วิถีตลาดรถยนต์
ตลาดขาลง
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมิถุนายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -26.0 %
รถยนต์นั่ง -27.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +4.8 %
กระบะ 1 ตัน -39.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +1.8 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -24.2 %
รถยนต์นั่ง -19.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +11.4 %
กระบะ 1 ตัน -40.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -4.7 %
การค้าการขายรถยนต์ใหม่ ในช่วงครึ่งฤดูกาลแรกของปี 2567 ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อย สถานการณ์โดยรวมแตกต่างไปจากครึ่งฤดูกาลแรกของปี 2566 อย่างสิ้นเชิง ปี 2567 เริ่มต้นเดือนแรกของปี ด้วยตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2566 จากนั้นก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีรถยนต์ทางเลือกใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอยู่มากหน้าหลายตา ทั้งในสนนราคาจำหน่ายที่จับต้องได้ และสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากการที่เศรษฐกิจในประเทศ ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ตลอดจนความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรก ยังอยู่ในสภาวะตลาดขาลง และคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี ถึงแม้ว่ายังมีผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ ท่านยังคงเดินหน้าจัดงานให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ ได้ใช้เป็นเวทีกระตุ้นยอดจำหน่ายให้แก่รถยนต์รุ่นต่างๆ ในค่ายของตนเองเหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา
สำหรับครึ่งฤดูกาลแรกของปี 2567 ตลาดรถยนต์ใหม่ในบ้านเรา ทำตัวเลขยอดจำหน่ายได้รวมกันทั้งสิ้น 308,027 คัน เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2566 เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 24.2 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 98,104 คัน โดยรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถสัญชาติญี่ปุ่น ที่ทำตลาดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นสินค้าหลักในการทำตลาด มีรถยนต์น้องใหม่จากประเทศจีน ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดได้ไม่นานนัก และนำเสนอรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ เป็นหัวหอกในการทำตลาดสอดแทรกเข้ามาได้ 1 ยี่ห้อ โดยรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด อันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA (โตโยตา) ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมอยู่ที่ 116,278 คัน น้อยกว่าครึ่งแรกของปี 2566 อยู่ 20,581 คัน หรือเป็นยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 15.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.7 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) ยอดจำหน่ายครึ่งปีแรกอยู่ที่ 46,260 คัน จำหน่ายได้น้อยลงถึง 40,021 คัน หรือลดลง 46.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 15.0 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายรวม 43,499 คัน ลดลง 2,635 คัน หรือลดลง 5.7 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 14.1 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) จำหน่ายรวม 14,735 คัน เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกของปี 2566 อยู่ 3,568 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 32.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.8 % และอันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายรวม 14,498 คัน ลดลง 5,337 คัน หรือลดลง 26.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
เฉพาะเดือนมิถุนายน ปี 2567 ตลาดรถยนต์มีการซื้อขายกันทั้งสิ้น 47,662 คัน ลดลง 16,778 คัน หรือลดลง 26.0 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 ยอดจำหน่ายสูงสุดเป็นของค่าย TOYOTA จำหน่ายได้ 18,542 คัน ลดลง 2,335 คัน หรือลดลง 11.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.9 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้ 7,077 คัน ลดลง 5,428 คัน หรือลดลง 43.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.8 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายได้ 6,125 คัน ลดลง 942 คัน หรือลดลง 13.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 12.9 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 2,311 คัน ลดลง 699 คัน หรือลดลง 23.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.8 % และอันดับ 5 BYD จำหน่ายได้ 1,833 คัน ลดลง 24 คัน หรือลดลง 1.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.8 %
สำหรับรถกระบะ 1 ตัน ตลาดนี้ยังหนีไม่พ้นจุดอิ่มตัวของภาคการขนส่ง และเป็นตลาดที่สถาบันการเงินเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อเป็นพิเศษ ครึ่งแรกของปี 2567 จบลงที่ยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 108,437 คัน เทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 แล้วเป็นยอดจำหน่ายที่ขาดหายไปถึง 74,515 คัน หรือปรับตัวลดลงถึง 40.7 % กระบะที่ขายดีที่สุดยังคงเป็นหน้าเดิมๆ ไม่เปลี่ยนไปจากปีที่ผ่านมา เริ่มจาก TOYOTA จำหน่ายแล้วรวม 49,689 คัน ลดลง 20,855 คัน หรือลดลง 29.6 % เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2566 ส่วนแบ่งการตลาดครึ่งปีแรกอยู่ที่ 45.8 % ตามด้วย ISUZU 40,593 คัน ลดลง 38,040 คัน หรือลดลง 48.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.4 % ต่อด้วย FORD (ฟอร์ด) 11,282 คัน ลดลง 8,835 คัน หรือลดลง 43.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.4 % MITSUBISHI 4,564 คัน ลดลง 5,630 คัน หรือลดลงถึง 55.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.2 % และ NISSAN (นิสสัน) 1,636 คัน ลดลง 725 คัน หรือลดลง 30.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
เดือนมิถุนายน 2567 ตลาดรถกระบะจำหน่ายได้รวมกันทั้งสิ้น 16,672 คัน ลดลง 10,667 คัน หรือลดลง 39.0 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 ยอดจำหน่ายสูงสุดประจำเดือนนี้ ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 7,939 คัน ลดลง 2,864 คัน หรือจำหน่ายได้น้อยลง 26.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 47.6 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้ 6,148 คัน จำหน่ายได้น้อยลง 4,952 คัน หรือลดลง 44.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 36.9 % อันดับ 3 FORD จำหน่ายได้ 1,637 คัน จำหน่ายน้อยลง 1,578 คัน หรือลดลง 49.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.8 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 603 คัน น้อยลง 1,050 คัน หรือลดลง 63.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.6 % และอันดับ 5 NISSAN 235 คัน จำหน่ายได้น้อยลง 175 คัน หรือลดลง 42.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
รถเอสยูวี ครึ่งแรกของปี 2567 ยังคงประคองตัวให้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นได้ จากความหลากหลายของทั้งขนาดของตัวรถ, สนนราคา, ประโยชน์ในการใช้งาน รวมถึงทางเลือกของการใช้พลังงานในการขับเคลื่อน ครึ่งปีแรกนี้ ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 60,148 คัน เพิ่มขึ้น 6,159 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.4 % เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2566 แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดครึ่งปีแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายรวม 28,386 คัน เพิ่มขึ้นถึง 17,717 คัน หรือเพิ่มขึ้น 166.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 47.2 % อันดับ 2 HONDA จำหน่ายรวม 18,869 คัน เพิ่มขึ้น 3,160 คัน หรือเพิ่มขึ้น 20.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.4 % อันดับ 3 BYD จำหน่ายรวม 3,975 คัน ลดลง 7,192 คัน หรือลดลง 64.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 % อันดับ 4 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายแล้ว 2,271 คัน ลดลง 1,351 คัน หรือลดลง 37.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.8 % และอันดับ 5 MAZDA (มาซดา) จำหน่ายรวม 1,985 คัน ลดลง 2,377 คัน หรือลดลง 54.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.3 %
เดือนมิถุนายน 2567 รถเอสยูวีจำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 9,078 คัน เพิ่มขึ้น 413 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.8 % เมื่อเทียบกับมิถุนายน 2566 ที่จำหน่ายได้มากที่สุดเดือนนี้ประกอบด้วย เอสยูวีของค่าย TOYOTA จำหน่ายได้ 4,130 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2566 ถึง 2,320 คัน หรือเพิ่มขึ้น 128.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.5 % HONDA 2,745 คัน เพิ่มขึ้น 119 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 30.2 % BYD 829 คัน ลดลง 1,028 คัน หรือลดลง 55.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.1 % MG (เอมจี) 299 คัน ลดลง 328 คัน หรือลดลง 52.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.3 % และ MAZDA 293 คัน ลดลง 393 คัน หรือลดลง 57.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.2 %
ด้านรถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ไม่รวมรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ครึ่งแรกของปี 2567 มียอดจำหน่ายรวม 20,116 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ทั้งสิ้น 987 คัน หรือลดลง 4.7 % เฉพาะเดือนมิถุนายน จำหน่ายได้ 4,175 คัน เพิ่มขึ้น 72 คัน หรือเพิ่มขึ้น 1.8 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 สำหรับเดือนมิถุนายน 2567 มีการนำรถเข้าจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งสิ้น 32,361 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2566 ทั้งสิ้น 12,346 คัน หรือลดลง 27.6 % รถที่นำมาจดทะเบียนมากที่สุดเป็นรถของค่าย TOYOTA 14,096 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถกระบะ HILUX REVO (ไฮลักซ์ รีโว) มากที่สุดถึง 6,669 คัน !