วิถีตลาดรถยนต์
ไม่กระเตื้องขึ้นเลย
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนสิงหาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -25.0 %
รถยนต์นั่ง -22.6 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +11.0 %
กระบะ 1 ตัน -39.2 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -25.9 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-สิงหาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -23.9 %
รถยนต์นั่ง -20.6 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +14.9 %
กระบะ 1 ตัน -40.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -8.9 %
เดือนสิงหาคม ผ่านพ้นไปอีกเดือนหนึ่ง สำหรับการซื้อ-ขายรถใหม่ป้ายแดงในบ้านเรา ซึ่งตัวเลขยอดขายก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่กระเตื้องขึ้นจากเดือนอื่นๆ ของปี 2567 ในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากจะเป็นปัญหาเดิมที่ฉุดรั้งไม่ให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่กระเตื้องขึ้น ที่ประกอบด้วยเรื่องของเศรษฐกิจ ที่ไม่ฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น และเรื่องของการปล่อยสินเชื่อยานยนต์ที่เข้มงวดแล้ว ในเดือนนี้ยังมีปัญหาอุทกภัยทางภาคเหนือซ้ำเติมเข้ามาอีกด้วย ทำใจยาวๆ กันไปแล้วกัน
เดือนสิงหาคม 2567 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่ รวมทั้งสิ้น 45,190 คันเทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2566 แล้วจำหน่ายรถใหม่รวมกันได้น้อยลงถึง 15,044 คัน หรือแตกต่างกันที่ 25.0 % โดยในบรรดารถที่ขายดีอยู่หัวแถว มีรถจากประเทศจีน สอดแทรกเข้ามาได้อีกเดือนหนึ่ง อันดับ 1 ของรถขายดีประจำเดือนสิงหาคม ยังคงเป็นรถจากค่าย TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 17,843 คัน เทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง 3,028 คัน หรือ 14.5 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 39.5 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายได้ 6,145 คัน เทียบกับสิงหาคมปีก่อน ลดลงถึง 5,235 คัน หรือ 46.0 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 13.6 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 5,005 คัน ลดลง 2,079 คัน หรือ 29.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.1 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) จำหน่ายได้ 3,457 คัน เพิ่มขึ้นถึง 1,206 คัน หรือ 53.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.6 % และอันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายได้ 2,041 คัน ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย 62 คัน หรือ 2.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.5 %
เดือนมกราคม-สิงหาคม 2567 รถใหม่ในบ้านเราจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 399,611 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จำหน่ายน้อยลง 125,173 คัน หรือลดลง 23.9 % โดยรถที่จำหน่ายได้มากสุดจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ อันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA จำหน่ายได้รวม 151,907 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 26,244 คัน หรือ 14.7 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 38.0 % ตามมาด้วย ISUZU 59,189 คัน ลดลง 50,207 คัน หรือ 45.9 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 14.8 % อันดับ 3 ค่าย HONDA 53,946 คัน ลดลง 6,823 คัน หรือ 11.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.5 % อันดับ 4 BYD 20,878 คัน เพิ่มขึ้น 6,084 คัน หรือ 41.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.2 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 18,263 คัน ลดลง 6,180 คัน หรือ 25.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
สำหรับรถพิคอัพ 1 ตัน ผู้เล่นในตลาดนี้ยังคงมี 7 ราย แต่อีกไม่นานจะมีรายที่ 8 ซึ่งจะนำความแปลกใหม่เข้ามานำเสนอ ตามดูกันต่อไปว่าจะรุ่ง หรือร่วง ! เดือนสิงหาคม 2567 ยอดจำหน่ายรวมของตลาดรถพิคอัพ อยู่ที่ 14,970 คัน เทียบกับเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา แตกต่างกันอยู่ 9,652 คัน หรือเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 39.2 %
5 อันดับรถพิคอัพยอดนิยม ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 7,086 คัน ลดลงจากสิงหาคมปีที่แล้ว 2,928 คัน หรือ 29.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 47.3 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้ 5,275 คัน ลดลงถึง 4,724 คัน หรือ 47.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 35.2 % อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 1,501 คัน ลดลง 1,455 คัน หรือ 49.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.0 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 666 คัน ลดลง 502 คัน หรือ 43.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.4 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 280 คัน ลดลง 96 คัน หรือ 25.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.9 %
ผ่านไป 8 เดือน ตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน จำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 139,532 คัน ลดลง 93,024 คัน หรือ 40.0 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว TOYOTA ยังคงได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1 ด้วยยอดจำหน่ายสะสมรวม 64,144 คัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 26,502 คัน หรือ 29.2 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 46.0 % อันดับ 2 ISUZU 51,711 คัน ลดลงถึง 47,149 คัน หรือ 47.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.1 % อันดับ 3 FORD 14,730 คัน ลดลง 11,097 คัน หรือ 43.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.6 % อันดับ 4 MITSUBISHI 5,869 คัน ลดลงถึง 6,909 คัน หรือ 54.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.2 % และอันดับ 5 NISSAN 2,081 คัน ลดลง 1,025 คัน หรือลดลง 33.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
รถเอสยูวี เดือนสิงหาคม 2567 มีรถเอสยูวีจากแดนมังกรพาเหรดติดอันดับรถขายดีถึง 3 ยี่ห้อ โดยยอดจำหน่ายรวมของทั้งตลาดอยู่ที่ 9,164 คัน เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 910 คัน หรือ 11.0 % เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 รถเอสยูวีที่จำหน่ายได้มากที่สุด อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 4,153 คัน เพิ่มขึ้นถึง 2,423 คัน หรือ 140.1 % เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาด 45.3 % อันดับ 2 HONDA 1,703 คัน ลดลง 1,033 คัน หรือ 37.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 18.6 % อันดับ 3 BYD 1,287 คัน ลดลง 483 คัน หรือ 27.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.0 % อันดับ 4 NETA (เนทา) 647 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.1 % และอันดับ 5 CHANGAN (ฉางอัน) 316 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 3.4 %
8 เดือนผ่านไป รถเอสยูวีจำหน่ายไปแล้วรวม 80,121 คัน ตลาดโตขึ้น 14.9 % หรือจำหน่ายได้มากขึ้น 10,417 คัน เมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกปี 2566 รถเอสยูวีที่มียอดจำหน่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายแล้วรวม 36,696 คัน เพิ่มขึ้น 22,722 คัน หรือเพิ่มขึ้น 162.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.8 % อันดับ 2 HONDA 23,391 คัน เพิ่มขึ้น 2,317 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 29.2 % อันดับ 3 BYD 5,952 คัน ลดลง 8,361 คัน หรือ 58.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.4 % อันดับ 4 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 2,694 คัน ลดลง 1,673 คัน หรือ 38.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.4 % และอันดับ 5 MAZDA (มาซดา) 2,487 คัน ลดลง 2,884 คัน หรือลดลง 53.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.1 %
เดือนสิงหาคม 2567 รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายรวมกันได้ 2,751 คัน ลดลง 962 คัน หรือ 25.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เดือนมกราคม-สิงหาคม 2567 จำหน่ายรวมทั้งสิ้น 25,764 คัน ลดลง 2,517 คัน หรือ 8.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เดือนสิงหาคม 2567 มีการจดทะเบียนรถพิคอัพ และรถเอสยูวี รวมทั้งสิ้น 29,370 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา 12,574 คัน หรือ 30.0 %