บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 เจเนอเรชันล่าสุด รหัสตัวถัง จี 20 เผยโฉมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานมหกรรมยานยนต์ปารีส 2018 ช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากนั้นไม่นานก็ข้ามน้ำข้ามทะเลแบบนำเข้าทั้งคัน (ซีบียู) มาให้ได้จับจองเป็นเจ้าของ จึงเป็นหน้าที่ทีมนักออกแบบของเราจะให้ความเห็นต่อการออกแบบรถรุ่นนี้ภัทรกิติ์ : บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ใหม่ เผยโฉมออกมาในช่วงเวลาที่ทั่วโลกยอมรับว่า สินค้าหลักของบแรนด์รถยนต์ส่วนใหญ่ คือ ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี อภิชาต : นี่คือ สิ่งที่บริษัทรถยนต์เถียงกันมาตลอด ว่าจะพัฒนารถไปในทิศทางใด เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ภัทรกิติ์ : เพราะมันคือกลุ่มตลาดที่เติบโตน้อยกับโตมาก อภิชาต : อัตราการเติบโตสูงต้องยกให้ ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี แล้วเวลามีรุ่นซีดาน ทีมงานเขาจะแชร์คอนเซพท์กัน หมายความว่าในซีดานแต่ละรุ่นก็จะมีชุดนี้ หรือดีไซจ์นแบบนี้ และไม่ได้ใช้เฉพาะรุ่นซีดาน แต่ถูกบรรจุใน ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ด้วย ความจริงกลุ่มลูกค้า ซีดาน กับครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี คือ กลุ่มเดียวกัน ที่เปลี่ยนแปลงจากแนวทางดั้งเดิม สำหรับ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 คันนี้ ถ้ามองในเรื่องดีไซจ์นทำได้ชัดเจน และไม่ได้เน้นการนำเสนอเรื่องความหรูหรามากนัก ภัทรกิติ์ : บีเอมดับเบิลยู มีปรัชญา 3 เรื่อง ได้แก่ สัดส่วน พื้นผิว และรายละเอียด โดยสัดส่วนรูปทรงยังคงความเป็น ซีรีส์ 3 และค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปทีละนิด เจเนอเรชันนี้ไม่ถือเป็นการปฏิวัติการออกแบบ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด แต่โดยภาพรวมมันคือ รถแบบเดิมที่มุ่งเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มเดิม อภิชาต : ถ้ามองผ่านๆ จะเหมือนเดิม แต่พอพิจารณาในรายละเอียดแล้วแตกต่างกันพอสมควร ภัทรกิติ์ : แนวคิดการออกแบบของ ซีรีส์ 3 เจเนอเรชันนี้ ควรเรียกว่าเป็น EVOLUTION (วิวัฒนาการ) ไม่ใช่ REVOLUTION ปฏิวัติ) เพราะมันค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่องรูปลักษณ์ตามสมัยนิยม มีการปรับเส้นสาย แต่ยังคงแฝงความอนุรักษนิยมไว้ สำหรับการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติของ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ต้องย้อนไปในยุค 90 ที่เปลี่ยนถ่ายจาก อี 30 มาเป็น อี 36 แต่หลังจากนั้นมาก็ค่อยๆ เปลี่ยนทีละนิดทีละหน่อย เพราะ ซีรีส์ 3 ไม่ใช่รถที่ต้องมาเสี่ยง เขาจะเสี่ยงกับอะไรก็ได้ แต่กับซีรีส์นี้เขาจะไม่เสี่ยง อภิชาต : เพราะแผนการตลาดมันกว้าง เสี่ยงไม่ได้ ภัทรกิติ์ : ซีรีส์ 3 คือ “รถขาย” ซึ่งนั่นเป็นข้อดี และซีรีส์ 3 ไม่เคยพลาดเลย ดังนั้น รถรุ่นนี้จึงมีดีไซจ์นสะดุดตาเสมอมา รุ่นใหม่นี้ที่สวยที่สุดเลยคือ ด้านหน้า อภิชาต : ผมชอบการออกแบบที่มีเส้นสายเล็กๆ ลากจากกันชนหน้ายื่นขึ้นมาในไฟส่องสว่าง ส่วนตัวผมเรียกเส้นนี้ว่า “เขี้ยว” ภัทรกิติ์ : บีเอมดับเบิลยู พยายามบอกว่า บุคลิกของเขาต้องมีไฟหน้า 4 ดวง แล้วไฟหน้าแยกกัน ได้ความรู้สึกเหมือนรถรุ่นเก่า เริ่มจากยุคที่วางไฟหน้าอยู่บนตะแกรงสีดำแยกกับจมูก แล้วพอมารุ่น อี 36 ไฟหน้าอยู่ในครอบแก้วชนกับจมูก ส่วนตะแกรงสีดำจะย้ายไปอยู่ในรูจมูกแทน จากนั้นก็เป็นแบบนี้มาตลอด แล้วด้านหน้าก็เริ่มบานออกไปเรื่อยๆ เพราะไฟหน้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อภิชาต : ถือเป็นแนวคิดที่ บีเอมดับเบิลยู ทำแล้วประสบความสำเร็จ และมีหลายค่ายที่นำเส้นสายแบบนี้ไปใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ภัทรกิติ์ : เริ่มจาก ซีรีส์ 3 รุ่นก่อนหน้านี้ (เอฟ 30) ที่ยื่นไฟหน้าแหลมออกมา ตอนนี้ไม่ต้องยื่นไฟแล้ว แต่ดึงหน้าออกมาแทน ซึ่งกระจังหน้าก็น่าสนใจ เราพบว่ารุ่นพื้นฐานธรรมดา จมูกจะบานขึ้นด้านบน แต่สำหรับรุ่นสปอร์ทเครื่องแรง จมูกจะบานลงด้านล่าง นั่นคือการใส่ใจในรายละเอียด แต่ที่เห็นทั้งหมดมันคือ รถตระกูลเดียวกัน อภิชาต : อีกอย่างที่ผมสังเกต คือ ตัวโอเวอร์เฟนเดอร์ ตรงผิวด้านหน้า ผมว่าเขาพยายามทำให้มีโครงสร้างแทนที่จะเป็นเส้นสายที่ต่อเนื่องกันมา พอมีแล้วทำให้เกิดบุคลิกโดดเด่นขึ้นมาทันที ภัทรกิติ์ : รูปแบบคล้ายเส้นสายต่อเนื่อง ดุดัน สวยงาม แต่มันจะเห็นชัดในบางมุมแสง และดูโดดเด่นเฉพาะบางสีเท่านั้น อภิชาต : นี่คือ “ยูโรเพียนสไตล์” ภัทรกิติ์ : อีกจุดที่ด้านหน้า ซึ่งเป็นบุคลิกของ บีเอมดับเบิลยู เจเนอเรชันปัจจุบันทุกรุ่น นั่นคือ ช่องดูดอากาศ แล้วปล่อยลมออกด้านหน้าล้อ เพื่อลดแรงต้านทานอากาศ อภิชาต : เขาทำโจทย์มาแล้วว่า แนวนอนหรือแนวตั้ง แบบไหนส่งผลดีมากกว่ากัน ซึ่งลักษณะที่เป็นแนวตั้งจะเด่นเรื่องประสิทธิภาพการลดแรงต้านทานอากาศ ภัทรกิติ์ : สมัยก่อนเป็นช่องดูดเอาลมไปเป่าเบรค แต่ตอนนี้เป็นช่องเพื่อเอาอากาศไปข้ามล้อที่กำลังหมุนอยู่ เพื่อให้ลดกระแสอลวน ในรถไฮเอนด์เราจะเห็นรายละเอียดพวกนี้ได้อย่าง แอสตัน มาร์ทิน ซุ้มล้อมีการออกแบบมาเพื่อดึงอากาศออกด้านบน ถ้าเปิดฝากระโปรงจะเห็นทิศทางการไหลของอากาศที่วางไว้เลย ฟอร์มูลา : ถ้าอยู่ในอุโมงค์ลมจะเห็นชัดเจน อภิชาต : บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 คันนี้ ทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จ เรียกยอดขายได้เหมือนเดิม แต่ถ้าทำอะไรแหวกแนวแบบเสี่ยงๆ อีกหน่อยก็จะได้คะแนนเต็ม ภัทรกิติ์ : อะไรที่เสี่ยงๆ จะเห็นได้ใน บีเอมดับเบิลยู ตระกูล ไอ ทั้งหลายที่เสี่ยงแล้วเงียบเลย อภิชาต : สำหรับห้องโดยสารทิศทางการออกแบบ มีลักษณะเป็นทรง 8 เหลี่ยม ซึ่งรับกับตัวแดชบอร์ด ช่องแอร์ และจอมอนิเตอร์ ซึ่งเขาทำได้ดี คุณภาพของงานออกแบบ ดูแล้วไม่น้อยหน้าใคร แทบจะหาข้อตำหนิไม่เจอ แต่เรื่องสไตล์ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็อีกเรื่อง ภัทรกิติ์ : เห็นด้วยเรื่องสไตล์ ทุกอย่างโอเคเลย ดูดี แต่ในความรู้สึกผม กลับเฉยๆ กับการออกแบบภายในของเจเนอเรชันนี้ ทั้งๆ ที่ดูฉีกไปจากเดิม อาจเพราะมันดูเยอะไปหน่อย แต่ก็เป็น บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 รุ่นแรก ที่ใช้หน้าจอแอลซีดีเต็มรูปแบบ อภิชาต : จอที่พร้อมจะเปลี่ยนภาพได้ มีแผนที่เกิดขึ้นตรงหน้าจอ สวยงามดี ตอนแรกดูไม่ค่อยชิน เพราะเข็มมันขึ้นไปเกาะขอบ ถ้าเป็นกลุ่ม โฟล์คสวาเกน หรือเอาดี เขายังใช้เป็นเข็มกลมๆ แต่คันนี้เป็นเข็มเกาะขอบเลย