แบงก์ชาติจ่อแก้เกณฑ์กู้ร่วม ให้รวมรายได้คนในครอบครัวซื้อรถยนต์ได้ คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้
ภายในเดือนธันวาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติจะผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ เรื่องการขอกู้ร่วม หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และเจ้าหนี้เช่าซื้อ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อรถยนต์ได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทบทวน หากเป็นการค้ำประกันในครอบครัวเดียวกัน เช่น แม่ค้ำให้ลูก สามีค้ำให้ภรรยา จะยอมให้นับรายได้ของผู้ค้ำมารวมด้วย จากเดิมเกณฑ์จะกำหนดให้ใช้รายได้ของผู้กู้เป็นหลัก โดยจะปรับเกณฑ์ให้นับรายได้ของผู้ค้ำประกันที่เป็นคนในครอบครัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า ภาพรวมสินเชื่อรถยนต์ที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้ายื่นขอสินเชื่อน้อยลง อาจเป็นผลมาจากมีรถยนต์ใช้แล้ว หรือรายได้ไม่เพียงพอในการผ่อนชำระ จึงชะลอการขอสินเชื่อ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาตลาดรถใช้แล้ว หรือรถมือสอง ตกลงมาค่อนข้างมากกว่า 50 % ทำให้ Loss on Sale จาก 20 % เพิ่มเป็น 50 % ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับความเสี่ยงได้น้อยลง จึงทำให้ธนาคารต้องคัดกรองคุณสมบัติของลูกค้าให้เข้มข้นขึ้น โดยที่เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ แต่เกิดจากสภาวะของตลาดรถยนต์เอง และอีกปัจจัย คือ จากภาวะเศรษฐกิจลูกหนี้มีคุณสมบัติที่ตึงเอง จึงยื่นการขอสินเชื่อน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย
สรุปแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้เกณฑ์การพิจารณารายได้รวมในการขอสินเชื่อ โดยจะอนุญาตให้นับรวมรายได้ของผู้ค้ำประกันที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกันได้ เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงเน้นย้ำให้ธนาคารพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งผู้กู้ และผู้ค้ำประกันอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียในอนาคต แต่ทั้งนี้จะมีการนำเรื่อง และข้อสรุปประเด็นดังกล่าวเข้าคณะกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย (บอร์ด) จากนั้นจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้ง
ผู้กู้ร่วม คือ บุคคลที่มีฐานะเป็นลูกหนี้ และมีหน้าที่รับผิดชอบในการชำระหนี้ที่กู้มาเช่นเดียวกับผู้กู้หลัก มีกรรมสิทธิ์ร่วมในรถยนต์คันนี้เหมือนกัน พร้อมทั้งเป็นลูกหนี้ร่วมกันด้วย มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินจะนำข้อมูลทางการเงินไม่ว่าจะเป็นรายได้ และภาระหนี้สินของผู้กู้ร่วมมาช่วยพิจารณา ส่วนใหญ่ ผู้กู้ร่วม จะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หรือคนที่มีนามสกุลเดียวกัน สามารถอ้างอิงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้
ผู้ค้ำประกัน คือ บุคคลที่มาค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ได้มีสถานะเป็นลูกหนี้ แต่จะมีสถานะผู้ยืนยันว่าผู้กู้จะไม่หนีหนี้ ซึ่งหากผู้กู้มีการหนี ไม่ชำระหนี้จนเกินกำหนด ทางสถาบันการเงินมีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บหนี้สินจากผู้ค้ำประกันแทน เพราะการค้ำประกันนั้นถือว่าเป็นการสัญญาว่าจะชำระหนี้คืนแทน หากลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้คืนตามเวลาที่กำหนด