เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม - 16.4 %
รถยนต์นั่ง +2.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +34.0 %
กระบะ 1 ตัน -43.5 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -6.1 %
เริ่มต้นกันใหม่สำหรับฤดูกาลค้าขายประจำปีมังกรทอง ปี 2567 โดยพี่ใหญ่ TOYOTA (โตโยตา) คาดว่าปี 2567 นี้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมาประมาณ 3 % ซึ่งปัจจัยบวกที่จะทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายเกิดขึ้นจริงได้ก็มี อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน ที่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการจ้างงาน ขณะที่ภาครัฐจะมีการสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น รวมไปถึงการขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกก็ต้องมีปัจจัยลบด้วย ซึ่งปัจจัยลบก็มี อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก, สถานการณ์หนี้ครัวเรือน และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย ก็ขึ้นอยู่ว่าปัจจัยบวก หรือปัจจัยลบจะแรงกว่ากัน ถ้าบวกมากกว่าลบ 800,000 คัน ปี 2567 ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากสักเท่าไร เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายได้ค่อนข้างจะครอบคลุม ทั้งในด้านของราคา และอรรถประโยชน์ในการใช้งาน แต่ถ้าลบมาแรงกว่า 800,000 คัน ปี 2567 ก็หืดจับเหมือนกัน
ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศ เดือนมกราคม 2567 เดือนแรกของปีมังกรทอง ยังไม่สู้ดีนัก เป็นตัวเลขที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ถึงแม้ว่าจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากช่วงระยะเวลาการจัดงาน MOTOR EXPO เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาก็ตาม โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่รวมกันทั้งหมดอยู่ที่ 54,814 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ที่ 16.4 % หรือขาดหายไปรวม 10,775 คัน โดยตัวเลขยอดจำหน่ายดังกล่าว มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเสาหลัก ขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะตลาดรถพิคอัพ ยังคงประสบปัญหาการอิ่มตัวของภาคขนส่ง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ต้องรับบทเป็นพระรองต่อไป
เดือนมกราคม 2567 รถยนต์ที่จำหน่ายขายดีที่สุด มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายไปได้ 17,526 คัน ลดลง 26.3 % หรือน้อยลง 6,270 คัน จากที่เคยทำได้ในเดือนมกราคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาดได้ไป 32.0 % อันดับ 2 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 8,298 คัน เพิ่มขึ้น 17.4 % หรือเพิ่มขึ้น 1,227 คัน เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาดเดือนแรกของปี 15.1 % อันดับ 3 ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายได้ 7,930 คัน ลดลง 45.9 % หรือลดลงถึง 6,721 คัน เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาด 14.5 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) จากแดนมังกร ออกสตาร์ทได้เยี่ยม จำหน่ายได้ 7,806 คัน เพิ่มขึ้น 650.6 % หรือเพิ่มขึ้น 6,766 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 14.2 % และอันดับ 5 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 1,983 คัน ลดลง 41.3 % หรือลดลง 1,394 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 3.6 %...น่าสนใจที่รถยนต์จากแดนมังกรจะตบเท้าเข้าทอพไฟว์ได้เพิ่มมากขึ้นอีกหรือไม่ และเจ้าของที่เดิมจะเดินเกมรักษาสถานภาพของตัวเองอย่างไร ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่อย่างพลังงานไฟฟ้า
จากพระเอกเป็นพระรอง ตลาดรถยนต์เพื่อการใช้งาน รถพิคอัพ 1 ตัน เดือนมกราคม 2567 ตลาดนี้มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 17,938 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ถึง 13,833 คัน หรือลดลง 43.5 % เปิดหัวไม่แจ่มเอาเสียเลย เดือนมกราคมนี้ พิคอัพ TOYOTA กลับมาทวงบัลลังก์แชมพ์ ออกสตาร์ทเยี่ยมขึ้น เป็นผู้นำตลาดด้วยยอดจำหน่าย 7,958 คัน แต่ก็ยังไม่สวยหรูนัก เพราะเทียบกับที่เคยทำได้ในเดือนมกราคม 2566 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ติดลบไป 4,644 คัน หรือลดลง 36.9 % คว้าส่วนแบ่งการตลาดไป 44.4 % ISUZU อยู่ในอันดับ 2 จำหน่ายได้ 6,926 คัน ขาดหายไปถึง 6,617 คัน หรือลดลง 48.9 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาด 38.6 % FORD ไม่ขึ้นไม่ลง ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับ 3 ด้วยยอดจำหน่าย 1,982 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปีที่ผ่านมา 1,394 คัน หรือลดลง 41.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.0 % MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) อยู่ในอันดับ 4 จำหน่ายได้ 703 คัน ลดลง 1,014 คัน หรือลดลง 59.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.9 % และ NISSAN (นิสสัน) อยู่ในอันดับ 5 จำหน่ายได้ 276 คัน ลดลงเล็กน้อย 91 คัน หรือลดลง 24.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %...ศึกแห่งศักดิ์ศรีตลาดนี้เหมือนเดิมเช่นทุกปี TOYOTA VS ISUZU
รถเอสยูวียังคงอินทเรนด์อย่างต่อเนื่อง มีฐานลูกค้าที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เดือนมกราคม 2567 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันที่ 10,627 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 ถึง 2,695 คัน หรือเพิ่มขึ้น 34.0 % ผู้นำตลาดเดือนแรกนี้เป็น TOYOTA ด้วยยอด 3,785 คัน เพิ่มขึ้นถึง 2,063 คัน หรือเพิ่มขึ้น 119.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 35.6 % อันดับ 2 HONDA 3,690 คัน เพิ่มขึ้น 1,692 คัน หรือเพิ่มขึ้น 84.7 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ส่วนแบ่งการตลาด 34.7 % อันดับ 3 BYD 1,592 คัน เพิ่มขึ้น 552 คัน หรือเพิ่มขึ้น 53.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 15.0 % อันดับ 4 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 425 คัน ลดลง 228 คัน หรือลดลง 34.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.0 % และอันดับ 5 NISSAN 382 คัน ลดลง 428 คัน หรือลดลง 52.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.6 %
เดือนมกราคม 2567 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 2,837 คัน ลดลง 185 คัน หรือลดลง 6.1 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 รถเอสยูวี และรถพิคอัพ 1 ตัน มีการจดทะเบียนใช้งานอย่างเป็นทางการรวมทั้งสิ้น 43,101 คัน ลดลง 10,877 คัน หรือลดลง 20.2 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566