“ใจเย็นๆ” คือ คำแนะนำที่่ผมอยากบอกแก่ทุกฝ่ายที่กำลังพยายามนำประเทศไทยเข้าสู่สังคมรถไฟฟ้าภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ตามแผนที่รัฐบาลกำหนดผมยังยืนยันแนวคิดเดิมนะครับว่า ประเทศที่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องเป็นประเทศที่มีประชากรไม่มาก คนส่วนใหญ่ฐานะร่ำรวย ไม่เดือดร้อนเรื่องการจัดหากระแสไฟฟ้า และที่สำคัญ คือ ไม่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศมาก่อนหน้านี้ นี่คือ เหตุผลที่ประเทศเล็กๆ อย่างนอร์เวย์ เดนมาร์ค ฯลฯ สามารถกำหนดเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านจากสังคมสันดาปภายในเป็นสังคมไฟฟ้าได้ตามใจ ขณะที่บ้านเรามีลักษณะตรงกันข้าม กับสิ่งที่ผมกล่าวมาทุกข้อ พอรัฐพยายามเร่งรัด ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานไม่พร้อม ปัญหาต่างๆ จึงตามมามากมาย แค่เรื่องไก่กับไข่ ซึ่งหมายถึงสถานีชาร์จไฟกับรถไฟฟ้า อะไรควรเกิดก่อน ก็เถียงกันไม่เสร็จแล้วละครับ ล่าสุด สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) เจ้าของโครงการสนับสนุนการลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้ากับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้ร่วมกันเปิดเผย พร้อมแสดงความวิตกว่า ขณะนี้สถานีชาร์จรถ อีวี จากการลงทุนของทั้งรัฐ และเอกชนมีจำนวนกว่า 500 หัวจ่าย ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์ อีวี ที่มีอยู่น้อยนิด ถือว่ามากเกินไป ทำให้การลงทุนด้านสถานีเริ่มมีปัญหา หากปริมาณรถยนต์ อีวี ยังไม่ขยายตัว การเติบโตของสถานีชาร์จรถ อีวี ก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น รัฐต้องกระตุ้นให้มีการผลิต และการใช้รถ อีวี เพิ่มขึ้น ทีนี้ลองดูผลการกระตุ้นผู้ผลิตโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของ บีโอไอ ซึ่งหมดเขตไปเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า กลุ่ม “รถยนต์ไฮบริด” ค่ายรถที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ โตโยตา, ฮอนดา, นิสสัน และมาซดา กลุ่ม “รถยนต์พลัก-อิน ไฮบริด” ได้แก่ เมร์เซเดส-เบนซ์, บีเอมดับเบิลยู, เอมจี, มิตซูบิชิ, โตโยตา และกลุ่ม “รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบทเตอรี” ได้แก่ ฟอมม์, มิตซูบิชิ, เมร์เซเดส-เบนซ์, นิสสัน, โตโยตา, บีเอมดับเบิลยู และเอมจี จะเห็นได้ว่า จนถึงวันนี้ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบทเตอรี หรือ อีวี นั้น แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ รวมทั้งในตลาดก็มีให้เลือกซื้อเพียง 8 รุ่น ขายกันตั้งแต่ 1.5-6 ล้านบาท (ไม่นับฟอมม์) ราคาระดับนี้จะหวังให้ประชาชนซื้อใช้อย่างกว้างขวางย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน ส่วนประเภทไฮบริด และพลัก-อิน ไฮบริด แม้จะมีรถรุ่นใหม่ๆ ออกมา และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสถานีชาร์จไฟ ยกเว้นพวกพลัก-อิน ไฮบริด ซึ่งมีจำนวนเพียงเล็กน้อยตามราคาขายที่สูง และเจ้าของมักติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จที่บ้านตัวเองอยู่แล้ว สังคมรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเพิ่งเริ่ม “ตั้งไข่” ผมจึงอยากให้ทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใช้ ท่องคาถาเดียวกัน คือ “ใจเย็นๆ” เหมือนตอนรอผลเลือกตั้งจาก กกต. นั่นแหละครับ
บทความแนะนำ