“ผู้ที่อยู่ในวงจรธุรกิจรถไฟฟ้า ต่างบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังมีอุปสรรคที่ต้องใช้เวลาแก้ไขอีกหลายประการ”ต้องยอมรับว่า เรื่องรถพลังไฟฟ้ากำลังเป็น “เรื่องร้อน” ในหลายประเทศ รวมถึงบ้านเราด้วย เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นสองประเทศแรกที่ประกาศจะห้ามจำหน่ายรถยนต์เบนซิน และดีเซล ในปี 2025 ขณะที่เยอรมนี และอินเดีย วางเป้าหมายเดียวกันไว้ในปี 2030 ล่าสุดคือ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่บอกว่าจะยุติการจำหน่ายรถเบนซิน และดีเซล ตั้งแต่ปี 2040 นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่เตรียมกำหนด “เส้นตาย” ของการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นตัวการก่อมลพิษในอากาศ อย่างไรก็ตาม มาตรการของทุกประเทศที่กล่าวมา คือห้ามขายรถใหม่ที่ใช้พลังงานฟอสซิลเท่านั้น หมายความว่า ผู้ไม่มีรถไฟฟ้ายังสามารถใช้รถเบนซิน หรือดีเซลได้ต่อไป แต่อาจถูกห้ามวิ่งในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งรัฐคาดว่าพอไม่ได้รับความสะดวก แถมยังมีส่วนลดหรือเงินให้เปล่าสำหรับผู้ซื้อรถไฟฟ้ามาล่อใจ เจ้าของรถเก่าก็คงทยอยเปลี่ยนจนรถสันดาปภายในสูญพันธุ์ไปในที่สุด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์หรือนำเข้ารถยนต์ ที่รถมีราคาถูก ประชาชนมีรายได้สูง และเพียบพร้อมด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเราทุกอย่าง จึงไม่มีเหตุจำเป็นใดที่เราจะต้องไปรีบวิ่งไล่ตามเขา แม้รัฐบาลจะพยายามเร่งรัดให้มีการผลิต และการใช้รถไฟฟ้าในประเทศโดยเร็ว ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตต่ำลง และสามารถตั้งราคาที่ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ (มันคือคนเดียวกันนะครับ) เอื้อมถึงได้ แต่จากการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในวงจรธุรกิจนี้ ต่างบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังมีอุปสรรคที่ต้องใช้เวลาแก้ไขอีกหลายประการ เช่น เงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าที่มีเวลาจำกัดเพียง 5 ปี หลังจากนั้นต้องใช้ชิ้นส่วนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น มอเตอร์ และแบทเตอรี ซึ่งแทบไม่มีทางเป็นไปได้ โดยเฉพาะแบทเตอรีกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนยากที่ใครจะตัดสินใจลงทุนผลิตด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน การลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าก็มีปัญหา เนื่องจากการเติมไฟให้รถแต่ละคันกินเวลานาน ทำให้แต่ละสถานีต้องมีแท่นเติมไฟจำนวนมากเพื่อรองรับปริมาณรถที่เข้าใช้บริการ ขณะที่รายรับและกำไรที่ได้จากการจำหน่ายไฟฟ้ากลับน้อยนิด เมื่อเทียบกับการจำหน่ายน้ำมัน ส่วนภาครัฐเอง ต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้รัฐมีรายรับจากอุตสาห- กรรมยานยนต์มากมาย ในรูปของภาษีที่เก็บกันทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งถ้ากลายเป็นสังคมรถไฟฟ้าเมื่อไร รายรับส่วนนี้จะลดลงไปอย่างมหาศาล ถึงตอนนั้นคิดหรือยังว่า จะเอาเงินที่ไหนไปซื้ออาวุธ...เอ๊ย...สร้างถนนหนทางให้รถไฟฟ้าวิ่ง ฉะนั้น โปรด “ใจเย็น” อย่าเพิ่งเห็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นผู้ร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้น ยิ่งกว่านั้น ขอให้คำนึงถึงคุณค่าของรถเก่าที่ขึ้นชั้นเป็นรถโบราณด้วย โดยนอกจากจะไม่กำจัดแล้ว ยังควรสนับสนุนการอนุรักษ์รถเหล่านั้นด้วยการพิจารณาจัดเก็บภาษีประจำปีในอัตราที่เหมาะสม นี่คือสิ่งที่อารยประเทศทั้งหลายเขาทำกัน ซึ่งถ้าเราอยาก “ใจร้อน” ตามเขาให้ทันในเรื่องนี้ ผมจะไม่ว่าอะไรสักคำ !
บทความแนะนำ