สองเดือนแรกของปี สังเกตอะไรกันบ้างหรือไม่ครับ ว่าปีนี้ ไม่ค่อยมีสื่อมวลชนให้ความสนใจกับรายการสัมภาษณ์นักการตลาดถึงแนวโน้มของปี 2564 ว่ายอดการขายรถยนต์ และยี่ห้อนั้นๆ จะขายได้สักเท่าไรก็อย่างที่ทราบกันดีว่า แค่เอาตัวรอดมาจากปี 2563 ได้โดยไม่บุบสลาย ก็ดีเท่าใดแล้ว เลยหยิบเอารายการสัมภาษณ์ของสถาบันยานยนต์ มาคุยกันดีกว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 1,427,275 คัน จำหน่ายในประเทศ 792,146 คัน และส่งออก 735,842 คัน ลดลง 29 %, 21 % และ 30 % ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่อย่างไรก็ตามปริมาณดังกล่าวยังเป็นไปตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ ยังได้สรุปเหตุการณ์ปี 2563 ไว้ว่า เดือนมกราคม เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในมณฑลอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ในหลายๆ ประเทศ, เดือนกุมภาพันธ์บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ (General Motors (Thailand) Ltd.) ประกาศยุติการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผู้ผลิตรถยนต์จำนวน 51 รายทั่วโลก รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ 8 ราย ในประเทศไทย หยุดการผลิตชั่วคราว เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนต่อมา ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยได้กลับมาเดินหน้าผลิตตามเดิม จากนั้นเมื่อประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ระดับหนึ่ง ทำให้ในเดือนกรกฎาคมประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงรถยนต์ครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 และในเดือนสิงหาคม อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มฟื้นตัวโดยสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 100,000 คัน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การระบาดใหญ่เริ่มขึ้น กระทั่งเดือนพฤศจิกายน ที่ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือนที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2563 ได้เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป แต่กระนั้นในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 หรือ MOTOR EXPO 2020 ตอนต้นเดือนธันวาคม ก็ยังประสบความสำเร็จ ได้ยอดขายเฉพาะรถยนต์ไปทั้งสิ้น 33,753 คัน ส่วนปี 2564 ก็คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์จำนวน 1,500,000 คัน เพิ่มขึ้น 6 % ประกอบด้วยการส่งออก 750,000 คัน เพิ่มขึ้น 2 % จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน ลดลง 3 % จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวังในปี 2564 นี้ อาทิ ทางด้านต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของสหรัฐอเมริกากลับมาส่งสัญญาณเฝ้าระวัง จากการแต่งตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และการดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด แต่อย่างไรก็ดีสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ยังคงรุนแรงอยู่ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ส่งสัญญาณปกติจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากการระบาดระลอกที่ 2 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ถูกเผยแพร่ ส่วนในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจส่งสัญญาณปกติ เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถึงแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ แต่เนื่องจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐไม่เข้มงวดเท่าระลอกก่อนหน้านี้ และประชาชนเริ่มคุ้นชินกับการรับมือของการแพร่ระบาด ส่วนการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสม แบ่งเป็นประเภท BEV หรือแบบเสียบปลั๊ก 1,290 คัน ขณะที่มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ HEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสม (รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊ก (พลัก-อิน ไฮบริด) สูงถึง 29,460 คัน ทำให้ประมาณการว่าในปี 2564 นี้ ตลาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ทั่วโลก (รวมรถยนต์ขนส่งบุคคล รถขนส่งเชิงพาณิชย์ รถประจำทาง และรถบรรทุก) จะสูงถึงประมาณ 25 ล้านคัน และมียอดสะสมประมาณ 140 ล้านคัน โดยคาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมียอดจำหน่าย จำนวนสะสมสูงสุด และตลาดที่จะขยายตัวชัดเจน คือ จีน ยุโรป สหรัฐฯ และอินเดีย