BUGATTI (บูกัตตี) ซูเพอร์คาร์สายพันธุ์ฝรั่งเศสผสมเยอรมัน ติดโลโก “วงรีสีแดง” ที่มีประวัติความเป็นมาย้อนหลังไปถึงปี 1909 อันเป็นปีก่อตั้ง โดยต้องเลิกกิจการไปหลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพราะปัญหาการเงิน แต่ก็กลับมาใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 1998 โดยเจ้าของเดิมขายกิจการให้แก่ VOLKSWAGEN GROUP (โฟล์คสวาเกน กรุพ) ของเยอรมนี สำหรับ BUGATTI TOURBILLON (ตูร์บิยง) คันนี้เป็นผลงานลำดับล่าสุดของค่าย ใช้ปรัชญาการออกแบบของ MATE RIMAC (แมเท ริแมค) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RIMAC และ BUGATTI หนุ่มอัจฉริยะชาวโครแอทวัย 36 ปี ที่ต้องการให้ BUGATTI บอกเล่าเรื่องราวของการออกแบบที่เหนือกาลเวลา
ภัทรกิติ์: BUGATTI TOURBILLON เป็นรถยนต์ที่สามารถเก็บสะสมเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานเหลนภายภาคหน้า รูปลักษณ์ภายนอกคงไว้ซึ่งบุคลิกของรุ่นพี่อย่าง BUGATTI CHIRON (ชีรน) ถ้าไม่ใช่คนชอบรถอาจจะแยกไม่ออกจากรูปกระจังหน้าทรงเกือกม้าที่เตี้ยลง ดีไซจ์นด้านข้างรูปตัว C และตัวรถแบ่งเป็น 2 สี ไวยากรณ์การออกแบบใกล้เคียงกัน
รายละเอียดครีบกลางตัวรถให้บุคลิกตกทอดมาจาก BUGATTI AEROLITHE TYPE 57 (แอโรลิธ ไทพ์ 57) ยุคก่อนสงครามโลก ที่ใช้ตัวถังผลิตจากแผ่นแมกนีเซียมขึ้นรูปเป็นชิ้นงานประกบกันตรงกลาง เป็นครีบยึดตัวถังซ้าย-ขวาเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ไฟท้ายเปลี่ยนรูปแบบล้ำสมัย แต่รูปร่างยังคงปรัชญาการออกแบบไว้เช่นเดิม สังเกตจากสัดส่วนแทบไม่เปลี่ยนไปจากรุ่นดั้งเดิม
อีกจุดที่น่าสนใจ คือ ตามปกติรถของค่ายนี้จะใช้การเปิดประตูแบบธรรมดามาตลอด แต่เจ้า TOURBILLON คันนี้เป็นประตูแบบปีกนก ทำให้ทุกอย่างลงตัวยิ่งกว่าเดิม แถมยังมาพร้อมแนวคิดการออกแบบจาก “เหยี่ยวเพเรกริน” (PEREGRINE FALCON) ซึ่งเป็นเหยี่ยวที่บินเร็วที่สุดในโลก ครีบฝากระโปรงต่อเนื่องกันกับเส้นสายตัวรถ ส่วนใบปัดน้ำฝนตั้งตรงกลางทำให้เกิดมิติลงตัว พร้อมสปอยเลอร์หลังยกขึ้นตอนเบรค แต่พื้นที่ใต้ฝากระโปรงหน้ามีขนาดเล็ก ใส่ได้แค่ถังน้ำฉีดกระจกเท่านั้น ไม่สามารถใส่กระเป๋าเดินทางได้ รถคันนี้จึงเน้นการออกแบบทุกส่วนทุกพื้นที่ถูกใช้งานหมด เพื่อประสิทธิภาพการขับขี่สูงสุด และการออกแบบไร้ที่ติ
อภิชาติ: ในมุมของนักออกแบบมองว่า รถคันนี้ขายเรื่องราว วิธีคิด ว่าทำไมต้องออกแบบให้มีครีบบริเวณกลางตัวรถ คาแรคเตอร์ของตัวรถจากเสา C มีเอกลักษณ์ของรถค่ายนี้ ถือเป็นรถที่ท้าทายเรื่องการออกแบบอย่างมาก
ภัทรกิติ์: การออกแบบภายในจับมือกับผู้ผลิตนาฬิกาสร้างหน้าปัดรถยนต์เป็นกลไก TOURBILLON ตามชื่อรุ่นรถ โดยนักออกแบบ FRANK HEYL ซึ่งหน้าปัดมีมาตรวัตความเร็ว และมาตรวัดรอบซ้อนกันอยู่ บริเวณชิ้นส่วนกลางเป็นงานฝีมือ ทำให้สัมผัสได้ถึงกลไกแบบแอนาลอก และมีหน้าจอซ่อนอยู่ ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นจุดเดียวที่น่าจะเกิดความเสียหายได้
ภายในมีความต่อเนื่องของเส้นสาย โดยเฉพาะบริเวณเพดานรถ มีลักษณะเป็นเส้นโค้งรูปตัว C มาจากรุ่นพี่อย่าง VEYRON (เวรน) และ CHIRON ถึงจะนั่งแยกซ้าย-ขวา แต่การมีเส้นเสา C ช่วยให้ภายในโปร่งโล่งขึ้น รถคันนี้ใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่มีคำติใดๆ อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ สมัยก่อนรถที่ในห้องโดยสารมีกลไกมากมายจะมีเฉพาะพวกบแรนด์ไฮเพอร์คาร์ แต่ BUGATTI TOURBILLON คันนี้ทำได้ดียิ่งกว่า
อภิชาติ: ห้องโดยสารเป็นอีกปรากฏการณ์ของการออกแบบภายในรถยนต์ โดยขายเรื่องราวต่างๆ ผ่านรายละเอียดในตัวรถ พวงมาลัยที่มีความใหม่ แม้จะมีรถอื่นที่เคยทำมาแล้ว แต่ประเด็น คือ สามารถผสานเทคโนโลยีเข้ากับคอนเซพท์ตัวรถยนต์ได้อย่างลงตัว ส่วนแผงหน้าปัดที่เป็นกลไกแบบนาฬิกา TOURBILLON กว่า 600 ชิ้นส่วน เป็นการนำของพรีเมียมมาประยุกต์ใช้กับแผงหน้าปัดรถยนต์ ถือเป็นการออกแบบที่สอดประสานมูลค่ากับอายุที่ยาวนานได้อย่างสุดยอด
ภัทรกิติ์: การออกแบบเป็นที่สุดในทุกมิติ ผสมผสานความลงตัว ทั้งเทคโนโลยีการออกแบบ และเทคโนโลยียานยนต์ขั้นสูงสุด เป็นงานวิศวกรรมที่สวยในทุกอิริยาบถ ผลงานระดับมาสเตอร์พีศ ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็สวย แม้กระทั่งใต้ท้องรถ สงสัยเลยว่ารุ่นต่อจากนี้จะทำอะไรได้อีก
อภิชาติ: การออกแบบที่ร้อยเรื่องราวสืบต่อจากรุ่นเดิม และการมาปรับเปลี่ยนจาก RIMAC ทำให้โครงสร้างตัวรถมีดีไซจ์นสมบูรณ์ และสืบต่อไปได้ ซึ่งอาจจะใช้เทคโนโลยีที่คาดไม่ถึงในอนาคตมาสร้างอะไรใหม่ๆ ที่อยู่ในระดับทอพ และเทคโนโลยีอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบรองรับ จากการให้ AI เรียนรู้ และแนะนำว่าควรใช้ชิ้นส่วนแบบใดจึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด จุดนี้ถือเป็นความงดงามทั้งการออกแบบ และการเล่าเรื่องราว