ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปัจจุบันการออกแบบรถรุ่นใหม่ ทั้งวิศวกร และนักออกแบบรถยนต์ต้องพึ่งพาอาศัยการวิเคราะห์ “พลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ” (Computational Fluid Dynamics หรือ CFD) โดยใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการแสดงทิศทางการไหลของกระแสอากาศที่เกิดขึ้นกับรถแนวคิด เพื่อให้วิศวกร และนักออกแบบร่วมกันปรับรูปทรงของรถ จนมีทิศทางการไหลของกระแสอากาศดีที่สุด โดยปรับเปลี่ยนรูปทรงของรถน้อยที่สุด นับเป็นการปรับปรุงรูปทรงของรถในทางปฏิบัติที่ดีแบบหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้นำการวิเคราะห์พลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณไปใช้ในเรื่องที่คาดไม่ถึง โดยการทดสอบด้านอากาศพลศาสตร์ของ Toyota Land Cruiser 40 Series เปรียบเทียบกับขนมปังหัวกะโหลก ไม่ผิดครับ...ขนมปังหัวกะโหลก
ผู้ทดสอบได้ทำการทดลองหาความลู่ลมของขนมปังหัวกะโหลก และได้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ ที่ 0.57 ซึ่งเป็นค่าปกติของรูปทรงแบบนี้ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ Land Cruiser ซีรีส์ 40 ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่ 0.66 และจากการวัดแรงยก Land Cruiser สร้างแรงยกถึง 52 ปอนด์ (23.6 กิโลกรัม) ที่ความเร็ว 45 ไมล์/ชม. (72 กม./ชม.) ส่วนขนมปัง เมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากันกลับไม่มีแรงยกเลย อาจเป็นเรื่องยากในการจินตนาการภาพของขนมปังที่วิ่งด้วยความเร็ว 45 ไมล์/ชม.
รูปทรงโค้งมนด้านบนของขนมปังหัวกะโหลก ช่วยให้กระแสอากาศสามารถไหลอย่างราบรื่นตลอดความยาวของขนมปัง โดยเกิดกระแสหมุนวนด้านท้ายของขนมปังเพียงเล็กน้อย, ส่วนพื้นด้านล่างที่แบนราบของขนมปังน่าจะให้ผลดี แต่มุมล่างด้านหน้าของขนมปังทำให้เกิดกระแสลมหมุนวน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับมุมฉากที่ฐานขนมปังให้กลมมนขึ้น, รูปทรงด้านหน้าของขนมปังมีพื้นที่หน้าตัดกว้าง และปะทะกระแสลม จนทำให้เกิดแรงฉุดกับขนมปังมาก
Toyota Land Cruiser 40 Series มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานสูงกว่า เกิดขึ้นจากความสูงของตัวรถ, รูปทรงด้านหน้าทรงสี่เหลี่ยม, ทั้งมียางขนาดใหญ่ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ด้านล่างรบกวนกระแสลมบริเวณใต้ท้องรถ จนทำให้เกิดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานสูงกว่า อย่างไรก็ตามการสร้างรถรุ่นนี้ ผู้ผลิตคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับความลู่ลมเท่ากับความแข็งแกร่ง, ทนทาน และการตอบสนองการใช้งานบนเส้นทางทุรกันดาร จนเป็นที่ยอมรับจนปัจจุบัน แม้จะมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานสูงกว่าขนมปังหัวกะโหลกก็ตาม