บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศแผนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตอกย้ำความมั่นใจว่า SUZUKI (ซูซูกิ) พร้อมสู้ต่อ !
“ยกระดับงานบริการลูกค้าเปิดตัวแคมเปญ SUZUKI WORRY FREE, ฟรี ! ค่าแรงเชคระยะนาน 3 ปี, ฟรี ! รถสำรองใช้ระหว่างซ่อม, เป้าหมายมีอะไหล่รองรับรถทุกรุ่นนาน 10 ปี, ชูแอพพลิเคชัน HELLO SUZUKI ช่วยดูแลลูกค้า และเปิดศูนย์บริการเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง”
นี่คือ ประเด็นหลักของงานแถลงข่าวเพื่อตอกย้ำความมั่นใจให้แก่ลูกค้าที่ใช้รถ SUZUKI...ผมในฐานะผู้ใช้รถ SUZUKI ถึง 3 คัน 3 รุ่น คือ VITARA (วีทารา), SWIFT (สวิฟท์) และ ERTIGA (แอร์ติกา) รับรู้ถึงความตั้งใจ และเข้าใจอย่างสุดซึ้ง ถึงสถานการณ์ “สงครามราคา” รู้ว่าการฟันฝ่าในธุรกิจรถยนต์ช่วงที่ผู้เล่นหน้าใหม่ พากันถล่มราคาจำหน่ายแบบที่เป็นอยู่นี้ มันยาก และสร้างความเสียหายไปทั่ว แน่นอนว่าเกมนี้มีค่ายรถหลายค่าย “เสียหาย” และ “เสียเปรียบ”
ปีนี้ SUZUKI อยู่คู่กับคนไทยครบ 50 ปี ตั้งแต่ปี 1975 ยุคสยามอินเตอร์ฯ จนถึงปี 2011 ยุคก่อตั้ง ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย)ฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานพอสมควร จากยุคที่มียอดขายรถปีละ 6 แสนคัน จนถึงยุคยอดขายรถทะลุ 1.2 ล้านคัน ในยุคเริ่มต้นโครงการ ECO CAR และปีนี้ ในสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ ส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ยอดขายรถจากเป้าหมาย 8.5 แสนคัน เป็นเรื่องยาก ผ่านมาครึ่งปี 2024 ตลาดรถบ้านเรามียอดขายรวม 307,995 คัน และ SUZUKI มียอดขายรถรวม 3,791 คัน ลดลงกว่า 54 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คาดการณ์ล่วงหน้าเลยว่า ยอดขายรถรวมของปีนี้ ไม่น่าเกิน 6.5 แสนคัน เผลอๆ ไม่เกิน 6 แสนคันด้วยซ้ำ ! ส่วนเป้าหมายของปีนี้ SUZUKI ตั้งเป้ายอดขายไว้ 12,000 คัน น่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ต้องเดินหน้าสู้ต่อ !
สิ่งที่ SUZUKI ตั้งใจทำต่อจากนี้ คือ การยกระดับงานบริการลูกค้า ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก มีรถ SUZUKI วิ่งอยู่บนถนนเมืองไทยกว่า 1.8 แสนคัน โชว์รูม และศูนย์บริการที่มีอยู่ 92 แห่ง และเปิดใหม่อีก 6 แห่ง (จากเดิมมี 127 แห่งทั่วประเทศ) ต่างก็พร้อมที่จะรองรับรถของลูกค้า ถ้าเราดูจากแผนธุรกิจในปีนี้ และปีต่อๆ ไป มีความชัดเจนที่จะสื่อสารให้รู้ว่า SUZUKI พร้อมลุยต่อ ! รถรุ่นเดิม 5 รุ่น CARRY (แคร์รี), CELERIO (เซเลรีโอ), ERTIGA, SWIFT และ XL7 (เอกซ์แอล 7) ที่มีขายในตอนนี้ ยังคงเดินหน้าทำการตลาดต่อเนื่อง ส่วนการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในปี 2025 ประกาศชัดว่า จะมีรถรุ่นใหม่ 4 รุ่น ทั้งรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE), PHEV และ EV
รถรุ่นใหม่ต่อจากนี้ จะเป็นการนำเข้ามาจำหน่าย มาจากโรงงานผลิตรถในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย และอาจจะมีรถนำเข้าจากญี่ปุ่น มาจำหน่ายด้วย หลายคนสงสัยว่า โรงงานผลิตรถที่อินเดีย และอินโดนีเซีย คุณภาพงานผลิต และประกอบจะเนียนสู้คนไทยได้หรือไม่ ? คำตอบ คือ ทุกโรงงานผลิตรถของ SUZUKI มีมาตรฐานระดับโลกเหมือนกันทุกแห่ง
สำหรับโรงงานผลิตที่ระยอง ตอนนี้ยังไม่มีแผน และยังบอกรายละเอียดเพิ่มเติมไม่ได้ว่า ในอนาคตจะมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจหรือไม่ ?
ผมเพิ่มเติมข้อมูลกำลังการผลิตรถของอินเดีย ในปี 2023 มีกำลังการผลิตรถสูงติดอันดับ 4 ของโลก เป็นรองแค่สาธารณรัฐประชาชนจีน, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเท่านั้น...อินเดียมีกำลังการผลิตรถยนต์รวม 5,851,507 คัน แบ่งเป็นรถเก๋ง 4,783,628 คัน รถเพื่อการพาณิชย์ 1,067,879 คัน ผลิตเพิ่มขึ้น 7 % เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผลิตได้ 5,456,857 คัน และเราเจาะลึกลงไปที่โรงงานผลิตรถของ MARUTI SUZUKI ในอินเดีย ปี 2023 มีกำลังการผลิต 1,983,851 คัน และภายในปี 2030 แผนงานผลิตรถเพิ่มเป็น 4 ล้านคัน/ปี นั่นหมายถึง คุณภาพของการผลิตต้องดีจริงๆ ถึงจะยกระดับตัวเองไปผลิตรถได้จำนวนมากขนาดนั้น ส่วนโรงงานที่ญี่ปุ่น ผลิตปีละ 1,011,257 คัน และโรงงานในอินโดนีเซีย 94,941 คัน สำหรับโรงงานในเมืองไทย 10,000 กว่าคัน/ปี
“เรายุติการผลิตที่โรงงาน เพราะขาดทุนมาหลายปี เรายุติไม่ใช่เพราะอยากย้ายโรงงาน เรายุติเพราะเราเดือดร้อน แต่เรายังมุ่งมั่นที่จะดูแลลูกค้า รวมถึงเราจะนำสินค้าใหม่มาเสนอต่อลูกค้าต่อไป”
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่คำพูด แต่นี่คือ คำสัญญาที่ SUZUKI ส่งสารถึงลูกค้าให้เชื่อมั่น และเชื่อใจ