ข่าวจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า Stellantis ร่วมกับสตาร์ทอัพบริษัทผู้ผลิตแบทเตอรีโซลิดสเตทระดับโรงงานของสหรัฐอเมริกา จะทดสอบแบทเตอรีโซลิดสเตทในสภาพการใช้งานจริงบนถนนภายใน 2 ปีข้างหน้า
แบทเตอรีโซลิดสเตทที่ผลิตออกมา จะมีความหนาแน่นพลังงานมากกว่า 390 กิโลวัตต์ชั่วโมง/กก. นับว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าแบทเตอรีลิเธียม-ไอออนในปัจจุบัน ซึ่งมีความหนาแน่นพลังงานที่ 270 กิโลวัตต์ชั่วโมง/กก. ทำให้รถที่ใช้แบทเตอรีโซลิดสเตทมีระยะเดินทางไกลกว่า และมีน้ำหนักน้อยกว่า เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าในปัจจุบัน
ในปี 2569 Stellantis จะทดสอบแบทเตอรีโซลิดสเตทในสภาพการใช้งานบนถนนจริง โดยจะติดตั้งใน Dodge Charger Daytona เพื่อหาผลสรุปจากการทดสอบ ทั้งด้านสมรรถนะ และความทนทาน สำหรับ Dodge Charger Daytona ที่ใช้ในการทดสอบใช้พแลทฟอร์ม STLA Large ซึ่งแชร์กับ Alfa Romeo, Maserati, Jeep, Dodge และ Chrysler โดยอยู่ในเซกเมนท์ D และ E ซึ่งจะเป็นรถกลุ่มแรกที่ได้ใช้แบทเตอรีแบบใหม่
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายค่ายแข่งกันพัฒนาแบทเตอรีโซลิดสเตท และส่วนใหญ่จะล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความคืบหน้าของเทคโนโลยีแบทเตอรีโซลิดสเตทจากหลายบริษัท ตั้งแต่ MG ประกาศจะใช้เทคโนโลยีแบทเตอรีโซลิดสเตทในปีหน้า, IM Motor มีรุ่น IM L6 ซีดาน ใช้ขุมพลังแบทเตอรีเซมิโซลิดสเตท ซึ่งทำระยะเดินทางได้ 800 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง
ค่าย Nissan จะเปิดตัวรถแบทเตอรีโซลิดสเตทรุ่นแรกในปี 2571 โดยแบทเตอรีจะมีขนาดเล็ก และน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่งของแบทเตอรีลิเธียม-ไอออนความจุเท่ากัน ส่วนทาง Toyota จะนำแบทเตอรีโซลิดสเตทออกสู่ท้องตลาด ในปี 2570-2571 สำหรับ Chery ผู้ผลิตฝั่งจีน ได้พัฒนาแบทเตอรีโซลิดสเตทจนมีความหนาแน่นพลังงานระดับ 600 กิโลวัตตชั่วโมง/กก. และพร้อมผลิตในปี 2569
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Volkswagen Group ประกาศว่าบริษัทผู้ผลิตแบทเตอรี QuantumScape ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Volkswagen ในสหรัฐอเมริกา จะผลิตแบทเตอรีโซลิดสเตทในระดับโรงงาน
อย่างไรก็ตาม มีบางบริษัทยังไม่เชื่อว่าแบทเตอรีโซลิดสเตทจะเป็นคำตอบสุดท้ายของแบทเตอรีสำหรับรถไฟฟ้า แม้แต่ Mercedes-Benz ก็เชื่อว่าแบทเตอรีลิเธียม-ไอออนในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างคาดไม่ถึง