ช่วงนี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนๆ และคนรู้จักในวงการฯ หลายคน แทบทุกคนอยากฟังคำทำนายสถานการณ์ตลาดรถยนต์ รวมถึงวิถีทางเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งในความเห็นของผม มันขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มผู้ผลิต และผู้บริโภคของเรามีคนประเภทไหนมากกว่ากัน ใน 3 ประเภทนี้1. ประเภทมองโลกในแง่ดี ที่เห็นว่า COVID-19 น่าจะอยู่กับคนไทย กับโลกอีกไม่นาน และมีความเชื่อในการควบคุมโรคของรัฐบาลไทย ที่น่าจะ “เอาอยู่” กับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยใช้เวลาไม่นาน และวิถีทางเศรษฐกิจของเรา ก็จะค่อยๆ ผ่อนคลาย และกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไป...การ์ดไม่ตก ตื่นตัว และมีกำลังใจในการต่อสู้อยู่เสมอ...คนประเภทนี้มักมอง วิกฤต เป็น โอกาส ไม่ขี้เหนียว ใช้เงินลงทุนในสิ่งที่คิดว่า จะสามารถ “ต่อยอด” งอกเงยได้ ในอนาคต 2. ประเภทมองโลกเป็นกลาง ที่เห็นว่า เมืองไทยอาจกำลังต้องเผชิญกับ “การระบาดระลอกสอง” ที่มีแนวโน้มว่า จะหนักขึ้นกว่าเดิม แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความเชื่อในตัวผู้นำ และทีมงาน ว่าจะสามารถใช้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการต่อสู้กับการระบาดในระลอกแรก มาเป็นแบบอย่างในการคิดป้องกัน ไม่ให้เกิดความรุนแรง หากเกิดการระบาดระลอกต่อไป และกว่าวิถีเศรษฐกิจเราจะกระเตื้องขึ้น ก็คงตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป หรือเมื่อโลก ค้นพบ วัคซีน ป้องกัน COVID-19 นั่นแหละ...คนประเภทนี้ จะประหยัด ใช้เงินเท่าที่จำเป็น เก็บเงินไว้เผื่อลงทุน หลังปลอดไวรัส 3. ประเภทมองโลกแง่ร้าย ที่ยังตื่นตระหนก เชื่อว่า เจ้า COVID-19 จะไม่จากเราไปง่ายๆ ไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ทั่วทั้งโลกเลยทีเดียว ถึงนักวิทยาศาสตร์จะค้นพบ วัคซีน รักษา แต่เจ้า COVID-19 ก็จะกลายพันธุ์ ฆ่าไม่ตาย และวิถีเศรษฐกิจโลกก็อาจถึงกาลอวสานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า...คนประเภทนี้ จะไม่ยอมใช้จ่ายเลย เก็บเงินไว้เฉยๆ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะใช้ทำอะไร ถ้าหากโลกจบสิ้น ถ้าวงการของเรามีคนประเภทแรกมากๆ ตลาดรถบ้านเราก็น่าจะฟื้นตัวได้ไม่ยาก และไม่ช้าอย่างที่คิด แต่ถ้าส่วนใหญ่เป็นพวกสองแบบหลัง โดยเฉพาะแบบสาม ก็ตัวใครตัวมันละครับ อย่างไรก็ตาม เราจะหวังให้คนมองวิกฤตเป็นโอกาสเหมือนกันหมด คงไม่ได้ ฉะนั้น ศัพท์ใหม่ อย่าง TRAVEL BUBBLE อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยพาเราออกจากวิกฤตในครั้งนี้ได้เร็วขึ้น เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง คำนี้ แปลความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “การสัญจร ไปมาหาสู่กันเอง ในกลุ่มประเทศพันธมิตร ที่ต้าน COVID-19 ได้อยู่หมัด” TRAVEL BUBBLE เกิดขึ้น เพราะวิกฤต COVID-19 ผลักดันให้นักพัฒนา ต้องคิดหาทางออกให้กับทุกปัญหา โดยไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิมๆ อีกต่อไป ในทางเศรษฐกิจ TRAVEL BUBBLE จึงเป็นเหมือนการหาคำตอบ ให้กับการอยู่รอดของภาคธุรกิจท่องเที่ยว...โลกทั้งใบ อาจยังไม่ปลอดจากไวรัสทั้งหมด แต่เราก็สามารถ “อนุญาตให้ประชาชนในประเทศ พันธมิตร ที่เก่งเรื่องการปราบเจ้าไวรัสมหาภัยนี้ สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันเองได้ก่อน” ตัวอย่างเช่น ประเทศ ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ ที่ประชากรสามารถเดินทาง ไปมาหาสู่กันได้ โดยไม่ต้องโดนกักตัว 14 วัน ทั้งตอนเดินทางไปถึง และตอนกลับประเทศตัวเอง ขณะที่กำลังเขียนเรื่องนี้ ไทยเราอยู่ระหว่างการเจรจา “จับคู่” TRAVEL BUBBLE กับประเทศพันธมิตรที่ปลอดภัยระดับเดียว กัน ส่วนการท่องเที่ยวภายใน ก็มีโครงการ “เที่ยวปันสุข” ออกมา ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร ถ้า “เที่่ยวปันสุข” ประสบความสำเร็จ และโครงการ TRAVEL BUBBLE ระหว่างประเทศเป็นจริงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี รวมทั้งมีคนประเภท “มองวิกฤตเป็นโอกาส” จำนวนมากพอ ผมมั่นใจว่า “ไทยชนะ” แน่นอน !