สยาม ยีเอสแบตเตอรี่ฯ สยายปีกรุกธุรกิจสู่เมียนมาร์ “ฟอร์มูลา” สนทนาธุรกิจกับ คณิต บุญนำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ยีเอสแบตเตอรี่ จำกัดฟอร์มูลา : เพราะเหตุใด สยาม ยีเอสแบทเตอรี่ฯ จึงเลือกไปลงทุนในประเทศเมียนมาร์ ? คณิต : หลังจากรัฐบาลเมียนมาร์เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ ทวาย, เจ้าผิ่ว และติลาวา พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้ในช่วง 5 ปีแรก, ลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆ และเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติลาวา มีประเด็นสำคัญ คือ อนุญาตให้นักลงทุนเป็นเจ้าของได้ 100 % โดยไม่ต้องจับมือกับผู้ประกอบการในประเทศ ด้วยเงื่อนไขที่จูงใจทำให้เหล่านักลงทุนต่างชาติเริ่มเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศเมียนมาร์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ซูซูกิ, นิสสัน, ฮันเด, โตโยตา และฟอร์ด ประกอบกับทิศทาง และความต้องการรถใหม่ในเมียนมาร์เริ่มขยายตัว จากตัวเลขจดทะเบียนในปี 2011 ประมาณ 280,000 แสนคัน ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 650,000 แสนคัน และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ตลาดรถยนต์ใหม่ในเมียนมาร์ขยายตัวมาก และปัจจุบันห้ามนำเข้ารถพวงมาลัยขวา เนื่องจากที่นี่ใช้พวงมาลัยซ้าย เป็นนโยบายสกัดรถมือสอง ที่แต่เดิมจะมีการนำเข้ามาจากญี่ปุ่น ทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษ ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้ ยอดขายรถยนต์ใหม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเล็งเห็นโอกาสและช่องทางขยายธุรกิจ จึงตัดสินใจทุ่มเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เปิดโรงงานผลิตแบทเตอรีในประเทศเมียนมาร์ รองรับตลาดแบทเตอรีชนิดไม่ต้องเติมน้ำกลั่นที่เติบโต มั่นใจครองความนิยมจากลูกค้าในเมียนมาร์ และก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในตลาด” ฟอร์มูลา : โรงงานตั้งอยู่ที่ใด และมีกำลังการผลิตเท่าไร ? คณิต : โรงงานแห่งใหม่นี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของ SIAM GS BATTERY MYANMAR LIMITED บนพื้นที่ 9,000 ตรม. ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติลาวา มีกำลังการผลิต 76,000 ลูก/ปี กำลังการผลิตรวม 7.6 หมื่นลูก/ปี มีพนักงานทั้งสิ้น 31 คน มีสินค้าที่ทำตลาด 45 โมเดล มีทั้งแบบแบทเตอรีชนิดที่ไม่ต้องดูแลตลอดการใช้งาน (MAINTENANCE FREE BATTERY) และแบทเตอรีชนิดที่ต้องเติมนํ้ากลั่น รองรับทั้งรถยนต์, รถเพื่อการเกษตร รวมไปถึงการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน การลงทุนครั้งนี้ บริษัทฯ มองว่าอนาคตของแบทเตอรีในเมียนมาร์จะเติบโต และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเบอร์ 1 ในการซัพพลายแบทเตอรีในตลาดนี้ โดยช่วงแรกจะเน้นป้อนตลาดทดแทนก่อน และปี 2563 จะรุกตลาดโออีเอม ส่วนกำลังการผลิตในตอนนี้เดินเครื่องแล้วกว่า 70-80 % โดยได้ซัพพลายให้แก่ ซูซูกิ เดือนละประมาณ 1,200 ลูก หรือปีละ 12,000 ลูก ปัจจุบันมูลค่าตลาดแบทเตอรีในเมียนมาร์มีประมาณ 1,200,000 ลูก/ปี แบ่งออกเป็น แบทเตอรีชนิดเติมนํ้ากลั่น 80 % และอีก 20 % เป็นแบทเตอรีที่ไม่ต้องดูแลตลอดการใช้งาน หรือ แบทเตอรีแบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ฟอร์มูลา : วางแผนรุกตลาดอย่างไร ? คณิต : เราจะมุ่งเน้นการพัฒนาทุกภาคส่วน อาทิ ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดส่ง (IMPROVEMENT OF SUPPLY) เน้นขั้นตอนการจัดส่งสินค้าถึงผู้แทนจำหน่าย และผู้บริโภคให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกระดับคุณภาพสินค้า (QUALITY SUPPORT) ด้วยเทคโนโลยี และเครื่องจักรที่ล้ำสมัย สนับสนุนในเชิงการขาย และการตลาด (SALES SUPPORT) เพิ่มทักษะการพัฒนาทีมฝ่ายขายและการตลาดให้มีความรู้ความเข้าใจที่จะเข้าถึงความต้องการลูกค้า และยกระดับประสานงาน เพิ่มศักยภาพการขาย และความต้องการของตลาดภายในประเทศ รวมถึงการส่งบุคลากรไปเรียนรู้เทคโนโลยีกับบริษัทแม่ในเมืองไทย และนำความรู้มาปรับปรุงพัฒนางานให้มีศักยภาพด้วยจำนวนคนที่น้อยกว่า ผมมั่นใจว่าในอนาคตธุรกิจแบทเตอรีในประเทศเมียนมาร์จะเติบโตอย่างสูง และด้วยความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจรวมถึงการพัฒนาในส่วนต่างๆ จะส่งผลให้ จีเอส แบทเตอรี ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค จนกลายเป็นที่หนึ่งในตลาดแบทเตอรีของเมียนมาร์ได้อย่างแน่นอน ในอนาคตอันใกล้นี้