ข่าวจากประเทศอินเดีย ระบุว่า Volkswagen ต้องการลดต้นทุนการผลิต โดยเลือกใช้พแลทฟอร์ม CMP 21 เป็นพื้นฐานสำหรับรถที่จะผลิตจำหน่ายในตลาดอินเดีย พแลทฟอร์มชุดนี้พัฒนาขึ้นในประเทศจีน น่าจะช่วยให้สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดอินเดีย ทั้ง Hyundai Creta EV และ Tata Harrier EV ได้
สถาปัตยกรรม CMP 21 (China Main Platform) สามารถใช้เป็นพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความยาวตัวรถระหว่าง 4.3 ถึง 4.8 เมตร เช่น Skoda Kushaq และ Volkswagen Taigun ซึ่งได้รับความนิยมสูงในอินเดีย
Volkswagen อาจพัฒนาพแลทฟอร์มนี้ให้ใช้กับรถไฟฟ้าทรงเอสยูวี 7 ที่นั่งได้ ซึ่งจะแข่งกับรถเอสยูวีที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น Tata Safari EV, Mahindra XUV.e9 และ Mahindra XUV.e8 SUV ทั้งยังอาจขยายสายการผลิตต่อไปยังรถไฟฟ้าประเภทเอมพีวี
ก่อนหน้านี้ Volkswagen เคยพัฒนารถไฟฟ้าแนวคิด Peak EV มาแล้ว แต่จากการศึกษาต้องนำกลับไปขึ้นหิ้ง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ จึงเลือกพแลทฟอร์ม CMP 21 ซึ่งมีราคาสมเหตุผลมากกว่า
ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดด้านเทคนิคของพแลทฟอร์ม CMP 21 มากนัก ทราบว่ามีตัวเลือกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยรุ่นมาตรฐานใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง, รองรับแพคแบทเตอรีความจุระหว่าง 40-80 กิโลวัตต์ชั่วโมง, มีความยาวฐานล้อ 2,771 มม. ซึ่งใกล้เคียงกับ ID.4 จึงสามารถรองรับผู้โดยสารได้หลายที่นั่ง
พแลทฟอร์ม CMP 21 สำหรับรถไฟฟ้าเอสยูวีชุดแรกจะมาถึงอินเดียในกลางปี 2570 และจะถูกใจลูกค้าชาวอินเดียด้วยระดับราคาที่จับต้องได้
บทความแนะนำ