เป็นข่าวใหญ่โตกันเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อประธานาธิบดี Donald Trump ทวิตข้อความแสดงความยินดีกับชาวอเมริกันว่า Toyota และ Mazda จะลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญ ราว 56 พันล้านบาท สามารถประกอบรถยนต์ได้ปีละ 300,000 คัน และจ้างงานชาวอเมริกันอีก 4,000 ตำแหน่ง โดยจะเริ่มสายการประกอบได้ในปี 2564 เพื่อจำหน่ายในตลาดอเมริกาเหนือโรงงานแห่งใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางธุรกิจ ที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นสองค่ายให้คำจำกัดความว่าเป็น Business and Capital Alliance ของค่ายรถยนต์ทั้งสอง โดย Toyota เข้ามาซื้อหุ้น มาสด้า 5.5% ขณะที่ Mazda เองก็ย้อนกลับไปซื้อหุ้นใน Toyota 0.25% โดย Toyota จะประกอบรุ่น Corolla Mazda น่าจะเป็นครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี CX-4 ที่เปิดตัวไปที่ มหกรรมยานยนต์ปักกิ่ง ปีที่แล้ว และทั้งสองค่ายยังประกาศที่จะร่วมมือกันในการผลิตรถไฟฟ้าอีกด้วย นอกเหนือจากนั้น Toyota ยังจะช่วยเหลือ Mazda ในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ และการเชื่อมต่อระหว่างยานยนต์ที่ Mazda ยังล้าหลังในการพัฒนาอยู่มาก “สิ่งที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดสำหรับความร่วมมือกับ Mazda ในครั้งนี้ คือเราได้ร่วมกับหุ้นส่วนรายใหม่ ที่มีความรักในยานยนต์อย่างแท้จริง” Akio Toyoda ประธาน Toyota ระบุในคำแถลงการณ์ “นอกจากนั้นมันยังช่วยกระตุ้นเร้าจิตใจในการแข่งขัน เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของ Mazda ที่ไม่ต้องการเป็นบริษัทที่ดีที่สุด นับเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่ผู้หลงไหลในยานยนต์ 2 ฝ่ายมาพบกัน ทำงานด้วยกันเพื่อผลิตรถยนต์ที่ดีที่สุด” แม้ว่าความร่วมมือในการก่อสร้างโรงงานประกอบแห่งใหม่ จะเพิ่งได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ และจะใช้เวลาในการก่อสร้างอีก 3-4 ปีก็ตาม แต่การแข่งขันระหว่างมลรัฐในอเมริกา เพื่อการแย่งชิงตำแหน่งที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ก็เริ่มขึ้นในทันที โดย Toyota เองวางเป้าที่จะผลิตรถซีดาน Corolla ต่อไปในโรงงาน Blue Springs เพราะต้องการความได้เปรียบในการที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อย ทำการผลิตอยู่ในบริเวณใกล้เคียงอยู่แล้ว Toyota ยังวางแผนที่จะย้ายสายการผลิตรถกระบะ Tacoma บางส่วน จากโรงงาน Guanajuato ประเทศเมกซิโก ซึ่งจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2562 ทั้งที่แต่เดิม วางแผนที่จะย้ายการผลิต Corolla ทั้งหมด ไปที่ประเทศเมกซิโก เพื่อให้เหลือที่ว่างสำหรับการผลิต Tacoma ใน Blue Springs ปีที่แล้ว Toyota จำหน่าย Corolla ได้ 378,210 คัน ในอเมริกา ขณะที่ Mazda ขายรุ่นยอดนิยม CX-5 ที่ขายดีที่สุดได้ 112,235 คัน และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยคาดว่า ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ของ Mazda น่าจะต้องขึ้นสายการผลิตราวครึ่งหนึ่งของโรงงานแห่งใหม่นี้ จากกำลังผลิต 300,000 คันต่อปี ขณะที่ Toyota จะแบ่งการผลิตระหว่างโรงงานแห่งใหม่กับโรงงาน Blue Springs หากมีความจำเป็น Corolla รุ่นใหม่จะผลิตจากโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของ Toyota New Global Architecture (TNGA) ซึ่งใช้ในการผลิต Camry รุ่นล่าสุด และมีความเป็นไปได้ว่า ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ของ Mzada จะใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกันนี้ เพราะ Mazda เอง มีความเข้าใจในการผลิตรถยนต์หลากรุ่น ภายใต้โรงงานแห่งเดียวกันมาก่อนหน้านี้ โดยโรงงานที่ Hiroshima เคยผลิตทั้งรถซีดานขับเคลื่อนล้อหน้า ควบคู่ไปกับ ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี รวมถึง MX-5 และต่อมาก็ผลิต RX-8 ที่มีความแตกต่างกันพอสมควร จนกระทั่งค่าย Ford ถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนกับ Mazda เมื่อปี 2551 ที่ก่อนหน้านั้นก็ทำการผลิต Ford Mustang ขับล้อหลัง และ Mazda6 ขับล้อหน้า ในโรงงาน Flat Rock ใน Michigan แห่งเดียวกัน ทำให้ค่าย Mazda มีความคล่องตัวในการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น แต่ก็ยังขาดเทคโนโลยีใหม่ๆ อันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ขาดเงินทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ความร่วมมือกับ Toyota ครั้งนี้ มีการระบุข้อความไว้ว่า “จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับโครงสร้างรถไฟฟ้า ที่ล้ำสมัย การเชื่อมต่อ และแลกเปลี่ยนความชำนาญอย่างมีเสรีภาพและเป็นไปโดยสร้างสรรค์” แม้ว่า โตโยต้า เอง ก็ยังล้าหลังในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เพราะไปมุ่งในการผลิตรถไฮบริด พริอุส และการพัฒนารถยนต์เซลส์เชื้อเพลิง ไฮดรอเจน ทั้งสองค่ายยังจะร่วมกันพัฒนาระบบเพื่อความบันเทิงภายในรถ และเทคโนโลยีการแสดงข้อมูลของรถ โดย Mazda จะให้ความร่วมมือ “ในการพัฒนาการสื่อสารระหว่าง ยานยนต์-ต่อ-ยานยนต์ และ ยานยนต์-ต่อ-โครงสร้างพื้นฐานภายนอกรถ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตรถยนต์ที่ปลอดอุบัติเหตุมากที่สุด” ค่าย Mazda ขึ้นสายการผลิต Yaris iA สำหรับ Toyota ด้วยพื้นฐานจาก Mazda2 ในโรงงาน Salamanca ประเทศเมกซิโก ขณะที่ Toyota ก็จะผลิตรถแวนเพื่อการพาณิชย์ แบบ 2 กล่อง สำหรับตลาดประเทศญี่ปุ่น ให้กับ Mazda ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ค่าย Toyota เพิ่งจะร่วมกับ Subaru ในการผลิตรถสปอร์ท Toyota 86 และ Subaru BRZ เป็นผลมาจากการที่ Toyota ซื้อหุ้น 10% ของ Fuji Heavy Industry ที่ General Motors ประกาศขายหุ้น 20% ของ Subaru เมื่อปี 2558 รวมเป็นหุ้นของ Toyota ใน Subaru ท้ังสิ้น 16.5% ขณะเดียวกัน ก็เข้าไปถือหุ้นในค่าย Suzuki เพื่อการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็ก สำหรับตลาดเกิดใหม่ ที่ขณะนี้กำลังก่อตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศไทย ทางด้าน Mazda หลังจาก Chrysler ประสบปัญหาด้านการเงินเมื่อปี 2552 ต้องเข้าไปอยู่ในปีกของ Fiat Chrysler Automobiles (FCA) ก็เคยเซ็นสัญญาที่จะผลิต Fiat 124 Spider ซึ่งก็คือ Alfa Romeo ให้เป็น Mazda MX-5 ก่อนหน้านี้ และจากความร่วมมือกับ Toyota ทำให้ Mazda สามารถมีโรงงานประกอบในอเมริกา จากที่เดิม ส่งออกไปจากญี่ปุ่น และโรงงานในเมกซิโก เป็นครั้งแรก ผู้สื่อข่าวเลยสงสัยว่า นอกเหนือจากความร่วมมือในการผลิตรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะมีเหตุผลที่ซ่อนไว้เบื้องหลังเพื่อการผลิตรถสปอร์ทร่วมกันหรือไม่