จู่ๆ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ก็เรียก “ทัวร์” มาลงที่กรมฯ ของท่านซะยังงั้น ด้วยการประกาศว่าจะให้ผู้ถือใบขับขี่รถยนต์ตลอดชีพ กลับมาทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และความพร้อมในการขับขี่รถกันใหม่ โดยให้เหตุผลแบบมึนๆ ว่า ผู้สูงอายุที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพเป็นตัวการก่ออุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้งไม่ผิดคาดครับ แค่วันสองวันที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป บรรดาคณะทัวร์ที่กำลังสาละวนอยู่กับน้องเจนนี และพี่ๆ อัยการ ก็เปลี่ยนเป้าหมายไปที่กรมการขนส่งฯ ทันที โดยมีหัวหน้าทัวร์ระดับอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ถามตรงผ่านเฟศบุคของตนเองว่า “ใบขับขี่ตลอดชีพมันหนักหัวใคร” พร้อมแนะนำให้กรมฯ เอาเวลาไปสนใจกับปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น การใช้ความเร็วเกินกำหนด การเมาแล้วขับ ฯลฯ มากกว่าจะมาวุ่นวายกับพวกที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพ ซึ่งไม่ได้หนักหัวใคร ที่สำคัญ อัยการประจำสำ-นักงานอัยการสูงสุดท่านหนึ่ง ยังชี้ประเด็นกฎหมายแบบฟันธงเลยว่า กรมการขนส่งฯ จะใช้เหตุ “สูงอายุ” เพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีพไม่ได้ ด้วยเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรก พระราชบัญญัติรถยนต์ พศ. 2522 มาตรา 46, 47 และ 49 ไม่ได้กำหนดให้การที่ร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เป็นเหตุขาดคุณสมบัติ หรือมีสถานะต้องห้ามในการมีใบอนุญาตขับรถ โดยพรบ. ได้กำหนดชัดเจนถึงสภาพร่างกายที่ทำให้ขาดคุณสมบัติ และมีสถานะต้องห้าม เช่น พิการ วิกลจริต รวมถึงโรคประจำตัว ซึ่งในใบรับรองแพทย์ที่ใช้ยื่นประกอบการขอมีใบอนุญาตขับขี่ต้องระบุว่าไม่เป็น ได้แก่ โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคเรื้อน พิษสุราเรื้อรัง และติดยาเสพติด โดยไม่รวมกรณีสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุไว้แต่อย่างใด ข้อ 2 การจะใช้อำนาจตาม พรบ. รถยนต์ มาตรา 53 วรรคสอง เรียกผู้ได้รับใบขับขี่มาตรวจสอบคุณสมบัติ ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้นั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะเรียกมาตรวจสอบเป็น “รายบุคคล” ได้ สำหรับผม ซึ่งนับเป็นเป้าหมายแรกของท่านอธิบดีฯ เพราะนอกจากจะถือใบขับขี่ตลอดชีพแล้ว ยังอายุเกิน 70 ปี อีกด้วย ก็ต้องยืนยันว่า ทั้งผมและเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกัน ส่วนใหญ่ยัง (ขับรถ) ไหวนะครับ บางคนที่มีปัญหาสุขภาพ เขาก็รู้ตัวดี และเลิกจับพวงมาลัยไปเอง ไม่ต้องมีใครบังคับ เพราะทุกคนอยากอยู่กับลูกกับหลานไปนานๆ ทั้งนั้น นอกจากนี้ ผมคิดว่าดำริของท่านอธิบดีฯ ยังน่าจะขัดกับพรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้าอีกด้วย ฉะนั้น ขอให้เป็นอย่างที่ท่านพยายามออกตัวหลังจาก “ทัวร์ลง” ว่า เรื่องยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง และหวังว่า ท่านจะจัดการให้แนวคิดแบบนี้มันจบที่รุ่นท่านเท่านั้น !