รอบรู้เรื่องรถ
ใช้ชีวิตยุคนี้ ต้องมี “เงินสำรอง”
ผมเขียนเรื่องนี้ในช่วงที่รัฐบาลยกเลิกการห้ามออกจากเคหสถานในยามวิกาลพอดี ยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นผมอึดอัดพอสมควรครับ ซึ่งก็คงจะเป็นอาการปกติของมนุษย์เรา เมื่อใดก็ตามที่ถูกจำกัด หรือลดทอนความมีอิสรภาพลง แต่ก็ไม่ถึงกับเสียความรู้สึกอะไรนัก ถ้าเราเข้าใจความจำเป็นของการใช้มาตรการ ในการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงครั้งนี้ แล้วยังมีผลพลอยได้อื่นๆ ตามมาอีกมากด้วยพวกโจรถูกลดโอกาสรังควานเพื่อนมนุษย์ลงไปเยอะ ส่วนพวกวายร้ายหลังพวงมาลัย เมาแล้วขับ ก็หมดโอกาสออกมาใช้รถฆ่าผู้บริสุทธิ์ หรือทำร้ายให้พิการถาวร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุบนถนน น่าจะนำสถิติในเรื่องนี้ มาแสดงให้ประชาชนได้รู้นะครับ ว่าความปลอดภัยของพวกเรา เพิ่มขึ้นมามากน้อยเพียงใด ในช่วงเวลาที่ว่านี้ ขอถือโอกาสฝากคำถามไปยังผู้นำของประเทศ รวมทั้งผู้นำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า หากพวกท่านมีความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของประชาชนจริง ตามที่ได้กรอกหูพวกเราทุกครั้งที่สบโอกาสแล้วล่ะก็ เหตุใดจึงปล่อยให้บรรดาคนเมาแอลกอฮอล ที่อยากจะดื่มเท่าใดก็ได้ แล้วก็ยังเดินโซเซออกมาขับรถส่วนตัวไปไหนต่อได้ตามใจชอบ ทุกลานจอดรถหน้าผับ บาร์ หรือเรียกตามคำดั้งเดิมว่า โรงเหล้า เกลื่อนเมืองเหล่านี้ เป็นที่จอดรถส่วนตัวสำหรับฆาตกรขี้เมา ที่พร้อมจะออกไปทำลายล้างชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่น โดยไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย พวกท่านปล่อยให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อย่าอ้างเลยครับ ว่ามีด่านตรวจตามหน้าที่อยู่แล้ว เพราะมันล้วนตั้งอยู่ในที่ประจำ จนแทบไม่มีพวกทำผิดกฎหมายคนไหนโง่ขับเข้ามาให้ตรวจ ขอฝากเจ้าหน้าที่ของชมรมต่อต้านฆาตกรเมา แล้วขับทั้งหลาย ช่วยกันส่งคำถามนี้ให้ถึงผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยนะครับ ผมได้มีโอกาสสำรวจความเป็นไปในจังหวัดที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเรา นิยมเดินทางไป เพราะระยะทางไม่ไกลจากเมืองหลวงนัก และรู้สึกดีใจขึ้นมาในระดับหนึ่ง ที่ได้เห็นภาพที่ธุรกิจต่างๆ เริ่มฟื้นขึ้นมา แม้จะยังอยู่ในสภาพที่ห่างไกลจากก่อนหน้านี้อยู่พอสมควรก็ตาม ผมอยากขอให้ผู้ที่ฐานะด้านการเงิน มิได้ถูกกระทบโดยโรคระบาดนี้ ซึ่งย่อมมีจำนวนไม่น้อย ช่วยกันออกมาท่องเที่ยว ใช้เงินกันให้มากกว่าปกติครับ เพราะเป็นสิ่งที่ประเทศเราและประชาชนผู้ด้อยโอกาส ต้องการอย่างยิ่งยวด ซึ่งก็คือ การสะพัดของเงิน ถ้ามีเหลือพอ หรือเกินพอ ช่วยกันใช้ให้เต็มที่ครับ ไม่มีชาติใดที่เศรษฐกิจดี ก้าวหน้าได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ที่มีเงินพอ ไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย ประเทศแบบที่ว่านี้มีอยู่จริงนะครับ เงินของประชาชนนั้นท่วมประเทศ แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นของเศรษฐีและชนชั้นกลางระดับบน แต่ถูกเก็บไว้เฉยๆ ครับ ไม่ยอมเอามาใช้จ่าย เศรษฐกิจของประเทศจึงฝืดเคืองมาหลาย 10 ปีแล้ว ดอกเบี้ยแทบไม่ได้ ก็ยังขอฝากไว้เฉยๆ รัฐบาลก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนทัศนคติของคน เหล่านี้ด้วยวิธีใด น่าจะเอามาเกลี่ยกับค่านิยมของคนไทยเรานะครับ ที่ถึงจะไม่มีเก็บอยู่เลย ก็ยังขอกู้มาใช้ เท่าที่ผมทราบ การระบาดของโรคนี้ส่งผล กระทบต่อผู้คนในวงกว้างมาก โดยเฉพาะการขาดปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตของ “คนเมือง” ซึ่งก็คือ เงิน ครับ เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคที่จะล่าสัตว์ หรือปลูกพืชเพื่อเป็นอาหาร ไม่ได้ตัดต้นไม้มาสร้างบ้าน หรือทอผ้ามานุ่งห่ม ทุกอย่างจึงต้องตั้งต้นด้วยเงิน มีระบบที่สนับสนุนให้เราใช้เงินล่วงหน้า เช่น มีการบริการออกเงินให้เราล่วงหน้า เพื่อซื้อบ้าน หรือรถ ซึ่งมีทั้งส่วนดี และไม่ดี ขึ้นอยู่กับการเลือกของเรา ตัวอย่างที่ดีก็คือ การซื้อบ้านด้วยเงินผ่อน ถึงจะต้องเสียดอกเบี้ย เราก็คงต้องยอม เพราะถ้าให้เราเก็บออมเองจนได้เงินพอซื้อบ้านด้วยเงินสด กว่าจะมีบ้านเป็นของตนเองก็อาจจะเกือบแก่ครับ และ “ระหว่างทาง” ก็ยังต้องเสียค่าเช่าบ้านไป โดยไม่ได้อะไรกลับมาเป็นชิ้นเป็นอัน เอาค่าเช่ามาเป็นค่างวดผ่อนบ้าน ก็ยังคุ้มกว่า แต่ถ้ามีรถที่ใช้การได้ดีพออยู่แล้ว แต่กิเลสนำพาให้อยากได้รถใหม่ รุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องเสียเวลาฝันถึง เพราะมีคนพร้อมให้กู้มาซื้อสนองตัณหาได้เลย วิธีก่อหนี้แบบนี้ละครับที่ผมถือว่าให้โทษอย่างมาก ไม่ว่าจะซื้ออะไร และเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ผมอยากให้เตรียมพร้อมไว้ก่อนเลย ก็คือ การมีเงินสดของเราเองไว้เป็นทุนสำรองครับ เป็นเงินส่วนที่สำคัญยิ่งยวด แต่แทบจะไม่มีใครเห็นความสำคัญ ส่วนใหญ่ก็เพราะความไม่รู้ เพราะไม่มีใครชี้นำให้เห็นความสำคัญ รัฐบาลที่ดีจะต้องหวังดีต่อประชาชน เปรียบเสมือนพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็ก ให้คำแนะนำที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ไม่ใช่คอยยุยงส่งเสริมทางอ้อม ให้ประชาชนสร้างหนี้เกินฐานะ หาเงินด้วยความเหนื่อยยาก เพื่อเอาไปใส่มือนายทุนฝั่งเดียวกับรัฐบาล แลกกับการมีสิ่งของ ที่ถูกหลอกให้เชื่อด้วยการโฆษณา ว่าล้วนเป็นสิ่งมีค่าที่ควรครอบครอง แล้วจะได้รับการยกย่องในสังคมน้ำเน่ายุคนี้ จำนวนเงินสำรองที่ว่านี้ ขึ้นอยู่กับภาระทางการเงิน และการดำรงชีพตามปกติของแต่ละคนครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ให้ลองจำลองสถานการณ์ในใจ ว่าตั้งแต่พรุ่งนี้ หรือสิ้นเดือนนี้ เราจะไม่มีรายรับเข้ามาเลย เช่น ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชย หรือได้รับอยู่บ้างก็ตาม และหากเราจะใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร (แน่นอนครับว่าเราจะตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงแล้ว) เป็นเวลาสัก 6 เดือน จะต้องใช้เงินสักเท่าใด เงินจำนวนนี้แหละครับที่ผมเรียกว่าเงินสำรอง และอยากให้ทุกคน หรือทุกครอบครัว เตรียมพร้อมไว้เสมอ และต้องอยู่ในรูปแบบที่พร้อมนำมาใช้ได้เสมอ ไม่ต้องทั้งก้อนเต็มจำนวนที่มีก็ได้ครับ ขอให้ทยอยมาใช้ตามความจำเป็นได้ในแต่ละเดือน ถ้าจะฝากไว้กับธนาคาร ไม่แนะนำให้ฝากประเภทออมทรัพย์นะครับ เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมากจนเสมือนไม่ได้อะไรเลย ควรฝากประเภทประจำ ระยะสั้น เช่น 3 เดือน จะได้ดอกเบี้ย “เป็นเนื้อเป็นหนัง” ขึ้นมาหน่อย เพราะเราย่อมหวังว่าจะไม่โชคร้ายถึงกับต้องเบิกมาใช้ เมื่อครบกำหนดก็รับดอกเบี้ยแล้วทำการฝากใหม่ จะทบดอกเบี้ย (ซึ่งก็ต้องถือว่าน้อยมากในยุคนี้) เข้าไปด้วย หรือจะแยกเอามาใช้ ก็แล้วแต่ความพอใจครับ เมื่อใดที่จำเป็นต้องเบิกมาใช้ เราก็ต้องยอมสูญดอกเบี้ยไป เล็กน้อย เพราะถอนก่อนกำหนด ไม่ต้องเสียดายครับ เพราะถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าฝากประเภทออมทรัพย์มาตั้งแต่ต้น และอย่าเผลอตัวให้ความโลภมาครอบงำเป็นอันขาด เช่น คิดแบบเข้าข้างตนเองว่าคงไม่มีอะไรผิดคาดในด้านร้ายเกิดขึ้น เลยเอาไปซื้อพันธบัตร หรือ “เครื่องมือทางการเงิน” แบบใดก็ตาม ที่ถอนก่อนกำหนดไม่ได้ (ถึงจะไม่เอาดอกเบี้ย เขาก็ไม่ยอมให้ถอน) หากทำแบบนี้ก็ไม่ใช่เงินสำรองในยามฉุกเฉินแล้วนะครับ พวกที่ถูกยึดบ้าน รถ ฯลฯ เพราะไม่มีเงินพอจะส่ง “ค่างวด” ในยามที่ตกงาน ก็เพราะไม่ได้เตรียมเงินสำรองที่ผมว่านี้ไว้ จึงต้องเป็นพวกที่ “ตกนรกทั้งเป็น” แต่ถ้าเตรียมเงินก้อนที่ว่านี้ไว้ ชีวิตเราจะไม่ถึงขั้นวิกฤตครับ ยังมีเงินพอผ่อนชำระค่าบ้านหรือรถได้อยู่ และถ้าลำบากมากจริงๆ เราไม่ต้องจ่ายทุกเดือน เพราะมีกฎหมายผ่อนปรนไว้ ให้ขาดส่งได้ไม่เกิน 3 เดือน (แต่บางรายก็ฉวยโอกาสอ้างเอง ว่าต้องไม่เกิน 2 เดือน) เอาแบบไม่ต้องกลัวถูกฉวยโอกาสอ้างก็ได้ครับ คือ เราหยุดชำระ 2 เดือน พอถึงเดือนที่ 3 ก็ชำระ 1 งวด แล้วเว้นเดือนที่ 4 และ 5 กลับมาชำระเดือนที่ 6 ข้อสำคัญต้องติดต่อเจรจา และแจ้งให้เขาทราบถึงความจำเป็นของเรานะครับ เจ้าหนี้ที่ดีจะกลัวลูกค้าเหลวไหลเท่านั้นครับ ส่วนเจ้าหนี้ที่เลว ถึงลูกค้าจะดีสม่ำเสมอ มันก็จะยังจ้องหาจังหวะที่เราพลาด และหาข้ออ้างมาเอาเปรียบเสมอ เช่น มีการหักเงิน “ค่าทวงถาม” จำนวนที่เราเห็นแล้วตะลึง มันแกล้งหักจากค่างวดโดยไม่แจ้งให้เรารู้ด้วย แล้วอ้างต่อว่าจำนวนค่างวดที่เราจ่ายไม่เท่าตามสัญญา จึงมี “ค่าปรับ” เพิ่มขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นตั้งจำนวนเงินสำรองไว้ ให้พอจ่ายค่างวดได้ทุกเดือน ดีที่สุดครับ จะได้ไม่ต้องเครียดจากการถูกเอาเปรียบ และจากความรู้สึกว่าเป็นผู้ทำผิดกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ใครที่ยังไม่มีเงินสำรอง และไม่ได้เดือดร้อนอยู่ขณะนี้ เริ่มกันเงินก้อนนี้ไว้เลยครับ หรือถ้ายังมีไม่พอ ก็รีบสะสมให้เร็วที่สุดโดยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถ้ามีพอเมื่อไร ผมรับรองว่าจะเห็นคุณค่าของมันทันทีครับ หมดความ เครียดที่มีอยู่ในใจลึกๆ อยู่ตลอดเวลา (โดยที่เราไม่รู้ตัวว่ามีอยู่ จนกว่ามันจะหายไป) ดีต่อสุขภาพด้วยครับ เพราะหลับสนิทได้ทุกคืน ถ้าเป็นไปได้ และไม่ลำบากเป็นพิเศษ ผมอยากให้เพิ่มระยะเวลาในการคำนวณยอดเงินสำรองนี้ ให้มากกว่า 6 เดือนก็จะยิ่งดีครับ เพราะอาจต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะมีงานใหม่
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ