ซีดานหรู กลุ่ม ดี-เซกเมนท์ จาก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่แห่งแดนอาทิตย์อุทัย แม้ในปัจจุบันรถกลุ่มนี้จะมียอดจำหน่ายลดลง แต่มันคือ “ของต้องมี” ที่เอาไว้ใช้เชิดหน้าชูตา ซึ่งทั้ง 2 ค่าย ไม่มีใครยอมใคร ต่างนำเทคโนโลยีระดับสุดยอดมาบรรจุไว้ รวมถึงการออกแบบที่เน้นความหรูหรา สง่างาม และมีเอกลักษณ์ แต่จะโดนใจทีมนักออกแบบของเรามากน้อยแค่ไหน เชิญติดตามภัทรกิติ์ : โตโยตา แคมรี วางอยู่บนพแลทฟอร์ม ทีเอนจีเอ ที่ใช้ในรถหลากหลายรุ่น ทั้งขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ แนวคิดการดีไซจ์นเน้นเรื่องการลดน้ำหนัก เพื่อให้รถมีสมรรถนะที่ดี โดยพแลทฟอร์มสามารถยืดขยายได้ ขณะที่ ฮอนดา แอคคอร์ด ที่ออกสู่ตลาดมาก่อน (ในต่างประเทศ) เขาไม่ได้ชูประเด็นอะไรเป็นพิเศษ อภิชาต : เขาเอาจุดที่ทุกบแรนด์ทำอยู่แล้วมาเป็นประเด็นนำเสนอว่าพแลทฟอร์มของเขาสามารถใช้กับรถได้หลากหลาย ภัทรกิติ์ : กระจังหน้าของ แคมรี เราเคยเห็นมาแล้ว อภิชาต : ผมเรียกว่าพิมพ์นิยม ภัทรกิติ์ : หลายคนบอกว่าเหมือน วีออส พอเทียบกันชัดๆ ก็ใช่เลย อภิชาต : ที่มองว่านี่พิมพ์นิยมก็ตามภาพที่เห็น ผมรู้สึกว่าถ้าต้องจ่ายเงินล้านกว่าบาท น่าจะได้อะไรที่ดีกว่านี้ ภัทรกิติ์ : เขาพยายามออกแบบให้กระจังหน้าประสานเข้ากับเส้นสายของโคมไฟหน้า อาจารย์รู้สึกไหมครับว่า เขาดีไซจ์นยังไม่ถึง ที่สุด อภิชาต : ปัจจุบันการดีไซจ์นที่สวย จำเป็นจะต้องมาพร้อมกับด้านความปลอดภัย ภัทรกิติ์ : ต้องอธิบายที่มาที่ไปของรถคันนี้ หลายคนอาจจะไม่รู้ เพราะหน้าตาคล้าย วีออส มาก ทั้งที่ออกแบบกันคนละทวีป ทีมสไตลิงมีอยู่หลายทวีป แต่เขาก็มีการทำเวิร์คชอพด้วยนะ ทีมที่ญี่ปุ่นเขาหยิบกระจังหน้ามาเพื่อบอกว่ารถคันนี้ขายดีมากที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่คนอเมริกันไม่มีใครรู้จัก วีออส อีกสิ่งหนึ่งที่ผมไม่พูดไม่ได้ คือ เดย์ไทม์ รันนิงไลท์ ค่ายรถญี่ปุ่นยังดีไซจ์นล้าหลัง แต่ภาพโดยรวมถือ ว่าทำหน้าตาออกมาดูดี แม้ไม่ได้คะแนนระดับ เอ+ แต่มีการแต่งหน้าทาปาก จิ้มลิ้ม แฮพพี สัดส่วนทั้ง 3 ตอนทำได้ดี โดยเฉพาะเสาซี ดีไซจ์นล้ำลึกมาก อภิชาต : แนวเส้นสายแบบฟาสต์แบคกับการใช้คู่สีที่ส่งถึงกันเพื่อให้มันดูหรูหรา ถือว่าทำได้ดีมาก เพราะนั่นคือ จุดที่เขาพยายามจะสื่อกับกลุ่มเป้าหมาย ภัทรกิติ์ : ภาพลักษณ์ของ โตโยตา แคมรี กลายเป็นสปอร์ทซีดาน ดูมีความเร้าใจ และสีขาย คือ สีแดง เขาต้องการบอกว่า แคมรี เปลี่ยนไป เน้นความเร็ว แรง โตโยตา มองว่า ตลาด ดี-เซกเมนท์ คนต้องการเรื่องสมรรถนะมากขึ้น ไม่อนุรักษนิยมเหมือนยุคก่อนที่ดูเป็น ซีดานแบบผู้ใหญ่ ตอนนี้ดูปราดเปรียว มีความพุ่งทะยาน ตัวรถเพรียว กว้าง และยาว ภัทรกิติ์ : สำหรับ ฮอนดา แอคคอร์ด ตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา โดยมาในแนวทางซีดานแบบอนุรักษนิยม แต่ใส่ความเป็นสปอร์ทเข้าไป อภิชาต : สมัยก่อนผมมองว่า ฮอนดา แอคคอร์ด หลังจากขยับสเกลแล้ว ภาษาการออกแบบในตัวเองมีความชัดเจนในแนวทางของฟาสต์แบค สำหรับในบ้านเราต้องลุ้นว่าจะได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน โดยบุคลิกที่เขาบอก เรื่องการใส่ใจด้านความปลอดภัยของคนเดินถนน ฮอนดา น่าจะชูประเด็นนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ภัทรกิติ์ : บุคลิกของ ฮอนดา แอคคอร์ด คือ “ปีก” อภิชาต : บุคลิกนี้ถือว่าชัดเจน และการดีไซจ์นไฟหน้าที่ทำให้ดูพรีเมียม ภัทรกิติ์ : ภาพโดยรวมรถคันนี้ เขาน่าจะพยายามทำให้เส้นสายสะอาดตา ส่วนไฟท้ายดูจืดไปหน่อย ทั้งๆ ที่ทำได้ดีกับ ซีวิค ตอนก่อนหน้านี้ อภิชาต : ด้วยราคาค่าตัว น่าจะทำได้ดีกว่านี้ เทคโนโลยีไปไกลมากแล้วนะครับ มีตัวเลือกมากมาย ฟอร์มูลา : มาดูห้องโดยสารกันบ้าง ภัทรกิติ์ : โตโยตา ยกระดับการออกแบบภายในขึ้นมาก ทั้งเรื่องเส้นสาย และการเลือกใช้วัสดุ ดูพรีเมียม สวยงาม ขณะที่ ฮอนดา ออกไปทางรถยุโรป อภิชาต : โตโยตา กลับไปทำแดชบอร์ดแบบเดิม คือ หันเอียงมาทางฝั่งผู้ขับ ครั้งแรกที่เข้าไปห้องโดยสารของ แคมรี ผมรู้สึกได้ว่าแดชบอร์ดโอบล้อมรัด แต่กลับไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวรถ แต่สำหรับ แอคคอร์ด ทุกอย่างถูกโอบล้อมรัด ทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรถ ภัทรกิติ์ : แนวคิดการออกแบบของทั้ง 2 คัน นี้จริงๆ ไม่ผิดอะไร สำหรับนิยามของ ฮอนดา แอคคอร์ด ควรจะเป็น “ซีดานญี่ปุ่น กลิ่นอายยุโรป เมดอิน ยูเอสเอ” ส่วน โตโยตา แคมรี เหมาะกับนิยาม “ซีดานใหม่ เร้าใจกว่าเดิม”