คำว่า “สงคราม” ในวันนี้ของเรา ไม่ได้หมายถึงเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ “COVID-19” แต่หมายถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยมีส่วนร่วม เพราะเป็นหนึ่งในประเทศของโลกสยามประเทศเผชิญหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการบุกรุกของกองทัพญี่ปุ่นเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กชายอายุ 10 ขวบ เรียนหนังสืออยู่ที่ จ. นครปฐม ญี่ปุ่นแค่บุกรุกสยาม แต่วันเดียวกันล่อเพิร์ลฮาร์เบอร์ ท่าจอดเรือรบของสหรัฐอเมริกา บรรลัยโลก สงครามโลกอายุ 4 ปี ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามมหาเอเชียบูรพา สยามประเทศก็พ้นภัยจากสงคราม หลังสงคราม เราเห็นรถ จีพ รู้จักนายพลอเมริกันที่ชื่อ “นายพลห้าดาว ดักลาส แมคอาร์เธอร์” ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดเกาะลูซอน นายพลอเมริกันลงเรือยามฝั่ง พีพี โบท เล็ดลอดกำลังทางเรือ ตามคำสั่งจากกรุงวอชิงทันให้ไปตั้งหลักอยู่ที่ออสเตรเลีย ในการเดินทางโดยรถไฟก่อนจะถึงนครเมลเบิร์น ท่านทิ้งคำประวัติศาสตร์ไว้ในท้ายถ้อยแถลงที่สถานีรถไฟเมืองแอเดเลดว่า “และข้าพเจ้าจะกลับไป...” ซึ่งท่านก็กลับไปฟิลิปปินส์จริงเมื่อต้นปีสุดท้ายของสงคราม คือ 2488 อีกประการหนึ่งแม้แต่แว่นตาของท่านก็พลอยมีชื่อเสียง หลังสงครามแล้วคนไทยทุกคนรู้จักคำว่า “แว่นตาแมคอาร์เธอร์” ก่อน 8 ธันวาคม 2484 ไม่นาน คนในพระนครและธนบุรีซ้อมภัยทางอากาศตอนกลางคืน การเตือนภัยไม่ใช้นกร้องหรือมดดำคาบไข่ แต่ใช้ตำรวจในท้องที่ถีบ 2 ล้อ ร้องบอกชาวบ้าน “พรางไฟ พรางไฟ” วิธี พรางไฟ คือ ใช้ผ้าคลุมหลอดไฟฟ้าในเรือน ป้องกันแสงสว่างเล็ดลอดออกจากบ้าน ต่อมาการเตือนภัยจึงเปลี่ยนใช้เครื่องมือเป็นไซเรนขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า “หวอ” ในจังหวัดธนบุรีติดตั้งหวอบนดาดฟ้าตึกใหญ่ของตลาดพลู สมัยเราทำงานให้ เตี่ยแสง (แสง เหตระกูล) ที่สำนักพิมพ์สี่พระยาการพิมพ์ ถนนสี่พระยา ท่านเล่าให้ฟังว่า วิธีพรางไฟในบ้านของท่านตามหลังเสียงหวอ คือ ท่านรีบกุลีกุจอปีนขึ้นโต๊ะ หมุนหลอดไฟฟ้าออกจากขั้ว นับเป็นการเสี่ยงชีวิต แต่ทำไปด้วยความตกใจเสียงหวอ เมื่อพระนครโดนทิ้งระเบิดหนัก เช่น ที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ เชิงสะพานพุทธฯ คนในพระนครส่วนใหญ่ที่เป็นผู้เฒ่า เด็กเล็ก อพยพข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา หนีภัยทางอากาศไปนอนในสวนจังหวัดธนบุรี ส่วนคนที่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งพระนคร ก็เพราะต้องค้าขายอยู่ที่ตลาดสำเพ็ง ซึ่งวุ่นวายในตอนกลางวัน ตกบ่ายสี่โมงเย็น จึงเก็บเสื้อผ้าลงเรือ แต่ถ้าเป็นคืนเดือนมืด หรือหน้าฝน ก็อาจค้างคืนในพระนครเพราะเชื่อว่า เครื่องบินฝรั่งไม่มาทิ้งระเบิดเหมือนคืนเดือนหงาย และคนพระนครบางกลุ่มจำนวนไม่น้อย นิยมหลบภัยทางอากาศในย่านบางกะปิ ถนนสุขุมวิท ชีวิตคนพระนครสมัยนั้น เมื่อได้ยินเสียงหวอ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ถ้าหาหลุมหลบภัยไม่เจอก็วิ่งเข้าวัด เป็นต้นว่า กำลังดูหนังอยู่ที่ศาลาเฉลิมกรุง หวอดังก็ออกจากโรงหนังวิ่งเข้าวัดใกล้เคียง ทั้ง วัดมหรรณพ์ฯ วัดสุทัศน์ฯ และวัดเลียบฯ ถ้าอยู่ฝั่งจังหวัดธนบุรีใกล้สะพานพุทธฯ ก็วิ่งเข้าวัดประยุรวงศ์ฯ อาชีพที่คึกคักยุคนั้น ได้แก่ อาชีพเรือจ้าง รับ-ส่งคนข้ามฟากหนีตาย รำวง กำเนิดในสังคมไทยสมัยสงคราม โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปีพุทธศักราช 2488 สนับสนุนให้ข้าราชการทำงานครึ่งวันในวันพุธ เพื่อให้ข้าราชการและคหบดีร่วมมือกันจัดรำวงตามอัธยาศัย ส่วนใหญ่เพลงรำวง ง่ายต่อการจดจำ ฟังไม่กี่ครั้งก็จำได้ “งามแสงเดือน มาเยือนส่องหล้า งามใบหน้า มาสู่วงรำ เรารำเพื่อสนุก เปลื้องทุกข์ ให้วายระกำ เรามาเล่นฟ้อนรำ เพื่อความสามัคคี เอย...” บ้านเมืองสมัยนั้นมีเหล้าที่คอสุรารู้จักชื่อ “ม้ากระทืบโรง” เพลงรำวงที่คัดมานี้โดยเฉพาะเวลาเมาได้ที่ ถูกแปลงเนื้อร้องเป็น “มองม้านัยน์ตาแดงก่ำ” ไม่ได้ร้องว่า “มองมานัยน์ตาหวานฉ่ำ” โคราชเรียกรำวงว่า “รำโทน” และที่เรียก “รำโทน” ก็เพราะ ดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นรำวงนั้นเรียกว่าโทน เป็นดนตรีเครื่องหนังมี 2 ชนิด คือ “โทนชาตรี” กับ “โทนมโหรี” โทนชาตรีใช้บรรเลงกับละครชาตรี และหนังตะลุง ส่วนโทนมโหรีบรรเลงคู่กับ รำมะนา ตีขัดสอดสลับกันตามจังหวะหน้าทับ เพลง “รำวงวันลอยกระทง” ฮิทมาก ยาวนานหลายปี ดังคู่กับการจัดงานลอยกระทงที่มีทุกปี ฮิทกว่า “รำวงวันสงกรานต์” ทั้งที่ประเพณีสงกรานต์มีวันหยุดราชการยาวทุกปี และฮิทกว่า “รำวงตบแผละ ตบแผละ” “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง” องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นมหาเจดีย์ที่สวยงามมาก เราชอบวาดภาพ แต่เด็กมาก็วาดได้แต่รูปบ้าน ครั้นมาเจอความสวยงามขององค์พระฯ ก็หันมาวาดภาพองค์พระปฐมเจดีย์ องค์พระปฐมเจดีย์มีพระร่วงโรจนฤทธิ์อยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระฯ ตรงมาทางด้านหน้า เป็นตลาดบนและตลาดล่างของจังหวัด เมื่อข้ามคลองมาอีกหน่อย ก็เป็นสถานีรถไฟนครปฐม เราชอบเข้าไปภายในเขตองค์พระเพื่อปามะม่วงกิน ซึ่ง 4 ด้านขององค์พระมีต้นมะม่วงขึ้นหลายต้น นับเป็นช่วงชีวิตที่ตื่นเต้น เพราะนอกจากเป็นการแข่งปริมาณมะม่วงที่ปาได้กับเพื่อน ยังต้องระวังตัวไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลองค์พระฯ จับลงทัณฑ์ และกำแพงปูนล้อมรอบบริเวณองค์พระฯ 4 ด้าน สร้างเป็นช่องสูงกว้างพอรับบทเป็นตัวช่วยให้ตัวเด็กๆ ลอดช่องได้สบาย จังหวัดนครปฐมมี พระราชวังสนามจันทร์ แห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นสถานที่สำคัญ มีสระน้ำโบราณ “สระน้ำจันทร์” หรือ “สระบัว” มี อนุสาวรีย์ย่าเหล-สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาล อยู่บริเวณด้านหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ซึ่งเป็นพระตำหนักโดดเด่นสุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่งในพระราชวัง หลังจากเสด็จสวรรคต สนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัด รวมทั้งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ เป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มีนาคม 2524