่าวว่าแบทเตอรีใหม่ จะเป็นการปฏิวัติวงการรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าทั่วไปใช้แพคแบทเตอรีประกอบไปด้วยชุดเซลล์เชื่อมต่อกัน ภายในแพคแบทเตอรีมีเซลล์แบบ 2170 หมายความว่า เซลล์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 21 มม. และสูง 70 มม. Panasonic ได้พัฒนาแบทเตอรีใหม่ แบบ 4680 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 มม. และสูง 80 มม.
แต่ละเซลล์ของ 4680 มีพลังงานมากกว่า 2170 ถึง 5 เท่า แต่พลังงาน 500 % ไม่ได้หมายความว่ารถไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 5 เท่า แต่ต้องการสื่อว่าในรถไฟฟ้าที่วิ่งได้ระยะทางเท่ากัน บริษัทจะสามารถลดการใช้วัตถุดิบน้อยลง ทำให้รถไฟฟ้ามีน้ำหนักน้อยลง เมื่อเบาขึ้นก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รถวิ่งได้เร็วขึ้น เมื่อเร็วขึ้นจะขับสนุกขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
เมื่อใช้แบทเตอรีใหม่กับรถไฟฟ้าน้ำหนักเบา แบทเตอรี 4680 ไม่เพียงแต่มีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่า ยังมีระดับพลังงานสูงกว่า ทำให้มีพลังขับเคลื่อนสูงกว่า ตอบสนองรวดเร็วกว่า ทำให้ผู้ขับขี่ได้รับความพึงพอใจ
ในแง่ของต้นทุน แบทเตอรี 4680 ย่อมมีราคาถูกกว่า การผลิตจะใช้วัตถุดิบน้อยลงในระดับพลังงานเท่ากัน ยกตัวอย่างเมื่อต้องการน้ำอัดลม 10 ลิตร ถ้าซื้อขนาด 2 ลิตร จำนวน 5 ขวด ราคาย่อมถูกว่าการซื้อขนาด 1 ลิตร จำนวน 10 ขวด หากซื้อแบบเหยือก 2 ลิตร จำนวน 5 เหยือก ราคาจะยิ่งถูกกว่า ทำให้มีประสิทธิภาพต้นทุนสูงกว่า เหมือนกับการผลิตแบทเตอรี
Panasonic ไม่เปิดเผยข้อมูลด้านเทคนิคเพิ่มเติม แต่บริษัทได้ทุ่มทุนในการเร่งผลิตแบทเตอรีแบบใหม่ โดยปรับปรุงโรงงานผลิตในญี่ปุ่นกินพื้นที่ถึง 6.55 แสนตารางฟุต (6.08 หมื่นตารางเมตร) เพื่อผลิตแบทเตอรีแบบ 4680 โดยเฉพาะ และจะผลิตเต็มกำลังได้ในเดือนมีนาคม ปี 2568
บทความแนะนำ