ระเบียงรถใหม่
เปอโฌต์ 4007/มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์
เปอโฌต์ 4007
รถกิจกรรมกลางแจ้งติดตราสิงห์เผ่น
อ่านพบในเวบไซท์ www.answers.com เขากล่าวถึง SUV หรือ SPORT-UTILITY VEHICLE ไว้อย่างน่าสนใจว่า หมายถึง รถยนต์นั่งที่รวมคุณสมบัติของรถ 2 ประเภทเข้าไว้ในรถคันเดียว คือ แรงขับลากของรถกระบะ กับพื้นที่บรรทุกผู้โดยสารของรถตู้ หรือรถตรวจการณ์ รถ SUV ส่วนใหญ่ จะออกแบบหน้าตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีห้องเครื่องยนต์ มีห้องบรรทุกผู้โดยสาร และสัมภาระ และไม่มีที่เก็บของท้ายรถแยกเป็นสัดเป็นส่วนเหมือนรถเก๋งทั่วๆ ไป
บางประเทศนิยมเรียกรถประเภทนี้ว่า OFF-ROAD VEHICLE หรือ FOUR-WHEELDRIVE และใช้อักษรย่อว่า 4WD หรือ 4x4 อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจไว้ตรงนี้ว่า ใช่ว่ารถ SUV ทุกคันจะต้องเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ และรถขับเคลื่อน 4 ล้อทุกคันจะต้องเป็นรถ SUV เพราะมีรถ SUV อยู่มากมายที่ไม่ได้เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ตัวอย่าง คือ รถ มาซดา ทรีบิวท์ (MAZDA TRIBUTE) และมีรถขับเคลื่อน 4 ล้ออยู่มากมายที่ไม่ได้เป็นรถ SUV ตัวอย่าง คือ รถ ซูบารุ อิมพเรซา (SUBARU IMPREZA)
มีรถอีกประเภทหนึ่งที่พัฒนาต่อยอดจากรถ SUV คือ รถ CROSSOVER SUV หรือ CUV รถประเภทหลังนี้กำเนิดขึ้นจากรสนิยมของผู้ใช้รถ ซึ่งประสงค์จะได้รถ SUV ซึ่งมีสมรรถนะการขับขี่เหมือนรถเก๋งมีน้ำหนักเบา และกินน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่า SUV แบบดั้งเดิม รถประเภทนี้จะมีหน้าตา และรูปทรงองค์เอวเป็น SUV แต่จะมีโครงสร้างตัวถังแบบรถเก๋ง คือ โครงตัวถัง และเปลือกตัวถังมีส่วนในการช่วยรับแรง เป็นโครงสร้างตัวถังอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า UNIBODY
ในเมืองไทยเรา ไม่แน่ใจว่ามีการบัญญัติศัพท์อย่างเป็นทางการ เพื่อใช้เรียก SUV หรือ CROSSOVER SUV แล้วหรือยัง แต่ที่ "ระเบียงรถใหม่" นี่ เมื่อกล่าวถึงรถ 2 ประเภทนี้ เราจะเรียกรวมๆ กันไปว่า "รถกิจกรรมกลางแจ้ง" กล่าวถึงรถกิจกรรมกลางแจ้งมาซะยืดยาว เพราะ "ระเบียงรถใหม่" เดือนนี้ ว่ากันด้วยเรื่องของรถกิจกรรมกลางแจ้งล้วนๆ มีทั้งรถพันธุ์ยุโรป และรถพันธุ์ยุ่น โดยเริ่มกันที่ เปอโฌต์ 4007 (PEUGEOT 4007) รถกิจกรรมกลางแจ้งแบบแรกในประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์เมืองน้ำหอม เจ้าของเครื่องหมายการค้า "สิงห์เผ่น"
เป็นข่าว และผู้คนกล่าวขานถึงมาตั้งแต่กลางปี 2006 แต่เพิ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งที่ 77 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง สื่อมวลชน และผู้คนทั่วไปให้ความสนใจกันมากมาย เพราะไม่มีใครเคยเห็นรถกิจกรรมกลางแจ้งติดตรา "สิงห์เผ่น" กันมาก่อน จริงๆ แล้ว ก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เป็นผลงานของค่าย "สิงห์เผ่น" ล้วนๆ หากเป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างค่าย เปอโฌต์-ซีตรอง ของฝรั่งเศส กับค่าย มิตซูบิชิ ของญี่ปุ่น
ตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 4.640 ม. กว้าง 1.800 ม. และสูง 1.670 ม. พัฒนาจากตัวถังขนาดเดียวกันของรถ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ (MITSUBISHI OUTLANDER) โดยศูนย์ออกแบบ PEUGEOT STYLE CENTRE ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง VELIZY ในฝรั่งเศส รูปทรงองค์เอวของตัวถัง มีจุดเด่นสะดุดตาอยู่เพียงจุดเดียว คือ แผงกระจังหน้าขนาดโตมหึมา มีรูปลักษณ์เหมือนปลาที่กำลังอ้าปากเพื่อฮุบเหยื่อ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของรถติดตรา "สิงห์เผ่น" หลายๆ อนุกรมในขณะนี้
ภายในห้องโดยสาร ซึ่งให้ความรู้สึกแทบไม่ผิดเพี้ยนกับการนั่งอยู่ในรถ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 7 คน (2+3+2) เก้าอี้ที่นั่งแถว 3 สามารถพับราบลงกับพื้นได้เมื่อต้องการเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ ส่วนเก้าอี้ที่นั่งแถว 2 ซึ่งแบ่งพนักพิงเป็น 2 ส่วนในอัตรา 40/60 ก็สามารถเลื่อนหน้าเลื่อนหลังได้ถึง 80 มม.
ออกจำหน่ายแล้วในเมืองน้ำหอมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้เพียงแบบเดียว คือ เครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง 2.2 ลิตร 156 แรงม้า ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างเปอโฌต์-ซีตรอง กับ ฟอร์ด ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า หรือทั้ง 4 ล้อ เป็นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 9.9 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดอยู่ที่ระดับ 200 กม./ชม.
ซีตรอง เซ-ครอสเซอร์
รถกิจกรรมกลางแจ้งติดตราจ่าโท
นอกจาก เปอโฌต์ 4007 (PEUGEOT 4007) ที่ผ่านตาไปแล้ว ผลพวงอีกชิ้นหนึ่งจากความร่วมมือของค่าย เปอโฌต์-ซีตรอง กับ มิตซูบิชิ ก็คือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง ซีตรอง เซ-ครอสเซอร์ (CITROEN C-CROSSER) ที่อวดตัวให้เห็นอยู่ในขณะนี้
นับเป็น SUV หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง ติดเครื่องหมาย "จ่าโท" แบบแรกในประวัติศาสตร์ ปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 77 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมๆ กับรถคู่ฝาคู่แฝดร่วมเครือ คือ เปอโฌต์ 4007
และก็เช่นเดียวกับ เปอโฌต์ 4007 รถกิจกรรมกลางแจ้งติดตรา "จ่าโท" แบบนี้ เป็นรถยี่ห้อฝรั่งเศส ที่พัฒนาจากรถ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ ของค่ายญี่ปุ่น รูปทรงองค์เอว และสัดส่วนตัวถัง จึงแทบไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไปจาก เปอโฌต์ 4007 และ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ สิ่งที่ต่างออกไปก็มีแต่เพียงหน้าตาและรายละเอียดปลีกย่อยในบางจุดทั้งภายนอก และภายในเท่านั้น
เฉพาะในห้องโดยสาร ซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งเป็น 3 แถว นั่งได้ 7 คน (2+3+2) เหมือนรถคู่ฝาคู่แฝดทั้ง 2แบบ ว่ากันว่า มีอยู่เพียงจุดเดียวเท่านั้น ที่แตกต่างจากรถต้นแบบของค่ายญี่ปุ่น คือ เครื่องหมาย"จ่าโท"
SUV หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก เป็นรถที่มีโครงสร้างตัวถังอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า BODY-ON-FRAME เป็นโครงสร้างตัวถังเหมือนรถกระบะที่เราคุ้นเคยกันดี คือ มีตัวถังวางอยู่บนพแลทฟอร์ม และโครงฐานซึ่งทำหน้าที่รับแรงโดยลำพัง โครงตัวถัง และเปลือกตัวถังไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยรับแรงด้วย ตัวอย่าง ของรถกลุ่มนี้ก็คือ จีพ แรงเลอร์ (JEEP WRANGLER) จีพ กแรนด์ เชอโรคี (JEEP GRAND CHEROKEE) และ แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี (LAND ROVER DISCOVERY)
ส่วนกลุ่มหลัง เป็นรถที่มีโครงสร้างตัวถังอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า UNIBODY หรือ UNIT CONSTRUCTION ส่วนใหญ่มักจะเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งที่พัฒนาจากรถเก๋ง จึงมีโครงสร้างตัวถังแบบรถเก๋ง คือ โครงตัวถัง และเปลือกตัวถัง มีส่วนในการรับแรงร่วมกับพแลทฟอร์ม และโครงฐาน ตัวอย่างของรถในกลุ่มนี้ ก็คือ ฮอนดา ซีอาร์-วี (HONDA CR-V) และ โตโยตา รัฟโฟร์ (TOYOTA RAV 4) ที่คนไทยรู้จักกันดี
หากถามว่า รถคู่ฝาคู่แฝด เปอโฌต์ 4007 และ ซีตรอง เซ-ครอสเซอร์ ที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นรถ SUVประเภทไหน ? คำตอบก็คือ อยู่ในกลุ่มหลัง
ซีตรอง เซ-ครอสเซอร์ กำหนดออกจำหน่ายในตลาดยุโรปไตรมาสที่ 3 ของปี 2007 นี้ โดยใช้เครื่องยนต์กลไกชุดเดียวกับรถคู่แฝด คือ เปอโฌต์ 4007 ที่กล่าวไปแล้ว
มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์
รถกิจกรรมกลางแจ้งติดตราสามเพชร
ที่ผ่านตาไปแล้ว คือ เรื่องราวของรถกิจกรรมกลางแจ้งคู่ฝาคู่แฝด เปอโฌต์ 4007 และ ซีตรอง เซ-ครอสเซอร์ หากไม่กล่าวถึงที่มาของมัน คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งพันธุ์ยุ่น มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ (MITSUBISHI OUTLANDER) ก็คงดูกระไรอยู่
ค่าย "สามเพชร"นำรถ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2001 รถรุ่นดังกล่าวเป็นรถที่ออกแบบโดยมีทวีปอเมริกาเหนือเป็นตลาดเป้าหมาย ในเมืองแม่ คือ ญี่ปุ่นก็มีขายเช่นกัน แต่ใช้ชื่อว่า มิตซูบิชิ แอร์ทเรค (MITSUBISHI AIRTREK) เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งที่พัฒนามาจากรถเก๋ง คือมิตซูบิชิ แลนเซอร์ (MITSUBISHI LANCER) และมีโครงสร้างตัวถังแบบ UNIBODY เหมือนรถเก๋ง
ส่วนรถที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถรุ่นที่ 2 ออกแบบโดยมีตลาดในอเมริกาเหนือเป็นเป้าหมายหลักเช่นกัน รถรุ่นนี้ปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 39 เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2005 และเริ่มจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาตอนปลายปี ในฐานะรถรุ่นปีโมเดล 2006
ตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 4.640 ม. กว้าง 1.800 ม. และสูง 1.680 ม. วางตัวอยู่บนช่วงฐานล้อยาว 2.670 ม. ชิ้นส่วนตัวถังเกือบทั้งหมดทำจากเหล็กกล้า ยกเว้นแผงหลังคาซึ่งทำจากอลูมิเนียม เป็นลักษณะการออกแบบที่ส่งผลให้สามารถลดน้ำหนักตัวของรถได้ถึง 5 กก. รวมทั้งลดความสูงจากพื้นของ CENTER OF GRAVITY หรือ "จุดศูนย์ถ่วง" ได้ประมาณ 4 มม. ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ การเพิ่มสมรรถนะการทรงตัว โดยเฉพาะเมื่อเลี้ยวรถ และเมื่อรถวิ่งเข้าโค้ง
ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดเป้าหมาย มีให้เลือกใช้ทั้งแบบขับล้อหน้า และขับ 4 ล้อ มีทั้งแบบติดตั้งเก้าอี้ 2 แถว นั่งได้ 5 คน (2+3) และแบบติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถวนั่งได้ 7 คน (2+3+2) แต่มีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ขนาดเดียว คือ เครื่อง SOHC วี 6 สูบ 2,972 ซีซี 220 แรงม้า (รหัสเครื่องยนต์ 6G72) ระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้า หรือทั้ง 4 ล้อ ก็มีแบบเดียวเช่นกัน คือ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ส่วนการตกแต่ง และอุปกรณ์ทำเป็น 5 ระดับ กำกับด้วยรหัส ES-LS-LS 4WD-XLS-และ XLS 4WD
ส่วนในญี่ปุ่นซึ่งรถรุ่นนี้ก็จำหน่ายในชื่อ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ เช่นเดียวกัน ก็มีทั้งตัวถังเก้าอี้ 2 แถวและตัวถังเก้าอี้ 3 แถว แต่มีเฉพาะแบบขับ 4 ล้อ และเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเครื่อง DOHC 4 สูบเรียง 2,359 ซีซี 170 แรงม้า (รหัสเครื่องยนต์ 4B12) ส่วนระบบเกียร์ที่ใช้ เป็นเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่อง (เกียร์ CVT)
ส่วนในตลาดยุโรป ซึ่งเพิ่งเปิดตัวที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 77 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพร้อมๆ กับ เปอโฌต์ 4007 และ ซีตรอง เซ-ครอสเซอร์ นอกจากทั้ง 2 เครื่องที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีเครื่องดีเซลให้เลือกใช้อีก 2 ขนาด คือ เครื่อง 2.0 ลิตร 140 แรงม้า กับเครื่องดีเซลคอมมอนเรล 2.2 ลิตร 156 แรงม้า
สนนราคาของรถพวงมาลัยขวา ซึ่งมีจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นรวม 4 โมเดล อยู่ระหว่าง 2.35-2.67 ล้านเยน หรือเท่ากับประมาณ 0.66-0.75 ล้านบาทไทย
โพร์เช กาเยนน์
สุดยอดรถกิจกรรมกลางแจ้งจากเมืองเบียร์
เมื่อกล่าวถึงรถกิจกรรมกลางแจ้งระดับสุดหรูราคาสุดโหด เชื่อว่า คนรักรถมากกว่า 5 ใน 10 คนจะนึกถึงชื่อ โพร์เช กาเยนน์ (PORSCHE CAYENNE) สุดยอดรถกิจกรรมกลางแจ้งค่าตัวแพงของค่ายเยอรมัน
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองเบียร์นำรถ โพร์เช กาเยนน์ ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อฤดูใบไม้ร่วงของปี 2002 รถรุ่นดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็น SUV หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง แบบแรกในประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ เป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN) โดยใช้พแลทฟอร์ม และชิ้นส่วนอีกหลายชิ้นร่วมกับรถ โฟล์คสวาเกน ตูอเรก (VOLKSWAGEN TOUAREG) ซึ่งออกจำหน่ายก่อนหน้ากันไม่กี่เดือน เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งมีโครงสร้างตัวถังแบบ UNIBODY ซึ่งเป็นตัวถังรับแรงเหมือนรถเก๋ง ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบถาวร ควบคุมการทำงานด้วยระบบ PTM (PORSCHE TRACTION MANAGEMENT) ในสภาพการขับขี่ปกติ จะกระจายแรงบิดของเครื่องยนต์ สู่ล้อคู่หน้าและคู่หลัง ในอัตราส่วน 38:62
ก่อนปลดรถรุ่นดังกล่าวออกจากสายการผลิตเมื่อปลายปี 2006 ที่ผ่านมา โพร์เช มีรถให้เลือกใช้รวม 5 โมเดล คือ PORSCHE CAYENNE ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC วี 6 สูบ 3,189 ซีซี 250 แรงม้า PORSCHE CAYENNE S ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC วี 8 สูบ 4,511 ซีซี 340 แรงม้า PORSCHE CAYENNE TURBO ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบ DOHC วี 8 สูบ 4,511 ซีซี 450 แรงม้า PORSCHE CAYENNE TURBO ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบ DOHC วี 8 สูบ 4,511 ซีซี 500 แรงม้า และ PORSCHE CAYENNE TURBO S ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบ DOHC วี 8 สูบ 4,511 ซีซี 521 แรงม้า โดยที่ 2 โมเดลแรกมีระบบเกียร์ให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ TRIPTRONIC ส่วน 3 โมเดลหลัง มีแต่เกียร์อัตโนมัติ
สำหรับ โพร์เช กาเยนน์ ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถรุ่น FACELIFT หรือ "ยกหน้า" เพิ่งอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาและขณะนี้ออกจำหน่ายแล้ว ทั้งแบบพวงมาลัยซ้าย และแบบพวงมาลัยขวา
มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งภายนอกภายในและเครื่องยนต์กลไก ในส่วนของตัวถังภายนอก จุดเปลี่ยนที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุด คือ แผงกระจังหน้า ดวงโคมไฟหน้า และปีกหน้าทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้หน้าตา และรูปทรงของตัวรถดูทรงพลังยิ่งขึ้น
การปรับปรุงทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้ขนาดความยาวของรถเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย คือจาก 4.782 ม. เป็น 4.798 ม. ในรถรุ่นพื้นฐาน และจาก 4.786 ม. เป็น 4.795 ม. ในรถรุ่นหัวกะทิ ส่วนความกว้างความสูงและช่วงฐานล้อยังคงเดิม คือ 1.928 ม.1.699 ม.และ 2.855 ม.ตามลำดับ ในขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศซึ่งบ่งบอกความลื่นลมกลับดีชึ้นมาก คือ จากระดับ 0.38-0.39 เหลือเพียง 0.35
ลดจำนวนโมเดลให้เลือกใช้จาก 5 เหลือเพียง 3 โมเดล คือ PORSCHE CAYENNE-PORSCHE CAYENNE S และ PORSCHE CAYENNE TURBO โดยที่ความแตกต่างข้อสำคัญของรถ 3 โมเดลนี้คือ เครื่องยนต์ และสนนราคาค่าตัว
โมเดลพื้นฐาน คือ PORSCHE CAYENNE ซึ่งมีจุดสังเกตความแตกต่างตรงแผงกระจังหน้า ท่อไอเสียรูปวงรีข้างละหนึ่งท่อ และรหัสโมเดล CAYENNE ที่แปะอยู่ตรงบั้นท้าย ติดตั้งเครื่องยนต์ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 6 สูบ 3,598 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 290 แรงม้า ที่ 6,200 รตน. และแรงบิดสูงสุด 39.3 กก.-ม. ที่ 3,000 รตน. มีระบบเกียร์ให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์ TRIPTRONIC 6 จังหวะ สมรรถนะความเร็วสูงสุดตามตัวเลขของผู้ผลิต คือ 227 กม./ชม.
ถัดไป คือ PORSCHE CAYENNE S ซึ่งหน้าตาเหมือนรถโมเดลแรก ผิดกันก็แต่เพียงชื่อ CAYENNE S ที่แปะอยู่ตรงท้ายรถ ติดตั้งเครื่องยนต์ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 4,806 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 385 แรงม้า ที่ 6,200 รตน. และแรงบิดสูงสุด 51.0 กก.-ม. ที่ 3,500 รตน. มีระบบเกียร์ให้เลือกใช้ 2 แบบเช่นกัน ความเร็วสูงสุดตามตัวเลขของผู้ผลิต คือ 252 กม./ชม.
ส่วนโมเดลหัวกะทิ คือ PORSCHE CAYENNE TURBO ซึ่งหน้าตาแปลกออกไป และใช้ท่อเสียถึง 4 ท่อ ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 4,806 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 500 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. และแรงบิดสูงสุด 71.4 กก.-ม. ที่ 4,500 รตน. โมเดลนี้มีระบบเกียร์แบบเดียว คือ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ TIPTRONIC ส่วนความเร็วสูงสุด คือ 275 กม./ชม.
สนนราคาค่าตัวของรถพวงมาลัยขวา ซึ่งมีจำหน่ายแล้วในตลาดอังกฤษ รุ่นหัวกะทิ คือ PORSCHE CAYENNE TURBO มีค่าตัวเริ่มต้นที่ระดับ 74,650 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 5.08 ล้านบาทไทย
บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5
ยอดรถกิจกรรมกลางแจ้งของค่ายใบพัด
รถกิจกรรมกลางแจ้งระดับสุดหรูค่าตัวแพงอีกแบบหนึ่ง ที่คนรักรถขนานแท้จะรู้จักกันดี คือ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 (BMW X5) รถพันธุ์เยอรมัน แต่ผลิตในสหรัฐอเมริกา
บีเอมดับเบิลยู เจ้าของเครื่องหมายการค้า "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" นำรถกิจกรรมกลางแจ้ง บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999 และปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" ไปครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปี 2003 รถรุ่นดังกล่าวมีตัวถังทำจากเหล็กกล้า และมีโครงสร้างตัวถังแบบ UNIBODY หรือ UNIT CONSTRUCTION คือเป็นตัวถังรับแรงแบบรถเก๋ง และใช้โรงงานของ บีเอมดับเบิลยู ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง สปาร์ทันเบิร์ก (SPARTANBURG) ในรัฐเซาธ์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เป็นที่ผลิต ปรากฏว่า ในช่วงเวลาประมาณ 7 ปี ที่ บีเอมดับเบิลยู จำหน่ายรถแบบนี้ในตลาดทั่วโลกไปแล้ว มากกว่า 580,000 คัน
ส่วนรถรุ่นที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถรุ่นที่ 2 เป็นข่าวเล่าขานตามหน้านิตยสารรถยนต์ทั่วโลกมาตั้งแต่กลางปี 2006 แต่เพิ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา และออกขายแล้วทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป
รูปทรงองค์เอวของตัวถัง ซึ่งยังคงมีโครงสร้างแบบ UNIBODY เหมือนรถรุ่นเดิม มีเสียงวิจารณ์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปว่า เป็นการออกแบบในลักษณะที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม เห็นที่ไหนใครๆ ก็รู้ว่าเป็น บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 รถกิจกรรมกลางแจ้งสุดหรูของค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว"
ตัวถังทรง 2 กล่อง มีมิติที่เปลี่ยนไปจากรถรุ่นเดิมเพียงเล็กน้อย คือ ขนาดความยาวเพิ่มจาก 4.667 เป็น 4.854 ม. คือ ยาวขึ้น 18.7 ซม. ขนาดความกว้าง เพิ่มจาก 1.872 เป็น 1.933 ม. คือ กว้างขึ้น 6.1 ซม. และขนาดความสูงเมื่อยังไม่ได้ติดที่บรรทุกของบนหลังคา เพิ่มจาก 1.715 เป็น 1.729 ม. คือ สูงขึ้น 1.4 ซม. ส่วนช่วงฐานล้อก็ขยายจาก 2.820 เป็น 2.933 ม. คือ ยาวขึ้น 11.3 ม. ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศซึ่งบ่งบอกความลื่นลม ยังคงอยู่ในระดับเดิม คือ อยู่ระหว่าง 0.33-0.35
ที่ผิดแปลกไปจากรถรุ่นก่อนก็ คือ บีเอมดับเบิลยู อ้างว่า บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 รุ่นที่ 2 นี้ นับเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งแบบแรกในโลก ที่ติดตั้งระบบบอกข้อมูลแบบวิลิศ มาหราที่เรียกกันว่า HEAD-UP DISPLAY และใช้ระบบรองรับแบบไฮเทคอย่างที่เรียกกันว่า ACTIVE SUSPENSION SYSTEM
ในระยะแรกนี้ จะมีรถให้เลือกใช้เพียง 3 โมเดล คือ BMW X5 3.0SI-BMW X5 4.8I และ BMW X5 3.0D
โมเดลพื้นฐานคือ BMW X5 3.0SI ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC 6 สูบเรียง 2,996 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 272 แรงม้า ที่ 6,650 รตน. และแรงบิดสูงสุด 32.1 กก.-ม. ที่ 2,750 รตน. ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้า และคู่หลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ STEPTRONIC สามารถทำความเร็วสูงสุด 225 กม./ชม.
โมเดลหัวกะทิ คือ BMW X5 4.8I ซึ่งรถพวงมาลัยขวาในตลาดเมืองผู้ดีมีค่าตัวประมาณ 50,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3.40 ล้านบาทไทย ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC วี 8 สูบ 4,799 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 355 แรงม้า ที่ 6,300 รตน. และแรงบิดสูงสุด 48.5 กก.-ม. ที่ 3,400-3,800 รตน. ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ STEPTRONIC เช่นเดียวกัน ส่วนตัวเลขความเร็วสูงสุดพุ่งขึ้นเป็น 242 กม./ชม.
ส่วนโมเดลเดียวที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล คือ BMW X5 3.0D ซึ่งมีค่าตัว 40,000 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 2.72 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 6 สูบเรียง 2,993 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 235 แรงม้า ที่ 4,000 รตน.และแรงบิดสูงสุด 53.1 กก.-ม. ที่ 2,000-2,750 รตน. ระบบเกียร์ก็เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ STEPTRONIC เช่นกัน ส่วนความเร็วสูงสุด คือ 216 กม./ชม.
โวลโว เอกซ์ซี 70
รถกิจกรรมกลางแจ้งจากเมืองฟรีเซกซ์
สวีเดน ประเทศในยุโรปเหนือ ที่ครั้งหนึ่งเคยนิยมเรียกกันว่า "เมืองฟรีเซกซ์" มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อยู่เพียง 2 ราย คือ โวลโว (VOLVO) กับ ซาบ (SAAB) รายแรกปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในเครือข่ายของฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานี (FORD MOTOR COMPANY) ส่วนรายหลังเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในร่มเงาของยักษ์ใหญ่ เจเนอรัล มอเตอร์ส คอร์พอเรชัน (GENERAL MOTORS CORPORATION) ซึ่งเรียกกันย่อๆว่า จีเอม (GM)
ผู้ผลิตรถยนต์เมืองฟรีเซกซ์ทั้ง 2 รายนี้ ล้วนมี SUV หรือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง ให้ลูกค้าเลือกใช้ด้วยกันทั้งหมด แต่ดูเหมือนว่า รถที่ผู้ใช้รถในบ้านเราน่าจะคุ้นเคยกันดีกว่า เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งของรายแรก ซึ่งมีจำหน่ายอยู่สองอนุกรม คือ โวลโว เอกซ์ซี 70 (VOLVO XC70) และ โวลโว เอกซ์ซี 90 (VOLVO XC90) โดยที่ในที่นี่จะกล่าวถึงอนุกรมแรกเพียงอนุกรมดียว
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 1 ของเมืองฟรีเซกซ์ นำรถ โวลโว เอกซ์ซี 70 ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1996 จริงๆ แล้ว รถดังกล่าวไม่ใช่รถ SUV แท้ๆ แต่เป็นรถอย่างที่เรียกกันว่า CROSSOVER SUV คือพัฒนามาจากรถเก๋งตรวจการณ์ โวลโว วี 70 (VOLVO V70) ใช้พแลทฟอร์ม และเครื่องยนต์กลไกชุดเดียวกัน แต่ปรับแต่งสมรรถนะการขับขี่ และคุณสมบัติอื่นๆ ให้มีลักษณะเหมือนรถ SUV ปรากฏว่ารถรุ่นดังกล่าวประสบความสำเร็จพอสมควร โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ในปีที่ขายดีที่สุด สามารถจำหน่ายได้ถึง 17,500 คัน
สำหรับ โวลโว เอกซ์ซี 70 ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 3) เพิ่งอวดตัวต่อสายตาผู้คนเป็นครั้งแรกพร้อมๆ กับรถตรวจการณ์ โวลโว วี 70 รุ่นใหม่ ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 77 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง ตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 4.838 ม.กว้าง 1.861 ม. และสูง 1.604 ม. มีช่วงฐานล้อยาว 2.815 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.35 ใช้ชิ้นส่วนหลายชิ้นร่วมกับรถเก๋งตรวจการณ์ โวลโว วี 70 รวมทั้งยังมีลักษณะเป็นรถ CROSSOVER SUV ซึ่งพัฒนาจากรถเก๋งเหมือนรถรุ่นดั้งเดิม
เช่นเดียวกับรถ 2 รุ่นเดิม โวลโว เอกซ์ซี 70 รุ่นใหม่นี้ เป็นรถที่ออกแบบโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดเป้าหมาย กว่าครึ่งหนึ่งของยอดผลิต 40,000 คัน ในแต่ละปีจะถูกส่งลงเรือแล้วไปขึ้นบกที่อเมริกาเหนือ ที่เหลืออีกประมาณ 16,000 คัน จะจำหน่ายในยุโรป ซึ่งตลาดใหญ่ที่สุด คือ สวีเดน รองลงไป คืออังกฤษ และเยอรมนี
จะเริ่มออกจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2007 นี้ โดยเริ่มต้นที่ประเทศในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย (สวีเดนนอร์เวย์ และฟินแลนด์) ส่วนตลาดอื่นๆ คงต้องรออีกสักระยะหนึ่ง แต่อย่างช้าก็คงไม่เกินสิ้นปี
"เรามีแนวคิดที่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น และเราก็ปรับแต่งแนวคิดที่ถูกต้องนี้มาโดยตลอด โวลโว เอกซ์ซี 70รุ่นล่าสุดนี้ ยังคงคุณสมบัติความบึกบึนของรถรุ่นเดิม แต่ได้รับการปรับปรุงให้นั่งได้สบายกว่าเดิม และมีรูปทรงองค์เอวที่ดูหรูหราและยั่วยวนใจกว่ารถรุ่นเดิม" นาย ฟเรดิค อาร์พ (FREDIK ARP) ประธานและซีอีโอของ โวลโว บอกแก่ผู้สื่อข่าวในยุโรป
"โวลโว เอกซ์ซี 70 เป็นรถที่ออกแบบเพื่อพาคุณไปจนสุดถนน รวมทั้งมีความสามารถเพียงพอที่ไปได้ไกลกว่านั้นถ้าคุณกล้าพอ เมื่อ 2-3 ปีก่อน เราจัดให้มีการทดสอบรถที่ทะเลทรายบาฮา ในแคลิฟอร์เนียให้วิ่งบนถนนสุดโหด และมีลักษณะใกล้เคียงกับที่เรียกกันว่า ออฟฟ์-โรด ปรากฏว่ารถวิ่งไปได้ด้วยดีและเป็นที่พอใจของผู้ทดสอบ แม้ในจุดที่ทุรกันดารที่สุด" เขากล่าวเสริม
ในระยะแรกนี้ โวลโว เอกซ์ซี 70 รุ่นใหม่ จะมีเครื่องยนต์ให้ลูกค้าเลือกใช้เพียง 2 แบบ คือ สำหรับผู้ที่นิยมใช้เครื่องยนต์เบนซิน ก็จะมีเครื่อง DOHC 6 สูบเรียง 3,192 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 238 แรงม้า ที่ 6,200 รตน. ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ส่วนผู้ที่ชมชอบเครื่องยนต์ดีเซล ก็มีเครื่องเทอร์โบคอมมอนเรล DOHC 5 สูบเรียง 2,400 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 185 แรงม้า ที่ 4,000 รตน. และมีระบบเกียร์ให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : ระเบียงรถใหม่