เล่นท้ายเล่ม
UNSEEM IN BANGKOK
กรุงเทพ ฯ ยังมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ไม่น้อย แม้ว่าผมได้มาใช้ชีวิตอยู่กับเมืองนี้นานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
เป็นต้นว่า สะพานพระราม 8 ผมเพิ่งมีโอกาสได้เห็นด้วยตาตอนที่พรรคพวกเชิญผมไปพาร์ทีบนเรือล่องเจ้าพระยาคืนนั้นเป็นอีกสะพานหนึ่งที่มีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมโดดเด่นไปจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหลายสะพาน
แต่ถ้าถามว่า เคยขับรถไปสัมผัสสะพานนี้แล้วหรือยัง ต้องขอบอกว่ายัง เหมือนกับอีกหลายๆสะพานข้ามกรุงเทพ ฯ กับ ธนบุรี (ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ด้วยถูกกรุงเทพ ฯ ยึดไปได้ทั้งหมด)
"ธนบุรี" ถูกเรียกชื่อว่า "ทน-บุ-รี" มาตลอด มีสภาพเป็นเหมือนเมืองน้องของกรุงเทพ ฯ ความเจริญหรือการพัฒนาเมืองไม่อาจเทียบได้กับเมืองพี่ คือ เมืองกรุงเทพ ฯจนชาวธนบุรีอดเรียกเมืองของตนเองไม่ได้ว่า เมืองทนบุรี คือ เมืองที่ทนอยู่กันไป
ความจริง ธนบุรี เป็นเมืองเอกมาก่อนเมืองกรุงเทพ ฯ และน่าเรียกกันว่า "ธนะ-บุ-รี" อันหมายถึงเมืองแห่งทรัพย์สินเงินทอง มีประวัติมาแต่ครั้งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระหว่างพุทธศก 1991ถึง 2031แต่เริ่มมีการขุดลำคลองเป็นเส้นทางลัดคุ้งใหญ่แม่น้ำเจ้าพระยามีความสำคัญกับการเดินเรือของชาวต่างประเทศที่จะเข้าไปทำมาค้าขายหรือการเจริญสัมพันธไมตรีกับราชธานีกรุงศรีอยุธยาจำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาเรือสำเภาทั้งหลายต้องหยุดเพื่อการตรวจตรา
ตำบลเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ จึงมีสภาพเป็นเมืองหน้าด่านหรือเป็น ซี พอร์ท (SEA PORT)รับภารกิจหลักเป็นหูเป็นตาให้กับกรุงศรีอยุธยาในการสอดส่องตรวจตราผู้คนรวมทั้งศัตราวุธทั้งปวงที่เข้าหรือออกจากเมืองหลวง
อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นกรมสรรพากรและกรมศุลกากรเสร็จสรรพ ตั้งหน้าเก็บภาษีอากรสินค้าต่างๆเป็นรายได้สู่ท้องพระคลัง
เมื่อความเป็นดังนี้แล้ว ผู้คนที่อยู่กินกับเมืองนี้จึงค่อนข้างมีกินมีใช้เพราะการเงินสะพัดมีสภาพคล่องไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งๆที่ในสมัยนั้นยังไม่มีเรือสำเภาลำไหนบรรทุกรถยนต์เข้ามาขายให้เมืองนี้เรียกเก็บภาษีผิดๆ ถูกๆ เหมือนทุกวันนี้
ดูเหมือนเงินอยู่ที่ไหน ชาวจีนเชื้อสายไทยก็อยู่ที่นั่น ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนชาวจีนได้เกิดขึ้นที่นี่และเป็นชีวิตที่ แพแรลเลล (PARALLEL) ขนานไปกับความเป็นคนสยาม รักความเป็นเสรีชน
แต่คนเราคือมนุษย์ ไม่ใช่อิฐไม่ใช่ปูน พอมีสตางค์เข้าหน่อยก็มักพูดจามีซุ่มมีเสียงไปไหนมาไหนไม่รู้สึกต้องเกรงใจผู้ใด มีความเป็นอิสระอย่างใหญ่ยิ่งไปโดยอัตโนมัติคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นทั้งพ่อค้าและกรรมกรระดับกุลีท่าเรือ จนถึงผู้แทนการค้าฝ่ายสยามคือกรมเจ้าท่า
ที่พูดมานี้เป็นตำบลบางกอก ซึ่งฝรั่งมังค่าเรียกเมืองนี้ขึ้นต้นด้วยตัว B แต่สะกดต่างกันไปมาจนถึงฝรั่งอังกฤษคนหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ ฟลอริส (PETER FLORIS) เป็นคนแรกเรียกเมืองบางกอกว่ามังคอค (MANCOCK) เป็นผลให้ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกตามว่าเมือง "มังก๊ก"
ตำบลธนบุรี เป็นอีกชุมชนหนึ่งอยู่ทางฟากตะวันตกมีผู้คนหนาแน่นกว่าฟากตะวันออกซึ่งในขณะนั้นมีสภาพเป็นทะเลตม เป็นที่ลุ่มเหมาะกับการทำนาตำบลธนบุรีนี้มีชัยภูมิเป็นเลิศเพราะการสอดประสานระหว่างแผ่นดินกับโครงข่ายลำน้ำน้อยใหญ่ตลอดไปถึงปากอ่าวสยาม สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกเป็นที่มั่นในการทำสงครามกู้ชาติจึงสร้างพระราชวังไว้ระหว่าง วัดโมลีโลกยาราม กับวัดอรุณราชวราราม
และเบื้องนั้นเอง ฟากตะวันออกหรือตำบลบางกอกชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่มีแกนนำสำคัญคนหนึ่งชื่อพระยาราชาเศรษฐี ซึ่งต่อมาเมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาราชาเศรษฐีได้ย้ายชาวจีนลงไปทางตอนใต้ของละแวกสามเพ็ง อันเป็นเขตปลายน้ำท้ายพระนคร
ณ กาลเวลานั้น ยุคสมัยนั้น หากมีคนไทยสักสองคนเป็นชาวเมืองธนบุรีคือ คุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ กับคุณปราจิณ เอี่ยมลำเนา เมืองนี้ก็คงมีงาน มอเตอร์ โบท โชว์ (MOTOR BOAT SHOW)เปียกโชกกันไปปีละสองครั้งทุกปี
ความวิจิตรสวยงามแห่งสถาปัตยกรรมไทยว่าด้วย ปราสาทราชมณเฑียรของกรุงเทพ ฯ ได้กำเนิดขึ้นมานับแต่มีการย้ายแผ่นดินจากฟากตะวันตกไปสู่ฟากฝั่งตะวันออกด้วยกรุงธนบุรีประกอบด้วยจุดอ่อนถึงสามประการ
- เป็นเมืองอกแตก มีลำน้ำแล่นผ่านกลางแผ่นดินโลเคชันไม่เหมาะสมสำหรับการทำสงครามกับข้าศึกต่างแผ่นดิน
- ลักษณะเป็นคุ้งน้ำใหญ่ กระแสน้ำพัดซัดฝั่งให้เซาะทรุดพังโดยสม่ำเสมอ
- พระราชวังเดิมนั้นถือว่าตั้งอยู่ในที่อุปจาร ระหว่างวัดแจ้งกับวัดท้ายตลาด ยากต่อการขยายพระนคร
เปรียบเทียบกับฟากฝั่งตะวันออกแล้ว ฟากตะวันออกมีข้อเด่นสามข้อคือ
- มีลำน้ำใหญ่เป็นแนวป้องกันข้าศึกศัตรูยาวกว่าฝั่งตะวันตกหากมีศึกประชิดพระนครย่อมต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า
- นอกกำแพงพระนคร เป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การเกษตรกรรมทำนาเลี้ยงชีพราษฎร ในยามมีศึก
- ประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ที่ลุ่มหรือทะเลตมนี้ยังเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวการเดินทัพของข้าศึกเข้าประชิดพระนครอีกโสตหนึ่ง
ไม่น่าเชื่อว่า ในช่วงเวลาเพียง 28 ปีแห่งรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรุงเทพ ฯ ได้มีสิ่งสวยงามเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งๆ ที่มีสงครามใหญ่กับพม่าถึง 4 ครั้งมีทั้งพระบรมมหาราชวังอันเป็นหลักชัย และศาลหลักเมืองเป็นที่ยึดเหนี่ยวบูชาตลอดจนถึงการขุดคูคลองเสริมแนวลำน้ำธรรมชาติ เช่น คลองรอบกรุง (คือคลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง) คลองหลอดทั้งสองสาย และคลองมหานาค
คลองเหล่านี้ได้รับใช้ชาวพระนครทั้งในด้านการสัญจร และในการอุปโภคบริโภคมีมากมายหลายลำคลองจนในที่สุดเมื่อฝรั่งมาเห็นด้วยตาแล้วจึงขนานนามบางกอกว่าเป็น "เวนิศแห่งตะวันออก" แต่มาถึงสมัยนี้ ยุคนี้คลองได้หายไปเกือบหมดสิ้น กลายเป็นป่าคอนกรีทเป็นถนน เป็นทางด่วน และมอเตอร์เวย์ ไม่มีประตูน้ำ มีแต่ประตูเก็บเงินบรรดาเรือที่เคยใช้พายแจวถูกนำขึ้นมาวางขอบถนนขายก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเป็นต้นกำเนิดตระกูลโกฮับมาจนเดี๋ยวนี้
หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสามปี ผมเริ่มมาใช้ชีวิตเป็นคนกรุงเทพ ฯได้เห็นสะพานพุทธเพราะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ที่ตีนสะพานพุทธฝั่งพระนครใกล้กับวัดเลียบ-วัดราชบูรณะ ติดกับที่ทำการของบริษัทไฟฟ้าไทย คอปเปอเรชั่น จำกัด (โรงไฟฟ้าวัดเลียบ)
ถ้าผมมาเร็วกว่านี้สักสามปี ผมก็คงอยู่ในเหตุการณ์ของคืนวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 2488 อันเป็นคืนที่ฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิด B24 จำนวน 35 เครื่องของฝ่ายพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯอย่างรุนแรง เป็นผลให้ "โรงไฟฟ้าวัดเลียบ" ราบเป็นสนามกอล์ฟ...เอ๊ย...ไม่เป็นชิ้นดี
แถมสะพานพุทธก็พังพินาศ แยกเหล็กตัวเองออกเป็นสองท่อนใหญ่ๆ การไปมาหาสู่ระหว่างคนฝั่งธนกับคนฝั่งพระนครขาดสะบั้น
ในความแม่นยำของการทิ้งระเบิดคืนนั้นนักบินของฝ่ายพันธมิตรไม่ได้ใช้ดาวเทียมบังคับเหมือนที่ไปทำสงครามในอิรักแต่ใช้ประโยชน์จากความสว่างไสวนวลใยของพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญเดือนหก-วันวิสาขบูชา
ผมพักอยู่กับพี่ชายที่บ้านขมิ้น ใกล้กับศิริราชและตรอกบ้านช่างหล่อการเดินทางไปโรงเรียนสวนกุหลาบ ผมต้องใช้ทั้งเรือและรถ เรือเป็นเรือหัวเกี๊ยะรับจ้างข้ามฟากท่าพรานนกไปท่าช้างวังหลวง ไปท่าพระจันทร์ หรือข้ามจากพระนครไปท่าศิริราชท่าบางกอกน้อย ส่วนรถก็คือรถรางสายสีแดง หรือที่เรียกกันว่า รถรางสายรอบเมือง ผ่านท่าราช ฯ ท่าเตียน ปากคลองตลาด จนถึงสะพานพุทธ
ผมชอบดูการเดินทางของรถรางรู้สึกตื่นเต้นเมื่อเห็นประกายไฟที่เกิดขึ้นเมื่อยอดเสาไฟฟ้ารถรางกระทบลูกถ้วยวูบวาบเหมือนไฟฟ้าชอท และได้อาศัยอยู่หลายปีส่วนใหญ่ก็จะเป็นสายท่าพระจันทร์ยันบางลำพูหรือไม่ก็อาศัยไปดูภาพยนตร์แถวเจริญกรุง เยาวราช และ วังบูรพา
สมัยผมเป็นเด็กนักเรียนสวนกุหลาบ ทหารเรือค่อนข้างซ่า กว่าทหารบกวันหนึ่งผมยืนอยู่ท้ายรถรางไปโรงเรียนถูกจ่าทหารเรือตะเพิด
"มองอะไรวะ เดี๋ยวพ่อเตะซะนี่..."
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม