รอบรู้เรื่องรถ
จอดรถขวางทางแยก อยู่ที่จิตสำนึก
ผมคิดว่าผู้ใช้รถทุกคน คงเคยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกัน ตามที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ คุณมีนัดที่สำคัญยิ่ง และคุณก็เตรียมตัวมาอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องเวลาที่ใช้ในการเดินทางที่ได้เพิ่มไว้จากที่คาดหมาย แต่ก็อาจไม่เพียงพอสำหรับการจราจรใน กทม. ที่เกินกว่าจะคาดเดาได้ อาจมีรถชนท้ายกัน แค่เพราะไม่รักษาระยะห่างในการขับตามกัน หรือมีรถเครื่องยนต์เสียจอดขวางทางอยู่ เพียงเพราะความชุ่ยของช่างที่ซ่อม แน่นอนว่าคุณจะต้องจอดรอสัญญาณไฟเขียวตามแยกต่างๆ ถ้าไม่ถึง "คราวซวย" คุณก็คงพอผ่านไปได้แบบหวุดหวิด สายไปเพียงนิดหน่อย แต่ถ้าถึงคราวตามที่ว่า คุณจะพบว่า ถนนที่ขวางหน้าอยู่นั้นติดขัด มองข้ามหลังคารถคันหน้าไป คุณเริ่มโล่งใจที่ได้เห็นสัญญาณไฟเปลี่ยนจากแดงเป็นเขียว ความหวังที่จะไปถึงตรงเวลาตามนัดเริ่มกลับมา
คุณจับพวงมาลัยในท่าเตรียมพร้อม รอเพียงให้รถคันหน้าเริ่มเคลื่อนที่ แต่ความหวังที่จะพ้นแยกนี้ไปได้ในช่วงไฟเขียว กลายเป็นความฝันกลางแดด เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงรถบนทางขวางที่คุณเห็นเคลื่อนที่ในจังหวะที่คุณรอไฟเขียว หยุดนิ่งสนิท ขวางทางไว้หมดก่อนที่คุณจะได้รับสัญญาณไฟเขียว เวลาผ่านไปจนกระทั่งสัญญาณไฟสำหรับคุณเปลี่ยนเป็นแดง คุณรอจนกระทั่งได้ไฟเขียวอีกครั้ง ทุกอย่างเหมือนเดิม ไฟแดงกลับมาอีกครั้ง คุณอาจเริ่มถามตัวเองว่า ทำไมคุณจึงต้องเกิดมาในประเทศที่มีเพื่อนร่วมชาติ โง่เง่า และเห็นแก่ตัวขนาดนี้ด้วย
ก่อนที่จะคิดอะไรด้านลบต่อไปอีก คุณเริ่มมีความหวัง เพราะรถบนทางที่ขวางเริ่มขยับได้ พร้อมๆ กับที่คุณเห็นสัญญาณไฟเขียว คุณปฏิบัติตนเหมื่อนช่วงเริ่มต้นเพื่อเตรียมพาตนเองให้พ้นแยกนรกนี้ไปให้ได้ แม้ความหวังว่าจะไปทันตามนัดเริ่มริบหรี่ลงแล้ว ก่อนที่รถทั้ง 2 คันหน้ารถคุณจะขยับได้ คุณก็เห็นรถบนทางที่ขวาง มาหยุดนิ่งกลางสี่แยกนี้เหมือนเดิม คุณกวาดสายตาไปมองคนขับรถบนแถวข้างคุณมองกระจกเงาเพื่อดูอาการคนขับที่ต่อท้ายคุณ ทุกคนนิ่งเฉย เหมือนมันเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ ยกเว้นนักท่องเที่ยวผิวขาวสองคนในรถแทกซีที่ออกอาการฮึดฮัด เพราะไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนในชีวิต
ถ้าคุณเป็นคนรักชาติ รักศักดิ์ศรี และมีความรู้รอบตัวพอที่จะเข้าใจวัฒนธรรมและความคิดอ่านของชนชาติที่พัฒนาแล้วอยู่พอสมควร นอกจากความเครียดที่ไม่สามารถรักษาเวลาตามนัดได้แล้ว คุณจะรู้สึกอับอายขายหน้ามากที่ได้เห็นอาการสมเพชที่เขาแสดงออกต่อเพื่อนร่วมชาติและตัวคุณ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่สุดวิสัยแต่อย่างใดทั้งสิ้น มันคือการร่วมใช้ถนนสาธารณะอย่างไร้กฎระเบียบ เสริมด้วยความโง่เง่า และความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ
ที่จริงแล้วการแก้ปัญหาทำนองนี้ของชาติที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เขาไม่ได้รอให้ผู้คนมีน้ำใจ มีจริยธรรมสูงส่ง พร้อมที่จะเสียสละอะไรหรอกครับ เขาเริ่มต้นด้วยการออกกฎหมายครับ เมื่อเป็นกฎหมายซึ่งผู้คนจะต้องรับรู้ ไม่สามารถอ้างว่าไม่เคยเห็นเคยได้ยินแล้ว ก็ต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังก่อน มีเจ้าหน้าที่เอาใจใส่ ตรวจตรา จับปรับ หรือลงโทษรูปแบบใดก็ตาม เหมือนที่บัญญัติไว้ เมื่อเป็นที่รับรู้กันแพร่หลายทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ มาคอยเฝ้าจ้องจับผิดอีกต่อไป เขาควบคุมกันเองด้วยมารยาททางสังคมครับ ใครฝ่าฝืน หน้าด้าน ก็จะถูกผู้คนรอบข้างตำหนิ ด้วยสายตา วาจา หรือสัญญาณรูปแบบใดก็ตาม ที่เหมาะสม ไม่มียกเว้น เพราะคนดีต่างเข้าใจตรงกันว่าจำเป็นต้องอาศัยความสามัคคี แต่ถ้าเป็นพลเมืองพวกใกล้ตัวเรา คงหวังยากครับ เพราะมีพวกขี้เกียจเยอะ รอให้ผู้อื่นทำถือว่า "ธุระไม่ใช่"
ประเทศที่เจริญแล้ว จะมีกฎจราจรข้อนี้เสมอ คือ ห้ามไปจอดรถขวางทางผ่าน ง่ายๆ ครับ ตราบใดที่ยังมองไม่เห็น ว่าจะไปพ้นทางที่รถแนวอื่นจะต้องแล่นผ่าน คือบริเวณกลางสี่แยกทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีสัญญาณไฟหรือไม่ และรวมถึงสามแยกด้วย สำหรับการจราจรแบบขับชิดซ้ายเช่นประเทศเรา ก็จะต้องเว้นพื้นที่ไว้ ให้รถที่แล่นสวนมา และต้องการเลี้ยวขวา (เข้าถนนซ้ายมือของเรา) กับรถที่จะออกมาจากถนนทางซ้ายมือและต้องการเลี้ยวขวา สามารถผ่านไปได้ ต้องจับและปรับโดยไม่มีข้อยกเว้นครับ เพราะจะอ้างว่าไม่รู้หรือลืม หรือเบรคไม่ทัน ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะกรณีที่ว่านี้ จะเกิดที่ความเร็วต่ำมากเท่านั้น คือรถเกือบจะหยุดแล้ว แค่มองว่ารถคันหน้าเราจะหยุดเลยทางแยกไป จนเหลือระยะให้รถของเราไปหยุดได้ โดยไม่กีดขวางหรือไม่
แค่นี้เองครับ ถ้าจะให้ได้ผล ก็อาจจะต้องมีป้ายเตือน หรือเปรียบเทียบ ทำนองว่าผู้ฉลาด มีสติปัญญาระดับปกติ จะไม่หยุดรถยนต์ทางแยกขวางทางผู้อื่น เพราะคนไทยไม่ค่อยกลัวอะไร จะถูกรถชนตาย หรือชนอะไรเองจนตายเพราะเมา ก็ยังไม่กลัว กลัวอยู่อย่างเดียว ถูกสังคมจัดให้อยู่ในกลุ่มคนโง่ ยอมไม่ได้เด็ดขาด ใครที่ยังไม่อยากเชื่อ ดูเรื่องเลี้ยง "ลูกเทพ" เป็นตัวอย่างได้เลยครับ เลิกได้ทันที เพราะกลัวถูกประนามว่าโง่
เรื่องต้องรู้ ของเกียร์ซีวีที
เปลี่ยนเป็นเรื่องที่อ่านแล้วสบายไม่เครียดดีกว่าครับ ผมเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนไม่น้อย คงรู้จักชื่อเกียร์อัตโนมัติยุคปัจจุบันที่ใช้สายพานเหล็ก ปรับอัตราทดได้ต่อเนื่อง ไม่มีค่าอัตราการทดตายตัวเหมือนเกียร์รุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ จึงได้ชื่อว่า CONTINUOUSLY VARIABLE TRANSMISSION หรือเรียกตามพยัญชนะต้นของทั้ง 3 คำ เป็นชื่อย่อว่า ซีวีที (CVT) ผมเคยนำหลักการทำงานมาชี้แจงอย่างละเอียดไปแล้วครั้งหนึ่ง จึงขอแนะนำแบบรวบรัดในคราวนี้นะครับ เกียร์แบบนี้ส่งกำลังผ่านสายพานเหล็ก ซึ่งเป็นแผ่นเหล็กกล้าเรียงกันโดยมีเส้นใย ทำหน้าที่ยึดเกี่ยวให้เรียงกันเป็นเส้น หลักการทำงานของมัน ตรงกันข้ามกับสายพานยางที่ใช้กับเครื่องยนต์ที่เรารู้จักกันดีนะครับ เพราะสายพานยางส่งแรงดึงในเส้นสายพาน ส่วนสายพานเหล็กของเกียร์ซีวีที ส่งแรงดันในเส้นสายพาน ถึงได้ใช้แผ่นเหล็กเรียงกันได้ในการส่งแรง แต่บางแบบส่งแรงดึงแทนก็มีนะครับ แต่สายพานจะต้องเป็นข้อโซ่แทนที่จะเป็นเหล็กแผ่น
ด้วยหลักการทำงานของมัน ที่ต้องอาศัยแรงเสียดทานระหว่างโลหะด้วยกัน เพื่อไม่ให้สายพานลื่น และในขณะเดียวกันก็ยังต้องการการหล่อลื่นให้เหมาะ เพื่อให้มันมีอายุใช้งานยาวนานพอสำหรับใช้ในรถของพวกเรา กับการที่มันยังจัดอยู่ในประเภท "ของใหม่" ที่ยังต้องอาศัยการปรับปรุง พัฒนาต่อไปอีก โดยเฉพาะด้านอายุการใช้งาน เกียร์ซีวีทีจึงยังไม่ทนทานเท่ากับเกียร์อัตโนมัติแบบดั้งเดิม
เป็นธรรมดาครับ ที่ "ผู้บุกเบิก" จะต้องแบกรับภาระหนักกว่าปกติ จากความเสียหายทั้งที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้และที่ไม่ได้ ผู้บุกเบิกที่ผมเอ่ยถึงนี้ ก็คือผู้ผลิตเกียร์แบบนี้ และผู้ผลิตรถยนต์ที่นำเกียร์นี้มาใช้ ผู้ผลิตเกียร์ก็ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้า ซึ่งก็คือผู้ผลิตรถยนต์ เช่น รับประกันคุณภาพ ยินดีเปลี่ยนใหม่ให้ หากชำรุดก่อนกำหนดที่ตกลงกันไว้ ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ที่นำเกียร์นี้มาใช้ ก็ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าผู้ซื้อรถ ด้วยการรับประกันคุณภาพเช่นเดียวกัน อายุใช้งานที่ผู้ผลิตทั้งสองนี้รับประกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากันนะครับ ขึ้นอยู่กับเหตุผลหลายด้าน เช่น การรักษาชื่อเสียง การตลาด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าระยะรับประกันโดยผู้ผลิต (และจำหน่าย) รถ สั้นกว่าระยะรับประกันของผู้ผลิตเกียร์ แล้วเกียร์รถของเราพังหลังพ้นระยะประกันของผู้ผลิตรถ แต่ยังไม่พ้นระยะรับประกันของผู้ผลิตเกียร์ (ซึ่งเราไม่ทราบหรอกครับ ใครจะยอมบอก ?) ค่าซ่อม ค่าเปลี่ยน หรือค่าแลกและเพิ่มเงิน ผู้ผลิตรถก็จะได้ไปสบายๆ ไม่ต้องไปสนใจครับ ดูแค่ระยะรับประกันที่ผู้ขายรถให้เรา ต้องรับผิดชอบก็พอ
คราวนี้ก็ถึงคำถามที่ผู้หาเหตุผลแบบใช้ตรรกะ จะต้องอยากได้คำตอบที่ชัดเจน นั่นก็คือ ถ้ามันยังมีอายุใช้งานสั้นอยู่ เมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติแบบดั้งเดิม ที่เราใช้กันมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว ทำไมผู้ผลิตรถถึงนำมาใช้กับรถที่ขายให้พวกเรา ? คำตอบมี 2 ข้อครับ ข้อหนึ่งเป็นเหตุผลทางเทคนิคโดยตรง ส่วนอีกข้อเป็นเหตุผลด้านต้นทุน คำตอบข้อ 2 นี่ก็คือ มันถูกกว่าครับ หรือตอบว่าใช้แล้วได้กำไรเพิ่มขึ้นก็พอได้จึงเรียกได้ว่า "ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว" สำหรับข้อแรก ถ้าเราเอาคู่มือของรถที่ใช้เกียร์อะไรก็ตาม ที่ไม่ใช่ซีวีที มาดูอัตราทดของเกียร์แรก-เกียร์สุดท้าย จะเห็นว่าอัตรทดเกียร์ แรก (คือเกียร์ 1) มีค่าประมาณ 4 เท่ากว่าๆ ของเกียร์สุดท้าย (เช่น เกียร์ 5) หมายความว่า ถ้าเราต้องการให้อัตราทดเกียร์สุดท้ายต่ำลงไปอีก เพื่อให้เครื่องยนต์หมุนช้าลง เมื่อเทียบกับความเร็วของรถเท่าเดิม เราจะต้องเพิ่มจำนวนเกียร์อีก เช่นเป็น 6, 7 หรือ 8 เกียร์ เพราะเราไม่สามารถไปลดอัตราทดเกียร์สุดท้ายลงไปดื้อๆ ตามต้องการครับ ถึงจะลดอัตราทดเกียร์รองสุดท้ายให้ต่ำลงตามไปบ้าง และลดอัตราทดเกียร์ที่ติดกับรองสุดท้ายต่อไป ก็ไม่สามารถ "เกลี่ย" ได้ อัตราทดจะห่างกันเกินไป ไม่เหมาะกับแรงบิดที่เครื่องยนต์ให้ ทำให้การเร่งความเร็วมีปัญหาไปหมด การเพิ่มจำนวนเกียร์ หมายถึง การเพิ่มจำนวนฟันเฟืองครับ ซึ่งก็คือ เพิ่มเนื้อที่ห้องเกียร์ (คือขนาด) เพิ่มน้ำหนัก และเพิ่มเงินค่าฟันเฟือง
ปัญหานี้หมดไปทันที ด้วยเกียร์ซีวีที ซึ่งมีอัตราทดเกียร์แรก ต่ออัตราทดเกียร์สุดท้าย ถึง 6 ต่อ 1 ระหว่างสองเกียร์ที่ว่านี้ ไม่มีอัตราทดตายตัวเลยนะครับ เพราะมันปรับอัตราทดได้ต่อเนื่องทุกค่า พูดภาษาชาวบ้านก็คือ นับไม่ถ้วน เป็นหมื่นเป็นแสนก็ได้ ตามทฤษฎีที่ในคู่มือรถที่ใช้เกียร์ซีวีที ยุคล่าสุดชอบบอกว่า 6 เกียร์ 7 เกียร์ หรือเท่าไรก็ตาม เป็นการลดอัตราทดด้วยระบบควบคุมเท่านั้นเองครับ เหตุผลก็คือ "ลูกค้าชอบแบบนี้" เพราะคุ้นกับเกียร์แบบดั้งเดิม เคยลองให้ระบบควบคุมเลือกอัตราทดที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เข็ดไปตามๆ กันครับ ถูกต่อว่า ว่าเกียร์ "ลื่น" บ้าง "ไม่มีแรง" บ้าง พอลอคอัตราทดด้วยพโรแกรมง่ายๆ เลยชอบกันใหญ่ ก็ต้องตามใจลูกค้าแหละครับ ถ้าอยากทำให้ยอมควักเงินซื้อ
แล้วทำไมต้องอยากได้อัตราทดสุดท้ายแค่ 1 ใน 6 ของเกียร์แรกตอนออกรถด้วย ก็เพื่อให้เครื่องยนต์หมุนน้อยรอบ เมื่อเทียบกับล้อครับ เป้าหมายมี 2 อย่าง คือ เสียงเครื่องยนต์และความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะได้ลดลง ข้อหลังนี่สำคัญมากสำหรับผู้ผลิตรถ ที่ถูกบีบให้ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อระยะทางที่รถแล่น เนื่องจากปัญหา "โลกร้อน" นอกจากมาตรการต่างๆ ด้านเครื่องยนต์แล้ว การลดความเร็วของเครื่องยนต์ต่อความเร็วของรถ เมื่อขับในเกียร์สูงสุด (เกียร์สุดท้าย) ก็เป็นมาตรการที่ว่าง่าย และได้ผลทันทีด้วย
เนื้อที่หมดพอดีครับ ขอผลัดเรื่องสำคัญสำหรับผู้ใช้เกียร์ซีวีที (รวมถึงผู้ใช้เกียร์แบบอื่นๆ ด้วย) ไปฉบับหน้านะครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2559
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ