CHANGAN (ฉางอัน) ยักษ์ใหญ่จากจีน ตั้ง DEALER GROUP 2 ราย โดย บริษัท อีเทอนิตี้แอทวัน จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบการตลาด และขยายตัวแทนจำหน่ายในบ้านเรา “ฟอร์มูลา” สัมภาษณ์พิเศษ ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัทฯ
ฟอร์มูลา : เหตุใดจึงเลือกเป็นผู้แทนจำหน่าย CHANGAN ?
ทรงวิทย์ : ผมมองว่า รถยนต์บแรนด์ CHANGAN สามารถที่จะตอบโจทย์คนไทยได้ โดยเริ่มทำตลาดด้วยการเปิดตัว DEEPAL (ดีพอล) เป็นรถที่มีอนาคตที่ดี รวมถึง CHANGAN ยังได้มีการลงทุนสร้างบแรนด์ด้วยการตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย โดยรถรุ่นแรกจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2568 และไม่ได้ทำตลาดเฉพาะรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะมีรถพลัก-อิน ไฮบริด รวมถึงพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่หลากหลาย รวมถึงการทำระบบ DEALER GROUP ที่ถือเป็นระบบใหม่ ที่ CHANGAN AUTO SALES THAILAND ให้รับผิดชอบการลาด และแต่งตั้งดีเลอร์เพื่อทำการขาย และบริการหลังการขาย คือ บริษัท อีเทอนิตี้แอทวัน จำกัด และ INFINITE AUTOMOBILE ซึ่งที่จีนใช้วิธีนี้แล้วประสบความสำเร็จ เลยนำมาใช้ที่ไทย ทำให้มองว่า CHANGAN สามารถเติบโตในประเทศไทยได้
ฟอร์มูลา : การทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับ CHANGAN ?
ทรงวิทย์ : CHANGAN จะมีบริษัทผลิตรถยนต์อย่างเดียวเป็นบริษัทแม่ชื่อ CHANGAN AUTOMOBILE ตอนนี้ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยแล้ว มีแผนจะทยอยผลิตรถออกมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 มีบริษัทลูกคือ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด รับผิดชอบด้านการตลาดในภาพรวม แต่เรื่องการตลาดทั่วไป และการขาย ได้แต่งตั้ง เอเอเอสฯ กับ อีเทอนิตี้แอทวันฯ เป็น DEALER GROUP คอยคัดเลือกดีเลอร์ช่วยขายรถ เรามีหน้าที่คัดเลือกดีเลอร์ให้ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย)ฯ แต่เรากับ เอเอเอสฯ ได้คุยกันแล้วว่า ดีเลอร์แต่ละรายมีรัศมีการดูแลลูกค้ารายละ 15 กม. ในกทม. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแย่งลูกค้ากัน
ส่วนเรื่องการตั้งราคา บริษัทฯ ได้พัฒนาพแลทฟอร์มเพื่อใช้ในการทำตลาด หรือสร้างรูปแบบการขายให้แข็งแรง ทั้งบริหาร วางแผนสตอคตลอดจนระบบบัญชีเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเสนอบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าโดยไม่มีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งเป็นหัวใจของดีเลอร์ เนื่องจาก พแลทฟอร์มนี้จะเห็นข้อมูลพร้อมกัน นับเป็นรูปแบบใหม่ที่ทำธุรกิจให้ สมาร์ท และมีประสิทธิภาพ ส่วน เอเอสเอสฯ ก็จะทำพแลทฟอร์มราคาของเขาเอง CHANGAN เชื่อว่าทำแบบนี้จะช่วยให้ดีเลอร์แข็งแกร่ง เป็น สมาร์ทธุรกิจได้ สำหรับเราสิ่งที่ตามมา คือ เราเป็น DEALER GROUP ที่เข้มแข็ง เพราะเรามีประสบการณ์ขายรถมายาวนาน
ฟอร์มูลา : CHANGAN มีจุดเด่นอะไรบ้าง ?
ทรงวิทย์ : เป็นบแรนด์ที่น่าเชื่อถือ อยู่ในตลาดมานาน มีความมั่นคงเรื่องการลงทุน ไม่ได้เป็นบแรนด์ที่เกิดขึ้นมาแล้วหายไป อีกข้อหนึ่ง คือ มีการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
ฟอร์มูลา : คุณวางนโยบาย และทิศทางธุรกิจไว้อย่างไร ?
ทรงวิทย์ : อันดับแรก สินค้า CHANGAN มีคุณภาพ ถูกใจคนไทย ต่อมาความน่าเชื่อถือของบแรนด์ ไม่แพ้ยี่ห้ออื่น ที่เหลือ บริษัทฯ ต้องทำการตลาด สร้างความเชื่อมั่น และสร้างเครือข่ายที่แข็งแรง ส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ ต่อมา คือ การสร้างเครือข่ายด้วยการขยายโชว์รูมพร้อมศูนย์บริการ โดย CHANGAN AUTO SALES THAILAND วางเป้าหมายเฟสแรกไว้ที่ 60 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ บริษัทฯจะสามารถขยายได้ 40-45 แห่ง ส่วนปีหน้าต้องรอดูสถานการณ์ว่าที่มีอยู่สามารถรองรับลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน
ฟอร์มูลา : วางเป้าหมายไว้อย่างไร ?
ทรงวิทย์ : ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายรวม 20,000 คัน ส่วนในอนาคตต้องรอความพร้อมของการขยายผลิตภัณฑ์ โดยเมื่อโรงงานเริ่มเดินเครื่องประมาณไตรมาสแรกของปี 68 ต้องดูว่า CHANGAN จะผลิตรถรุ่นอะไรออกมาบ้าง เชื่อว่านอกจากรถไฟฟ้า (EV) แล้วจะมีรถพลัก-อิน ไฮบริด หรือประเภทอื่นๆ ออกมาด้วย เพื่อสร้างบแรนด์ CHANGAN ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่วนปีนี้จะมีบแรนด์อื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น AVATR (อวาทาร์)
ฟอร์มูลา : ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ?
ทรงวิทย์ : อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีที่ผ่านมา เติบโตไม่ดีนัก เพราะสถาบันการเงินคุ้มเข้มสินเชื่อ ทำให้ยอดขายไม่เติบโต โดยเฉพาะรถพิค อัพ ที่สัดส่วนเหลือ 30 % เท่านั้น รถยนต์นั่งขนาด 1800 ซีซี ก็โตไม่มาก เพราะมีรถไฟฟ้าเข้ามาแชร์ตลาด แต่โดยภาพรวมก็นับว่าดี มียอดขายรวมเกือบ 8 แสนคัน ปีนี้น่าจะมีโอกาสโตขึ้น 3-5 % ส่วน EV ก็จะโตเพิ่มขึ้น น่าจะทะลุ 1 แสนคัน จากปีที่แล้ว 75,000 คัน
ฟอร์มูลา : ทิศทางรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ?
ทรงวิทย์ : ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยบิดเบือนแล็กน้อย เพราะมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ส่วนเรื่องความพร้อมเรื่องของสถานีชาร์จ ความจริงไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะคนไทยส่วนใหญ่ 90 % ใช้พื้นที่ส่วนตัวในการติดตั้งสถานีชาร์จ และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีการวางแผน เพราะจริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางไกลโดยรถยนต์มากนัก ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องบิน แต่เมื่อจำเป็นต้องขับรถไปเชียงใหม่ก็คงใช้รถน้ำมัน และการขับรถข้ามจังหวัดก็ไม่ได้เป็นเรื่องประจำ
การใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่จำเป็นต้องชาร์จทุกวัน พอขับในระยะที่เหลือแบทเตอรี 20 % ก็ชาร์จได้ที่บ้านทั้งคืน ปัญหา คือ ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่จะไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นบ้านส่วนตัว เพราะรถยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับผู้บริโภคที่มีบ้านส่วนตัว ดังนั้น ผู้บริโภคที่อยู่คอนโด บ้านเช่า อพาร์ทเมนท์ จะติดปัญหาเรื่องสถานีชาร์จ แต่ก็สามารถแก้ไขได้ เพราะหากมองในภาพรวม เรื่องสถานีชาร์จ ไม่ใช่ปัญหาหลัก ซึ่งสามารถปรับแก้ไขได้