เมื่อเร็วๆ นี้ เพจ WORLD FORUM ได้นำเสนอข่าวปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดรถไฟฟ้าในประเทศจีน
ข่าวดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันหลายเมืองของจีนมีสุสานรถไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขึ้น ขณะนี้พบแล้ว 6 แห่ง และคาดว่าจะพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า จีนกำลังเจอปัญหาผู้ใช้นำรถไฟฟ้าเก่ามาทิ้งเป็นซาก
รถที่ถูกทิ้ง ส่วนใหญ่เป็นรถแทกซี ของผู้ให้บริการเรียกรถออนไลน์ ซึ่งในช่วงแรกได้รับความนิยมสูง บริษัทเหล่านี้จึงเหมาซื้อรถเป็นลอทจากผู้ผลิต แต่เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ายุคเริ่มต้นจะวิ่งได้เพียง 100 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง จึงไม่จูงใจให้ใช้งานต่อ แถมผู้ผลิตปิดตัวลง ทำให้ไม่มีการบริการหลังการขาย
5 ปีที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าในจีนปิดตัวลงจำนวนมาก จากกว่า 500 ราย เหลือเพียงราว 100 ราย
ในช่วงปี 2000 รัฐบาลจีนหวังครอบครองตลาดรถไฟฟ้าโลก จึงสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ โดยให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตรถไฟฟ้า และออกกฎหมายจำกัดการครอบครองรถพลังงานน้ำมัน บริษัทผลิตรถไฟฟ้าหน้าใหม่เลยเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยส่วนหนึ่งผลิตรถที่ไร้คุณภาพเพียงเพื่อให้ได้เงินอุดหนุนจากรัฐ
แต่หลังปี 2010 เป็นต้นมา ทางการจีนค่อยๆ ปรับลดการสนับสนุน และล่าสุดได้ระงับเงินอุดหนุนทั้งหมด ทำให้บรรดาสตาร์ทอัพทุนน้อยไปต่อไม่ไหว
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เหลืออยู่ล้วนแข็งแรง มีการพัฒนาเทคโนโลยี และเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ตลอดเวลา ของเดิมในตลาดจึงตกรุ่นอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนย่อมอยากซื้อรถใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดด้วยกันทั้งนั้น ส่วนรถเก่าที่ขายไม่ออก ก็เอาไปจอดทิ้ง ทำให้เกิดสุสานรถไฟฟ้าหลายแห่ง แห่งละหลายพันคันตามข่าว
ยังดีที่รถในสุสานส่วนมากถูกถอดแบทเตอรีออกไป คาดว่าเพราะนิคเคิล ลิเธียม โคบอลท์ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลจีนจะนำไปใช้ใหม่ หรือจะกำจัดขยะพิษเหล่านั้นอย่างไร
ผมเห็นว่า เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่น่าศึกษา สำหรับประเทศที่เพิ่งมีรัฐบาลใหม่ และกำลัง “เร่งโต” ตลาดรถไฟฟ้าอย่างเอาจริงเอาจัง จึงนำมาเล่าสู่กันฟังครับ