วิถีตลาดรถยนต์
จมน้ำตามคาด
"มั่นใจ...เอาอยู่" เป็นคำพูดที่แสลงหูที่สุดของพ่อแม่พี่น้องที่บ้านเรือนทรัพย์สินจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งทีมงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้หามาตรการต่างรับมือกับมวลน้ำจำนวนมหาศาลที่รุกคืบเข้าสู่กรุงเทพมหานครเจื้อยแจ้วออกมา หลังจากที่น้องน้ำทำความวิบัติให้กับหลายต่อหลายเมืองตามเส้นทางที่สัญจรผ่านมาโดยไม่เลือกว่าจะเป็นบ้านช่อง, เรือกสวนไร่นา, วัดวาอาราม รวมไปถึงเขตเศรษฐกิจสำคัญ แล้วในที่สุดเราก็ได้เห็นภาพการอพยพของผู้คนที่หนีภัยธรรมชาติ อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน บางบ้านต้องไปอาศัยอยู่ตามศูนย์อพยพ บางบ้านเปรียบได้กับคำว่าบ้านแตกต้องแยกย้ายกันไป ตามแต่ว่าใครจะมีหนทางไปทางไหน บนทางด่วนลอยฟ้ากลายเป็นที่จอดรถอย่างสมบูรณ์แบบ หาชมไม่ได้อีกแล้ว ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงักไปโดยปริยาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปีครั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเป็นพันๆ หมื่นๆ ล้านบาทจมน้ำ ต้องใช้เวลากู้คืน และสร้างความเชื่อมั่นอีกไม่รู้นานเท่าไร และหนึ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยครั้งนี้ หนีไม่พ้นอุตสาหกรรมยานยนต์
ที่โดนเข้าไปเต็มๆ เห็นจะได้แก่ ฮอนดา ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถยนต์ที่ประกอบเสร็จแล้วจำนวนมากถูกน้ำท่วมมิดถึงหลังคา ต้องทุบหรือทำลายทิ้ง นำเศษซากที่เหลือไปรีไซเคิลเพียงสถานเดียว แต่ไม่ใช่เฉพาะ ฮอนดา เท่านั้นที่โดนจัดเต็ม รถยนต์ยี่ห้ออื่นที่พึ่งพาชิ้นส่วนประกอบในประเทศ ก็ประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ เนื่องจากโรงงานของซัพพลายเออร์ทั้งหลาย ต่างก็อยู่ในเขตน้ำท่วมเช่นเดียวกัน สุดท้าย ฮอนดา ต้องประกาศปิดโรงงานอย่างไม่มีกำหนดขณะที่ยี่ห้ออื่น เช่น โตโยตา ก็ต้องหยุดเดินสายการผลิตด้วยเช่นกัน สุดท้ายตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนตุลาคม 2554 เดือนที่น้องน้ำกำลังฮึกเหิมเต็มที่ หดหายลงไปเกือบครึ่งหนึ่งของยอดจำหน่ายปกติที่เคยทำได้ในแต่ละเดือน ทั้งๆ ที่เดือนตุลาคมมีรถยนต์รุ่นที่จะสร้างยอดจำหน่ายได้เป็นกอบเป็นกำแจ้งเกิดกันหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น อีซูซุ ดี-แมกซ์ รุ่นใหม่หมด, เชฟโรเลต์ โคโลราโด ใหม่, นิสสัน อัลเมรา อีโคคาร์ 4 ประตู ซีดาน เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่าจากสภาวะเดือดร้อนแสนเข็ญครั้งใหญ่ ทำให้การตัดสินใจซื้ออ่อนแอลงไป หรืออาจจะต้องเข้าคิวรอไปก่อน จองวันนี้ไม่รู้จะได้รถเมื่อไหร่
ตลาดรถยนต์ในประเทศ เดือนตุลาคม 2554 การซื้อขายปรับตัวลดลงเกือบครึ่ง มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้นเพียง 42,873 คัน หดหายไปถึง 40.5 % เป็นสถิติตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 ปีทีเดียวเชียว โชคยังดีที่ตั้งแต่ต้นปีมีตุนไว้เยอะ เมื่อเทียบช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ยังมียอดสะสมเพิ่มขึ้น 13.6 % จำหน่ายไปได้รวมทั้งหมด 713,842 คัน และค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศรวมทั้งปี 2554 จะสูงขึ้นกว่าที่เป็นไปในปี 2553 ถึงแม้ว่ายอดจำหน่ายอีก 2 เดือนที่เหลืออยู่ของปีนี้ จะไม่สวยหรูอย่างที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ก็ตามที
จากสภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสความนิยมของความต้องการใช้รถยนต์ขึ้นอีกครั้ง โดยที่ก่อนหน้านี้ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ทั้งอีโคคาร์ หรือใหญ่ขึ้นกว่านั้นมาอีก 1 คลาสส์ เป็นกระแสที่ร้อนแรง รถเล็กที่ออกมาบุกเบิกตลาดอย่าง มาร์ช ของ นิสสัน, สวิฟท์ ของ ซูซูกิ รวมไปถึงรถเล็กราคาแพงอย่าง มีนี ได้รับความนิยมอย่างสูง จนมีรถเล็กรุ่นใหม่ โมเดลใหม่ รอเข้าคิวเปิดตัวสู่ตลาดอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน อัลเมรา ที่เปิดตัวในเดือนนี้ และอีโคคาร์ของ มิตซูบิชิ ที่เปิดตัวพโรดัคชันคาร์ ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว เดือนธันวาคม 2554 และจะเริ่มออกจำหน่ายในไทยเป็นประเทศแรกเดือนมีนาคม 2555 แต่จากกรณีน้ำท่วมใหญ่ พิสูจน์ให้เห็นว่ารถเล็ก หรือเอาเป็นว่ารถยนต์นั่ง ไม่ว่าจะรุ่นไหน แบบไหน ถ้าไม่เอาไปจอดเก็บไว้บนที่สูง ไม่สามารถสู้กระแสน้ำได้ ผิดกับรถพิคอัพ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ยังสามารถลุยน้ำช่วยเหลือตัวเอง และคนอื่นได้ ยิ่งถ้าเป็นแบบยกสูงด้วยแล้ว ยิ่งไปได้ไกลขึ้น ลึกขึ้น จึงทำให้คาดได้ว่ากระแสพิคอัพจะกลับมาอินทเรนด์เป็นตลาดหลักอีกครั้ง ปล่อยให้รถยนต์นั่งแย่งซีนไปนานพอสมควร อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่พิคอัพเกือบทั้งตลาด กำลังจะผลัดใบเปลี่ยนโมเดลใหม่กันเกือบยกแผง เครื่องยนต์ใหม่บ้าง เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาให้ทันสมัยโฉบเฉี่ยวไม่แพ้รถยนต์นั่งบ้าง จึงทำให้น่าจะเป็นโอกาสทองของพิคอัพอีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอให้สถานการณ์ทั้งหมดกลับคืนสู่สภาวะปกติเสียก่อน เดินสายการประกอบกันได้อย่างเต็มกำลัง จองรถแล้วรู้อนาคตว่าจะได้รถประมาณเมื่อไหร่ จะได้ไม่ต้องรอกันเหงือกแห้ง เสียอารมณ์ฉลองรถใหม่หมด ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งแหละ
และทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2554 ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์หดหายไปกว่าครึ่งอย่างที่ตัวเลขรวมด้านบนนำมาโชว์ให้ดู เมื่อจำแนกลงไปในส่วนของพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ตลาดหลัก เคียงข้างกับตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยอดจำหน่ายในเดือนตุลาคม ตกลงไปถึง 44.9 % มียอดรวมกันทั้งตลาดเพียง 15,938 คัน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไม่มีรถจะส่งมอบให้กับผู้ที่สั่งจองไว้ และบางรายถึงขั้นต้องปิดรับจองชั่วคราวเลยทีเดียว บแรนด์ใหญ่อย่าง โตโยตา, อีซูซุ, นิสสัน ยอดจำหน่ายหายไปกับสายน้ำเกือบครึ่ง หรือเกินครึ่ง จากยอดจำหน่ายปกติ ขณะที่ มิตซูบิชิ รวมไปถึง มาซดา, ฟอร์ด ยังรักษารูปมวยไว้ได้ แต่ยอดจำหน่ายที่หายไปของบแรนด์อันดับ 1 และอันดับ 2 สูงเกินกว่ายอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นของพระรอง ทำให้ตัวเลขออกมาติดลบอย่างที่เห็น โดย โตโยตา เบอร์ 1 ของตลาด ยอดจำหน่ายเดือนนี้หายไป 46.4 % จำหน่ายไปเพียง 5,762 คัน ส่วน อีซูซุ มีเรื่องของการชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อรอดูโฉมรถใหม่ให้กระจ่างตาก่อน ทำให้ยอดจำหน่ายหายไปถึง 63.6 % จำหน่ายได้ 4,329 คัน ขณะที่ มิตซูบิชิ รั้งอยู่ในอันดับที่ 3 ทำยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 35.5 % จากยอดจำหน่าย 2,217 คัน นิสสัน ติดลบไป 40.9 % มียอดจำหน่าย 1,122 คัน และฟอร์ด มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 91.4 % จำหน่ายไปทั้งสิ้น 823 คัน
รวมยอดยกมาตั้งแต่ต้นปี พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ จำหน่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 292,591 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12.9 % วูลิง ฉีกตัวนำโด่งเป็นที่ 1 ไปด้วยยอดจำหน่ายรวม 106,201 คัน เพิ่มขึ้น 4.4 % ที่ 2 เกีย มียอดรวมตั้งแต่ต้นปี 102,530 คัน ลดลงไปจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 0.4 % อันดับที่ 3 เป็นของ นิสสัน ด้วยยอด 33,588 คัน เพิ่มขึ้นถึง 137.0 % ขณะที่ ซูซูกิ อยู่ในอันดับที่ 4 จากยอดจำหน่าย 17,864 คัน ลดลงเล็กน้อย 0.4 % ส่วน เชฟโรเลต์ ที่เปิดตัว โคโลราโด ใหม่ มียอดรวม 8,373 คัน เพิ่มขึ้น 42.3 %
ในส่วนของพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ เดือนตุลาคมมียอดจำหน่ายรวมกัน 1,009 คัน ลดลงจากตุลาคมปีที่แล้ว 37.6 % โตโยตา ถึงจะจำหน่ายได้มากที่สุดแต่ก็ลดลงไปจากเดือนตุลาคมปีที่แล้วมากพอสมควรเหมือนกัน ติดลบไปถึง 31.5 % จำหน่ายได้ 781 คัน ตรงกันข้ามกับ มิตซูบิชิ ที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ถึงแม้ยอดจำหน่ายจะไม่มากมายเหมือนกับ โตโยตา แต่ก็จำหน่ายไปได้ 112 คัน ด้วยเปอร์เซนต์ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 67.2 % อันดับที่ 3 เป็นของ นิสสัน จำหน่ายไป 48 คัน เพิ่มขึ้น 37.1 % อันดับที่ 4 อีซูซุ ติดลบไปหนัก 88.2 % จำหน่ายไปเพียง 41 คันเท่านั้น ฟอร์ด จำหน่ายได้ 21 คัน ลดลง 4.5 %
เดือนมกราคมถึงตุลาคม พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ มียอดจำหน่ายรวมกัน 14,385 คัน ยังสู้ตัวเลขของปีที่แล้วไม่ได้ ติดลบอยู่ 3.7 % ความนิยมชมชอบในตลาดนี้เรียงลำดับได้จาก โตโยตา 9,682 คัน, อีซูซุ 2,046 คัน, นิสสัน 1,147 คัน, มิตซูบิชิ 1,126 คัน ซึ่งมีโอกาสขยับอันดับขึ้นไปแซง นิสสัน ได้ และอันดับที่ 5 ฟอร์ด 262 คัน
รถเอสยูวี เดือนตุลาคมมียอดจำหน่ายรวมที่ 3,447 คัน ลดลงจากตุลาคมปีที่แล้ว 29.4 % ใครจะลดใครจะอะไรก็ช่าง ตลาดนี้ มิตซูบิชิ ครองแชมพ์อย่างแน่นอน เดือนตุลาคมจำหน่ายไปได้อีก 1,110 คัน เพิ่มขึ้น 13.6 % รวมตั้งแต่ต้นปีเก็บสะสมไปแล้วเป็น 15,379 คัน เพิ่มขึ้น 76.7 % ใครหน้าไหนก็ตามไม่ทันแล้ว เขี่ย โตโยตา หล่นไปอยู่อันดับที่ 2 เดือนตุลาคมจำหน่ายไป 801 คัน ลดลง 55.1 % 10 เดือนมียอดรวม 11,927 คัน ลดลง 26.4 % อันดับที่ 3 ร้อนแรงขึ้นมาในเดือนนี้สำหรับ เชฟโรเลต์ จำหน่ายไป 530 คัน เพิ่มขึ้น 51.9 % ยอดรวมตั้งแต่ต้นปี 3,566 คัน เพิ่มขึ้น 11.8 % ส่วน ฮอนดา ที่เคยโด่งดังในตลาดนี้ ช่วงนี้เงียบเหงาไปหน่อยในตลาดโลก โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา โฉมใหม่ปี 2012 ออกจำหน่ายไล่ๆ กับในประเทศญี่ปุ่น ในบ้านเราหลังจากฟื้นตัวจากน้ำท่วมใหญ่แล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างก็เป็นได้ เดือนตุลาคม ฮอนดา จำหน่ายรถยนต์โมเดลนี้ไป 372 คัน ลดลงไป 36.0 % รวมตั้งแต่ต้นปีจำหน่ายไป 5,453 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 28.2 % สำหรับ อีซูซุ จำหน่ายได้ 357 คัน ลดลง 60.7 % เป็นอันดับที่ 5 ในเดือนตุลาคม แต่ยอดรวมตั้งแต่ต้นปี 6,280 คัน เพิ่มขึ้น 9.5 %
รถเอมพีวี ทั้งยอดรายเดือนและยอดรวมทั้งปี ยังอยู่ในช่วงขาลง โดยยอดจำหน่ายเดือนตุลาคมมีเพียง 650 คัน ลดลง 39.3 % โตโยตา กวาดไปเสีย 524 คัน ส่วนแบ่ง 80.6 % ของตลาดทั้งหมด แต่เป็นยอดตัวเลขที่ลดลงจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 27.5 % รวมตั้งแต่ต้นปี 6,906 คัน เพิ่มขึ้น 42.4 % อันดับ 2 เป็นของ ปโรตอน จำหน่ายได้ 37 คัน ยอดรวม 1,565 คัน ลดลง 23.5 % อันดับ 3 ฮอนดา เดือนตุลาคมทั้งเดือนจำหน่าย 28 คัน ลดลงถึง 86.4 % รวมตั้งแต่ต้นปี 868 คัน ลดลง 66.3 % อันดับ 4 มิตซูบิชิ จำหน่ายได้ 20 คัน ลดลง 74.4 % ยอดตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 764 คัน ติดลบอยู่ 31.0 % อันดับที่ 5 หน้าใหม่จากเมืองจีน วูลิง เดือนตุลาคมมียอด 12 คัน เพิ่มขึ้น 100.0 % รวม 10 เดือนแซง ซังยง ของสาธารณรัฐเกาหลี เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 5 เช่นกัน จำหน่ายไปแล้ว 139 คัน เพิ่มขึ้น 6.9 % ยอดรวมทั้งตลาดตั้งแต่ต้นปี มาจนถึงเดือนตุลาคม มีทั้งสิ้น 10,720 คัน ยังน้อยกว่าที่เคยทำได้ในปี 2553 อยู่ 3.1 %
เดือนพฤศจิกายน อิทธิพลของวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ ยังคงมีผลอย่างต่อเนื่องแน่นอน แต่จะทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ หัวทิ่มจมน้ำลึกลงไปอีก หรือจะกระเตื้องขึ้นประการใด ต้องรอดูต่อไป แต่สุดท้ายยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนธันวาคม ที่มีงาน MOTOR EXPO เป็นตัวกระตุ้นยอดจำหน่ายส่งท้ายปี คงจะช่วยให้ปิดยอดจำหน่ายปี 2554 ได้สวยหรูพอสมควร เมื่อเทียบกับวาระพิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2554
[table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม ปี '54 กับ '53
ตลาดโดยรวม ,- ,40.5 %
รถยนต์นั่ง ,- ,38.8 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ ,- ,44.9 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ,- ,37.6 %
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ,- ,29.4 %
รถเอมพีวี ,- ,39.3 %
[table]
[/table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี '54 กับ '53
ตลาดโดยรวม ,+ ,13.6 %
รถยนต์นั่ง ,+ ,18.3 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ ,+ ,12.9 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ,- ,3.7 %
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ,+ ,5.3 %
รถเอมพีวี ,- ,3.1 %
[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2555
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์