ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า Bugatti Tourbillon (บูกัตตี ตูร์บิยง) คือ จุดเปลี่ยนผ่านแห่งยุคใหม่ของ Bugatti ผู้ผลิตซูเพอร์คาร์ และไฮเพอร์คาร์ระดับตำนาน ไม่เพียงแค่การใช้ขุมพลังพลัก-อิน ไฮบริด แต่ยังรวมถึงพแลทฟอร์มพัฒนาใหม่แทนของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ Veyron และ Chiron
เมื่อใช้พแลทฟอร์มใหม่จึงสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนของรถ และการปรับปรุงระบบอากาศพลศาสตร์ใหม่ที่ไม่สามารถทำได้ในพแลทฟอร์มเดิม ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของทีมวิศวกร พร้อมกับการใช้ขุมพลังพลัก-อิน ไฮบริด
ขุมพลังที่ประจำการเป็นบลอคที่พัฒนาขึ้นใหม่เป็นแบบ วี 16 สูบ ความจุ 8.3 ลิตร หายใจเอง ซึ่งมีความยาวเพิ่มขึ้นจากบลอคดับเบิลยู 16 สูบ 4 เทอร์โบ ความจุ 8.0 ลิตร ที่ประจำการใน Veyron และ Chiron จึงจำเป็นต้องย้ายถังน้ำมันเชื้อเพลิงจากหลังห้องโดยสารไปไว้ด้านข้างแชสซีส์ เพื่อทำให้ห้องโดยสารมีขนาดเท่าเดิม โดยไม่ต้องยืดความยาวฐานล้อ ทั้งยังสามารถวางตำแหน่งเครื่องยนต์ใกล้กับคอคพิทมากขึ้น จนสามารถปรับเลื่อนเบาะนั่งขึ้น-ลงได้ ส่วนการเลื่อนหน้า-หลังนั้น ใช้การปรับเลื่อนกล่องแป้นเหยียบแทน
ถัดจากเครื่องยนต์เป็นระบบถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 8 จังหวะแบบ มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ชุด ท้ายสุดเป็นดิฟฟิวเซอร์หลัง ทำหน้าที่แทนโครงสร้างกันกระแทกทั้งช่วยควบคุมน้ำหนักด้วย
ด้านหน้ามีมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อหน้าฝั่งละตัว แหล่งจ่ายกระแสไฟให้กับมอเตอร์ทั้ง 3 ชุด มาจากแพคแบทเตอรีขนาด 25 กิโลวัตต์ชั่วโมง รูปทรงตัว “T” ติดตั้งตรงกลางแชสซีส์ ช่วยให้มีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ในตำแหน่งดีที่สุด
การออกแบบ Tourbillon ให้ความสำคัญกับระบบระบายความร้อนมาก โดยมีหม้อน้ำถึง 8 ตัว ในด้านหน้ามี 5 ตัว โดยมี 2 ตัวที่มุมรถทั้งสองฝั่งป้อนลมไปยังเครื่องยนต์ อีก 3 ตัว ติดตั้งด้านหลังกริลล์หน้าทรงเกือบม้า ทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับอุปกรณ์ภายในห้องโดยสาร และอุปกรณ์ไฟฟ้า
แม้ Tourbillon มีอุปกรณ์มากกว่าเดิม แต่ยังมีน้ำหนักตัวรถเบากว่า Veyron และ Chiron ด้วยขุมพลังระดับ 1,800 แรงม้า จึงมีอัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ใน 2.0 วินาที พอๆ กับการใช้ขุมพลังไฟฟ้าล้วน
Bugatti จะเริ่มผลิต Tourbillon ในปี 2569 และผลิตจำนวนจำกัดเพียง 250 คัน โดยทั้งหมดถูกวางเงินจองเรียบร้อยแล้ว แม้ต้องจ่ายถึงคันละ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 137 ล้านบาท) ก็ตาม