รอบรู้เรื่องรถ
เหยียบเบรคด้วยเท้าซ้าย ดีกว่าหรือไม่ ?
ผมติดค้างเนื้อเรื่องช่วงสุดท้ายของฉบับที่แล้ว เนื่องจากเนื้อที่ไม่พอ แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับผู้อ่านรายใหม่พอสมควรนะครับ เหตุที่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่น่าจะมีใครมาทำลายสถิติรถของ IRVING GORDON ที่ระยะทาง 4,828,020 กม. ได้ ก็เพราะทั้งคน และรถล้วนมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อความสำเร็จเช่นนี้ มาดูกันแต่ละข้อเลยครับ
1. IRVING เป็นคนที่ชอบขับรถทางไกลมาก จึงไม่เกี่ยงต่อการขับรถไปที่ทำงาน ที่อยู่ไกลบ้าน และอาจจะชอบท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็ได้ แต่ผมไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้
2. IRVING โชคดี ที่มีเงินซื้อรถนี้ใหม่เอี่ยม จึงได้ตั้งต้นใช้รถคันนี้ ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี มีเวลาเหลือเฟือกว่าจะ “แก่” ในการ “ทำสถิติ” (เกิน 50 ปี) และคงจะโชคดีด้วย ที่มีพ่อแม่ฐานะดี จึงไม่ต้องจ่ายค่างวดผ่อนรถ ไม่อย่างนั้นคงไม่เหลือเงินสำหรับค่าเชื้อเพลิง ในการขับรถเที่ยวทางไกล เพราะแค่สองวันแรกหลังจากรับรถที่ซื้อ ซึ่งเป็นช่วงสุดสัปดาห์พอดี ก็ขับท่องเที่ยวไป 2,500 กม. แล้ว
3. คนอึดอย่างเดียว ไม่มีทางสำเร็จครับ รถต้องอึดด้วย เพราะถ้าฝ่ายหลังเสียจุกจิก ขาดความทนทาน บึกบึน ถึงฝ่ายแรกจะอึดแค่ไหน ก็ย่อมจะหมดกำลังใจที่จะใช้มันต่อ ของอย่างนี้หลอกกันไม่ได้ครับ เป็นที่รู้กันทั่วไปทั่วโลกในยุคนั้น ว่ารถบแรนด์นี้ทนทานจริง เจ้าของรถที่ใช้งานได้เกิน 500,000-1,000,000 กม. หาได้ไม่ยาก เราไม่มีสิทธิ์โยงความทนทานนี้ มายังบรรดารถรุ่นปัจจุบันของบแรนด์นี้นะครับ เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะระบบอีเลคทรอนิค ที่จำเป็นต้องใช้ในรถยุคปัจจุบัน เพื่อความสะดวกสบาย และเพื่อความปลอดภัยด้วย ซึ่งมีความซับซ้อน และเปราะบาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะรถ บแรนด์อื่นก็อยู่ในเงื่อนไขนี้เช่นเดียวกัน
บทสรุปของเรื่องการใช้รถให้ทนทานระดับชาติ และระดับโลกนั้น ผมคงชักจะบ้าไปแล้ว ที่ใช้ภาษาวิบัติตามบรรดาสื่อยุคนี้ ที่จริงแล้ว ไม่ต้องมีคำว่า “ของ” และคำว่า “นั้น” ก็ถูกต้องอยู่แล้ว ถ้าผมจำไม่ผิด สำนวนวิปริตนี้ ถูกนำมาใช้ และเผยแพร่ใน YOUTUBE ในเรื่องการลงทุน โดยผู้ดำเนินรายการที่เป็นสตรี แต่ตั้งชื่อเหมือนเป็นบุรุษ เกือบทั้งคลิพ และทุกคลิพ จะเต็มไปด้วยคำว่า ของ และคำว่า นั้น ช่วยเลิกได้ไหมครับ เพื่อเห็นแก่นัก เรียน และเยาวชน ที่อาจจะหลงเข้าใจว่า ควรเอาเยี่ยงอย่าง
ที่ตลกมากแต่ขำไม่ออกก็คือ มีการเลียนแบบใช้ “ภาษาวิบัติ” นี้ กันอย่างรวดเร็ว และแพร่หลายไปทุกวงการแล้ว สิ่งที่ดีอยู่แล้วของไทยเรา มันคงจะต้องสูญสิ้นไป เหมือนรสชาติของอาหารไทยดั้งเดิมหลายอย่าง ที่ไม่ควรมีรสหวานมาปนอยู่เลย ก็กลับถูกใส่น้ำตาล โดยนักปรุงที่มีรสนิยมต่ำในกรุงเทพฯ และถูกเลียนแบบจนดูเหมือนว่า คนไทยเกือบทั้งประเทศ จะหลงคล้อยตามกันไปหมดแล้ว
กลับมาสู่เรื่องการใช้รถของพวกเราให้ทนทานกันต่อครับ จากข้อมูลจำนวนมาก ที่ผมรวบรวมจาก “นักถนอมรถ” ในประเทศที่พัฒนาแล้ว (ผมมีข้อมูลจากฝั่งทวีปยุโรปอยู่พอสมควรครับ แต่ไม่เหลือเนื้อที่พอที่จะนำเสนอ) ไม่ มีวิธีปฏิบัติข้อใดเลย ที่พิเศษจริงๆ หรือเข้าข่ายว่าทำตามได้ยาก ผมขอแยกไว้เป็นหัวข้อหลัก เพื่อให้จำง่ายนะครับ
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตรถของเรา ที่บอกไว้ในคู่มือสำหรับเจ้า ของรถ เท่าที่ผมสังเกตเอง และสอบถามผู้ใช้รถ กว่าร้อยละ 90 ของผู้ใช้รถชาวไทย ไม่อ่านคู่มือที่ว่านี้กันเลยครับ ยางแบนกลางทาง จึงจะเปิดอ่านเพื่อหาตำแหน่งของแม่แรง และวิธียก แต่ถ้าจำกัดอยู่ที่การใช้รถให้ทน ทาน อย่างน้อยที่สุด ควรส่งรถเข้าบำรุงรักษายังศูนย์บริการอย่างเป็นทาง การ ตามตารางที่กำหนดไว้ในคู่มือครับ อู่ “ข้างนอก” จะไม่มีรายการที่ต้องตรวจสอบ ซึ่งกำหนดโดยผู้ผลิตรถ ใครบอกว่ารู้ทุกจุด โม้ครับ อย่าเชื่อ
2. ใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงเท่า หรือเกินกว่าที่กำหนดใว้ในคู่มือ ถ้าเป็นรถธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่รถที่ใช้เครื่องยนต์กำลังสูงแนวรถสปอร์ท ไม่จำเป็นต้องเป็นบแรนด์ หรือรุ่นยอดเยี่ยม ราคา “สุดโหด” นะครับ ขอให้ระวังแค่อย่างเดียว คือ อย่าให้ “โดนของปลอม” ก็เหมือนกับการซื้อเหล้าครับ คือหลีกเลี่ยงบแรนด์ และรุ่น “ยอดนิยม” เชื่อไหมครับ บรรดาเจ้าของรถที่เครื่องยนต์ทนทานระดับทำสถิติทั้งหลาย ทั้งในทวีปยุโรป และในประเทศสหรัฐอเมริกา ล้วนใช้น้ำมันเครื่องระดับปานกลาง ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือกันทั้งนั้น
3. อย่ากลัวการขับรถทางไกล ว่าจะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอกว่าปกติ เพราะในระยะทางที่เท่ากัน ความสึกหรอของเครื่องยนต์ในการขับทางไกล ยังไม่ถึงครึ่งของการขับระยะสั้นในเมืองเลยนะครับ และอย่าลืมว่า ไม่ต้องให้มันพักเลย ยิ่งใช้ต่อเนื่องไม่หยุดเลย ยิ่งสึกหรอน้อยกว่าแบบหยุดพัก ถ้าเจอป้ายข้างทางที่บอกว่า ข้างหน้ามีปั๊มน้ำมัน ที่เป็น “จุดพักรถ” อย่าเชื่อครับ ไร้สาระ ที่ควรพัก มีแค่ผู้ขับ และผู้โดยสารเท่านั้น
4. ใช้งานเครื่องยนต์ในย่านปานกลาง ทั้งภาระ (LOAD) และความเร็ว (ที่เพลาข้อเหวี่ยงหมุน) ไม่ต้องถึงขั้นระวังไม่ให้ถึงรอบสูงนะครับ ขับตามสบายได้เลย ถ้าจะแซงรถอื่น ก็เร่งเต็มที่ได้เลยครับ แค่อย่าให้เกินลิมิท ซึ่งเกือบทุกรุ่น จะบ่งบอกด้วยขีด หรือแถบสีแดง ถ้าจะให้ดี เอาแค่ราวๆ 80 % ของลิมิทที่ว่านี้ก็พอครับ เพราะยิ่งสูง ความสึกหรอจะเพิ่มขึ้นในอัตราก้าว หน้า เช่น แถบสีแดงเริ่มตรงค่า 6,500 รตน. เราใช้งานแค่ไม่เกิน 5,000- 5,500 (แค่ตัวอย่างนะครับ กะอย่างหยาบๆ ก็พอ ไม่ต้องลงตัวขนาดนี้)
ถ้าลองไล่เรียงวิธีที่ว่ามานี้ทั้งหมด จะเห็นได้เลยครับ ว่าในด้านการขับ เราแทบจะไม่ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษเลย และยิ่งหากเป็นรถร่วมสมัย ที่ล้วนใช้เกียร์อัตโนมัติ แค่หลีกเลี่ยงการเร่ง แบบเหยียบคันเร่งจนยันพื้นเป็นประจำเท่านั้นเอง ก็ถือว่าได้ขับรถด้วยวิธีที่ทำให้อายุใช้งานยืนนานแล้ว ส่วนการบำรุงรักษา ก็ยึดตามที่ผู้ผลิตเขากำหนดไว้ในคู่มือสำหรับเจ้าของรถ จากนั้นรถของเราจะทนทานเป็นพิเศษ ระดับใช้ได้เกิน 500,000 หรือใกล้ 1,000,000 กม. โดยไม่ต้อง “ซ่อมใหญ่” เครื่องยนต์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของรถอย่างเดียวเท่านั้นแล้วครับ
เหยียบเบรคด้วยเท้าซ้าย ดีกว่าหรือไม่ ?
เพื่อนของผมคนหนึ่ง เล่าว่ามีการแนะนำในสื่อสังคมยอดนิยม ว่าให้ใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรค ดีกว่าใช้เท้าขวา จึงอยากรู้ว่าจริงหรือไม่ ผมไม่ได้ถามว่าคนที่อ้างเช่นนั้น ให้เหตุผลอะไรบ้าง ไม่จริงนะครับ ก่อนอื่นเลย หากจะทำ ให้ได้อย่างค่อนข้างปลอดภัย ก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนนานพอสมควร ประเด็นก็คือ แม้จะทำได้แล้ว ก็ไม่ได้มีข้อดี หรือข้อได้เปรียบกว่าการใช้เท้าขวาเลย ถ้าขับรถเกียร์ “ธรรมดา” อยู่ ก็จบไปครับ ไม่ต้องถกกัน เพราะต้องใช้เท้าซ้ายในการเหยียบคลัทช์ แล้วถ้าใช้รถเกียร์อัตโนมัติล่ะ มีข้อเสียมาแย้งไหม มีครับ แน่นอนว่า หากฝึกฝนให้มากพอ เราอาจจะยกเท้าซ้ายมาเหยียบแป้นเบรค ได้เร็วพอๆ กับการใช้เท้าขวา แต่ก็ยังไม่สมควรทำ เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถึงจะใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรคได้เร็วพอ แต่เราอาจตก ใจจนลืมถอนคันเร่งก็ได้ กลายเป็นสภาวะทั้งเร่งทั้งเบรค ถ้าความเร็วรถไม่ได้ต่ำมากนัก รถจะอยู่ในเกียร์สูงครับ
หมายความว่าแรงเบรคยังมากกว่าแรงเร่งอยู่พอสมควร ก็ยังสามารถลดความเร็วรถได้อยู่ แต่ถ้าบังเอิญขับด้วยความเร็วต่ำอยู่พอดี เช่น ในลานจอดรถ แล้วมีเหตุให้ต้องตกใจ และเบรคกะทันหัน รถที่กำลังอยู่ในเกียร์ต่ำสุด หรือเกียร์ 1 แล้วเราเหยียบคันเร่งจนจม จะมีแรงขับเคลื่อนสูงมาก ถึงเท้าซ้ายจะเหยียบเบรคไปด้วย แต่แรงเบรคสุทธิที่ล้อ จะถูกลดทอนด้วยแรงเร่งไปอย่างมาก หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง หากรถของเราเสียการทรงตัว เพราะเฉี่ยวชน หรือต้องหลบสิ่งกีด ขวาง ถึงเราจะใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรคได้อย่างชำนาญ สัญชาตญาณอาจจะสั่งให้เราใช้เท้าขวายันเพื่อพยุงตัวไว้ ซึ่งจะกลายเป็นการเหยียบคันเร่งจนสุด แต่ถ้าเราเหยียบเบรคด้วยเท้าขวา การเหยียบแป้นเบรคอยู่ ก็เป็นการให้ความรู้สึกว่า เรากำลังใช้เท้าขวายันเพื่อพยุงตัวอยู่ด้วย ในขณะที่เท้าซ้ายของเรา ก็สามารถถูกใช้ยันได้เต็มที่ สรุปแล้วปัญหาคันเร่งถูกเหยียบโดยไม่ได้ตั้งใจในทุกกรณีที่กล่าวมานี้ จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราเหยียบแป้นเบรคด้วยเท้าขวาครับ
ส่วนการเบรคด้วยเท้าซ้ายของนักแข่งรถระดับโลก มันเป็นความจำเป็นในการทำความเร็วเฉลี่ยให้สูงที่สุดครับ หรือจะกล่าวอีกอย่างว่าเพื่อใช้เวลาให้น้อยที่สุด ก็ได้เหมือนกัน นักแข่งระดับนี้ มักไต่เต้ามาจากการแข่งรถประเภทโกคาร์ท จึงคุ้นเคยกับการเบรคด้วยเท้าซ้าย จนกลายเป็นสัญชาต ญาณไปแล้ว และรถแข่งสมัยนี้ ก็ล้วนใช้เกียร์แบบกึ่งอัตโนมัติ หรือจะเรียกว่าแบบคลัทช์อัตโนมัติก็ได้ นักแข่งจึงใช้แต่มือ ในการเปลี่ยนเกียร์เท่านั้น เท้าซ้ายเลยว่างอยู่ แต่ยังมีเหตุที่สำคัญกว่าแค่เท้าว่างครับ นักแข่งเหล่านี้ จำเป็นต้องเหยียบทั้งสองแป้นไปพร้อมกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ทั้งเบรค และเร่งในเวลาเดียวกัน
แต่อย่างไหนจะมากน้อยกว่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการ เพื่อปรับพฤติกรรมของรถในโค้ง ยกตัวอย่างเช่น เป็นรถแข่งแรลลีที่ขับเคลื่อนล้อหน้า ถ้าเหยียบแป้นเบรค และคันเร่งพร้อมกัน แรงเบรค และแรงเร่งที่ล้อหน้าจะหักล้างกัน จนแทบไม่เหลือแรงอะไรอยู่เลย ส่วนจะให้เหลือฝ่ายไหน ก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญ และความต้องการของนักขับครับ แต่ที่ล้อหลังจะมีแต่แรงเบรคล้วนๆ ผลลัพท์จึงเสมือนการดึงเบรคมือเพื่อให้ท้ายรถไถลแกว่งออกก่อนเข้าโค้ง ซึ่งเป็นวิธีผ่านโค้ง ด้วยเวลาที่น้อยที่สุดบนถนนผิวลื่น ทำไมต้องยากลำบากกันขนาดนี้ ทำไมจึงไม่ใช้วิธีดึงเบรคมือแทน เป็นเพราะเขาต้องปรับแต่งแรงเบรคที่ล้อหลังอย่างละเอียด และเป็นเวลานานอึดใจหนึ่ง จึงไม่มีมือที่ว่างนานขนาดนั้นครับ เพราะขนาดใช้สองมือแล้ว ก็ยังหมุนพวงมาลัยได้ไม่เร็วเท่าที่ต้องการ
กับอีกเหตุผลหนึ่ง ถ้าเป็นรถแข่งที่ใช้เครื่องเทอร์โบ ก็อย่างที่รู้กันครับสำหรับครื่องยนต์ประเภทนี้ ว่าหากถอนคันเร่งแล้วเหยียบใหม่ จะต้องเสียเวลาชั่วขณะหนึ่ง กว่าเครื่องยนต์จะให้แรงบิดอีกครั้ง นักแข่งจึงเหยียบเบรคด้วยเท้าซ้าย แล้วใช้เท้าขวาเร่งเครื่อง “เลี้ยงรอบ” เอาไว้ ให้เทอร์โบมีแรงอัดอากาศรอไว้เลย เครื่องยนต์จึงปล่อยแรงบิดได้ทันทีที่นักขับเหยียบคันเร่งเพิ่ม
ใครที่เหยียบเบรคด้วยเท้าซ้ายอยู่ จะด้วยเพราะรู้สึกว่าสบายกว่า หรือเพราะมัน “เท่” หรืออาจจะเพราะถูกสอน หรือแนะนำมาอย่างนี้ ผมขอแนะ นำให้เลิกเถอะครับ มิฉะนั้นวันหนึ่งอาจจะเกิดเหตุร้ายแรง ถึงขั้นที่เราต้องเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้
อย่าคิดแค่ เอาแต่ได้
ในนามของประชาชน ผมขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ใน คปภ. หรือในชื่อเต็มว่า คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่คุ้มครองประชาชนที่ป่วยจากไวรัส COVID-19 ให้ได้รับสินไหมชดเชยตามกฎ หมาย คงต้องพยายามจดจำชื่อบริษัทที่บิดพลิ้วกันไว้ให้ดีครับ เพราะถ้าวันนี้กล้าปฏิเสธการชดเชยต่อผู้ป่วย วันข้างหน้าก็อาจจะพยายามปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยในการซ่อมรถได้เช่นกัน พยายามสอบถามผู้รู้ หรือสืบประวัติกันให้มั่นใจ ก่อนที่จะเลือกบริษัทประกันอุบัติเหตุของรถกันนะครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ