ชีวิตคือความรื่นรมย์
ข้าพเจ้าเกิดที่สตรีสาร
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 สมัยเมื่อปี 2495 ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก เพราะหลงใหลในบทบาทของ วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา ตัวละครเอกในเรื่อง ละครแห่งชีวิต ของ มจ. อากาศดำเกิง ซึ่งเป็นนวนิยายยุคบุกเบิกประเภทนวนิยายพันทาง (EXOTIC NOVEL) คือ ใช้ฉากในต่างประเทศ คิดว่าจะทำให้ข้าพเจ้าได้เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์อย่างนั้นบ้างแต่อาจารย์ที่ข้าพเจ้ารักอย่างแม่อีกคน ได้เตือนสติว่าการเป็นนักหนังสือพิมพ์นั้นไม่เป็นกันง่ายๆ อย่างที่เด็กหนุ่มอายุ 18 ปีคิดฝัน เพราะเด็กบ้านนอกลูกชาวนาจนๆ แถมกำพร้าทั้งพ่อเมื่ออายุ 7 ปี กำพร้าแม่เมื่ออายุ 16 ปี แถมยังไม่มีทั้งผู้สนับสนุนทุนส่งให้เรียน ทั้งไม่มีบ้านญาติพี่น้องอาศัยในระหว่างเรียนในกรุงเทพ ฯ และที่สำคัญ สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน-วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย สอนวิชาการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ เพราะวิชาวารสารศาสตร์ และวิชานิเทศศาสตร์ เริ่มตั้งเป็นแผนกวิชาที่อาศัยแฝงตัวในบางคณะของมหาวิทยาลัยเมื่อประมาณปี 2505-2510 คือ เมื่อเด็กช่างฝันโดยไร้หลักความจริงคนนั้น เรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครู 3 ปี จนจบประกาศนียบัตรครู และไปต่อมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี จนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย ออกไปสอนหนังสือแล้วหลายปี สมัยนั้นยังไม่มีวิชาแนะแนวการเรียน แต่อาจารย์ที่จบอักษรศาสตร์บัณฑิต ผู้ทำให้ข้าพเจ้าใฝ่ฝันอยากเรียนตามอย่างท่าน แนะนำให้ข้าพเจ้าไปสมัครสอบชิงทุนไปเรียนวิชาฝึกหัดครูที่กำลังประกาศรับสมัคร เพราะนอกจากจะได้ไปอยู่โรงเรียนประจำ มีที่พักและที่อยู่ที่กินแล้ว ยังมีทุนสนับสนุนถึงปีละ 1,200 บาทอีกด้วย !! ในระหว่างที่เป็นนักเรียนประจำ (ภาษาทั่วไปเรียกว่า นักเรียนกินนอน) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี (สมัยโน้นยังเป็นจังหวัดอิสระเอกเทศ ไม่เป็นเหมือนลูกเมียน้อยของกรุงเทพมหานคร อย่างทุกวันนี้) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูนั่นเอง ข้าพเจ้าได้เพื่อนจากจังหวัดลำปาง ซึ่งเขานำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมายั่วความอยากดั้งเดิมของข้าพเจ้า และเพื่อนรักคนนั้นนั่นเองที่เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ เอากลอนที่เขียนด้วยความกระหาย ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย ส่งไปให้บรรณาธิการ "ไทยลานนา" แล้วดันได้ลงเสียด้วย เลยทำให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนแนวคิดมาสนใจการเป็น "นักกลอน" อย่างจริงจังในกาลต่อมา ในระหว่างเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูนั้น ทางโรงเรียนมีกิจกรรมให้นักเรียนฝึกหัดครูฝึกหาความถนัด โดยมีชุมนุมต่างๆ ขึ้น ข้าพเจ้าไม่ลังเลใจที่จะสมัครเข้าชุมนุมหนังสือพิมพ์ ตอนเรียนชั้นปีที่ 1 ก็เป็นลูกมือพี่ๆ เรียนรู้งานไป พอขึ้นชั้นปีที่ 2 พี่ๆ ก็เห็นแววการเขียน และเพื่อนร่วมชั้นปีที่ 2 ก็ลงมติให้เป็นตัวแทนของชั้น ไปร่วมในกองบรรณาธิการของ "ข่าวสารบ้านสมเด็จ" เอกสารโรเนียวจำไม่ได้แล้วว่ารายอะไร นั่นคือแนวทางให้ข้าพเจ้าได้เป็นประธานชุมนุมหนังสือพิมพ์เต็มตัวเมื่อขึ้นชั้นฝึกหัดครูปีที่ 3 ซึ่งต้องรวมคณะทำหนังสืออนุสรณ์ประจำปีและประจำรุ่น เมื่อเราจบประกาศนียบัตรวิชาครูประถมศึกษา (ป.ป.) รุ่นปี 2498 นับเป็น ป.ป.รุ่นรองสุดท้าย เพราะอีก 1 ปีต่อมา กรมการฝึดหัดครูก็เปลี่ยนหลักสูตรเป็นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ. 2 ปี) และชั้นสูงอีก 2 ปี (ป.กศ. สูง 2 ปี) นั่นเองเป็นสาเหตุให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ช่วยสาราณียกรคณะอักษรศาสตร์ เมื่อเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในปี 2499 โดยมีสาราณียกรตัวจริงชื่อ วิจิตร ศรีสอ้าน (ศ. ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ปลัดทบวงมมหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอื่นๆ อีกมากมาย ในกาลต่อมาจนปัจจุบัน) แล้วก็เป็นสาราณียกรอักษรศาสตร์ในปีที่ 2 และเป็นสาราณียกรสโมสรนิสิตจุฬา ฯ (สารา ฯ ส.จ.ม.) เมื่ออยู่ชั้นปีที่ 3 ตามแนวทางที่คุณวิจิตร ศรีสอ้าน เดินนำทางไปก่อน ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็มุ่งมานะพยายามเขียนกลอนส่งไปที่สตรีสาร และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อื่นๆ เช่น สยามสมัย เดลิเมล์วันจันทร์ แสนสุข และนิตยสารรายเดือนที่โด่งดัง เช่น ชาวกรุง เป็นต้น ช่วง 2 ทศวรรษ ได้แก่ 2500-2520 นักกลอนหนุ่มสาวที่กำลังมีผลงานเป็นที่รู้จักกันดีในวงการ นำโดย วิจิตร ปิ่นจินดา (ผู้ใช้นามปากกา เจษฎา วิจิตร) สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ (เจ้าของบทกวีที่กลายเป็นเพลง "จากเจ้าพระยา ถึงฝั่งโขง") สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ (เจ้าของบทกวีที่กลายมาเป็นเพลงซึ้งใจ "ฝากหมอน" และอีกหลายๆ เพลงของวงสุนทราภรณ์ ในกาลต่อมา) ได้คิดชักชวนเพื่อนนักกลอนที่ยังกระจัดกระจาย ต่างคนต่างอยู่ ให้มาพบกัน จำได้ว่าวันนั้น คือ วันที่ 4 ตุลาคม 2502 เพื่อนรักทั้ง 3 คน ซึ่งมียุทธภูมิต่างสำนัก ก็นัดเพื่อนที่ส่วนมากรู้จักกันแต่นามปากกา และผลงานที่ได้ลงพิมพ์ในคอลัมน์บทกวีของนิตยสารต่างๆ มาพบกัน โดยที่ตอนนั้น เจษฎา วิจิตร (ดูเหมือน) ดูแลคอลัมน์ "แจกันแก้ว" ที่นิตยสารโด่งดัง "เดลิเมล์วันจันทร์" ที่สำนักงานเก่าของเดลินิวส์ที่สี่พระยา (หรือต่อมา) ที่ "รุ้งทอง" ปลายสัปดาห์ที่วังบูรพา หรือที่ "สุภาพสตรี" ที่ทุ่งมหาเมฆ (ตรงข้ามทางลงทางด่วนบ่อนไก่) ของ ครูสุรัสน์ พุกกะเวส (ต่อมาเปลี่ยนเป็น "สุรัฐ" กวีผู้มีความละเมียดละไมในถ้อยคำที่สรรหามาบรรจุในทำนองกลายเป็นเพลงอมตะเฉกเช่น สุดสงวน, อุษาสวาท, พรหมลิขิต ฯลฯ ขณะที่ สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ ดูแลคอลัมน์กวีที่ "แสนสุข" (สี่แยกบางขุนพรหม) ตรงข้ามร้านเป็ดย่างพูลสิน มุมวัดตรีทศเทพ และสวัสดิ์ ธงศรีเจริญ อยู่ที่ "แม่บ้านการเรือน" ดูเหมือนอยู่ที่ถนนนครสวรรค์ หรือหลานหลวง (ผู้เขียนไม่เคยไปที่สำนักนี้ เมื่อมีกลอนลงพิมพ์ สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ จะจัดส่งค่ากลอนไปให้เอง ที่พบกันนั้นเพื่อร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระที่หอประชุมโรงพยาบาลสงฆ์ สี่แยกถนนศรีอยุธยา ตัดกับถนนพระรามที่ 5 เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่กวีเก่าๆ ของชาติ ซึ่งท่านไปชุมนุมกันที่สรวงสววรรค์ชั้นกวี (ตามที่พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.) ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า "สรวงสววรรค์ชั้นกวีรุจิรัตน์ ผ่องประภัสพรายหาวพราวเวหา พริ้งไพเราะเสนาะกรรณวรรณนา สมสมญาแห่งสวรรค์ชั้นกวี ฯลฯ) พวกเรานักกลอนกวีทั้งหลายยังเคารพกราบไหว้กวีทั้งหลายเหล่านั้นเสมอ นับแต่พระบรมราชวงศ์จนถึงกวีเดินดินกินข้าวแกง ภายหลังถวายอาหารเพลพระสงฆ์แล้ว เพื่อนที่มาชุมนุมกันวันนั้น 15 คน ได้รับประทานอาหารร่วมกัน บางคนสนิทสนมกันมาก่อน แต่หลายคนเพิ่งจะได้รู้จักกันวันนั้น หลังจากเคยอ่านแต่กลอนกันมามากบ้างน้อยบ้าง หลังอาหารมื้อนั้นจึงเกิดความคิดที่จะร่วมกันตั้งกลุ่มชื่อว่า "ชมรมนักกลอน" โดย มะเนาะ ยูเด็น อักษรศาสตร์บัณฑิตจากตำหนัก "เทวาลัย" ช่วยให้คำอธิบายว่า "นักกลอน หมายถึง ผู้ที่รักหรือเชี่ยวชาญในการแต่งคำประพันธ์ ที่มีฉันทลักษณ์ หรือที่เรียก ร้อยกรอง" รายนามทั้ง 15 คนมีดังนี้ ชยศรี สุนทรพิพิธ, นรี นันทวัทน์, นลินี อินทรกำแหง, รำภี สอนอำไพ, ศิริเพ็ญ ภิบาลกุล, พวงศรี สิงหเสนี, จันทร์เพ็ญ วิเชียรพันธุ์, วิจิตร ปิ่นจินดา, สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์, สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ, มะเนาะ ยูเด็น, ประยอม ซองทอง, วินัย ภู่ระหงษ์, โกวิท สีตลายัน และกวี มานะวุฒิ ถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "ชมรมนักกลอน" ก่อนจะกลายเป็น "สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย" ในปัจจุบัน ซึ่งมีอายุครบ 53 ปี ในวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ในช่วงเป็นนิสิตอักษรศาสตร์นั้นเอง ข้าพเจ้าได้พบรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน และรุ่นน้อง ที่ชอบเขียนกลอนกันมาก และก็นับว่าความพยายามได้รับการตอบรับ เมื่อวันหนึ่งในปี 2500 ได้รับจดหมายอันเสมือนเป็นน้ำอมฤตที่รอคอยมานาน นั่นคือ จดหมายจากบรรณาธิการสตรีสาร รายปักษ์ คือ อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง (ต่อมา คือ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้ได้รับ รางวัลแมกไซไซ รุ่นแรกๆ ของไทย และผู้ได้รับ รางวัลศรีบูรพา คนที่ 3 ปี 2534) ที่มีถึงข้าพเจ้าใจความ (ทำนองนี้) ว่า "ดิฉันได้อ่านกลอนสำนวนล่าสุดที่ส่งไปให้พิจารณาแล้ว เห็นว่าถ้อยคำสำนวนมีแววกวีใช้ได้ แม้ดิฉันไม่ค่อยจะเห็นด้วยนักในทัศนะที่สรุปไว้ในวรรคสุดท้ายก็ตาม แต่ก็นำลงพิมพ์ในสตรีสารฉบับที่....กุมภาพันธ์ 2500" จดหมายบรรณาธิการสตรีสาร เสมือนหยาดน้ำอมฤตสำหรับคนเขียนกลอนใหม่ แม้ผ่านมากว่า 55 ปีแล้ว ผู้เขียนยังจำได้ดี สมดังคำของเพื่อนๆ อย่าง แรมจันทร์ อัฏฐมาส, ภิญโญ ศรีจำลอง, เจษฎา วิจิตร ที่มีผลงานโด่งดังในสตรีสารมาก่อน เคยยืนยันไว้ นั่นคือ ประกาศนียบัตรที่บรรณาธิการสตรีสารผู้เคร่งครัดในการพิจารณาผลงานอย่างละเอียดมาก ได้เปิดประตูใจของท่าน และเปิดประตูสตรีสาร ให้เดินเข้าไปได้แล้ว หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็มีงานกลอนลงพิมพ์ในสตรีสารเสมอ ข้าพเจ้าหยิบต้นฉบับกลอนชิ้นนั้นมาอ่าน แล้วก็เข้าใจคำในจดหมายของท่านบรรณาธิการ เพราะกลอนชิ้นนั้นสะท้อนความรู้สึกอึดอัดใจที่มีต่อสภาพการเมืองหลัง "การเลือกตั้ง (ที่สื่อมวลชนยุคนั้นให้ตราประทับว่า)สกปรก" ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนเราชาวจุฬา ฯ ถึงกับกล้าลดธงชาติที่เสาธงหน้าหอประชุมใหญ่ลงมาครึ่งเสาจน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของพระนคร ต้องไปไกล่เกลี่ยให้เชิญธงขึ้นเสาก่อน แล้วกล่าวเชิงอนุญาตให้เดินไปประท้วงโดยสุภาพเรียบร้อยที่กระทรวงมหาดไทย จนเย็นนิสิตจากจุฬา ฯ และนักศึกษาจากธรรมศาสตร์ ก็รวมกับประชาชนนับหมื่นแสนคนที่รวมกันไฮปาร์คที่สนามหลวง ก็พากันเดินไปตามถนนราชดำเนิน ตอนที่ขึ้นไปยืนบนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้าพเจ้ายังจำภาพนั้นติดตรึงใจจนบัดนี้ จากท้ายขบวนหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ไปจรดสะพานผ่านพิภพลีลา ไปจนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จากผ่านฟ้า ฯ เหยียดยาวไปติดตรึงที่สะพานมัฆวาฬรังสรรค์ จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งให้ ร.อ. อาทิตย์ กำลังเอก สั่งให้ตำรวจทหารเปิดทางให้คนมืดฟ้ามัวดินนั้น ไปประชิดทำเนียบแล้วพังประตูทำเนียบเข้าไปฟัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีร่ายยาว แต่ไม่ยอมลาออก จนถูกรัฐประหารขับไล่ ต้องหนีไปต่างประเทศนับจากนั้น จนสิ้นชีวิตที่ต่างแดน บทกลอนชื่อ "จะอยู่ไปไย...ถ้า" มีดังนี้ "คืนนี้...ฟ้ากว้างมีเพียงเรียวเดือนเคียวขด น้ำตาหาวกราวเปาะเพราะระทด หรีดหริ่งลดเสียงกระเส่าเบาลงนิด/ลมรุ่งหวิวพลิ้วไปเพียงใจปราศ ใบไม้ขลาดขยาดระกิ่งสะกิด ซอซิบแผ่วแว่วเสียงเพียงถูกริด...คนคงคิดเจ็บปวดรวดร้าวนัก !/คลื่นไม่โถมทอดซบกระทบฝั่ง ทรุดกายนั่งทรายผ่าวราวไฟหมัก น้ำเยือกเยียบเฉียบฉ่าไม่กล้าวัก...คนคงจักทุกข์ทับอับความคิด !/หญ้าไม่นุ่มชุ่มน้ำค้างถ่างยอดโอ่ นกค่อยโผแผ่วเสียงพ้อเพียงปลิด ผกากรุ่นกลิ่นกรายไม่ทันชิด...คนคงผิดหวังหมายทลายยับ !/หิ่งห้อยหุบแสงเขียวบินเลี้ยวลิบ ไฟฟากโพ้นพราวยิบกระพริบดับ แสงเทียนซีดจางสีไม่มีวับ...คนคงคับทรวงแปลบแสบชีวิต !/มีตาหูรู้เห็นเป็นประจักษ์ มีปากทักสมองผูกใดถูกผิด เขาเฆี่ยนขวับทับถมจนจมมิด...จะอยู่ไยไร้ความคิดสิทธิ์เสรี !!
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2556
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์